เหรียญกษาปณ์โรมัน จักรพรรดิวิคโตรินุส
          เหรียญกษาปณ์โรมัน “จักรพรรดิวิคโตรินุส” พบที่เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องบรรพชนคนอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

          เหรียญทองแดงขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ เซนติเมตร ด้านหน้าเป็นรูปจักรพรรดิซีซาร์ มาร์คุส พิอาโวนิอุส วิกโตรินุส (Emperor Caesar Marcus Piavonius Victorinus) เห็นพระพักตร์ด้านขวาของพระองค์ ทรงมงกุฎ และเสื้อเกราะ มีตัวอักษรภาษาละตินล้อมรอบอยู่ริมขอบเหรียญว่า “IMP C VICTORINVS P F AVG ย่อมาจาก Imperator Caesar Victorinus Pius Felix Augustus แปลว่า จักรพรรดิซีซาร์ วิคโตรินุส ศรัทธา ความสุข ด้านหลังเป็นรูปเทพีซาลัส (Salus) เทพีแห่งสุขภาพและความสุขของยุคโรมัน ทรงสวมชุดแบบโรมันที่เรียกว่า ชุดสโทลา (Stola) และคลุมผ้า ที่เรียกว่า ปัลลา (Palla) ผินพระพักตร์ไปทางซ้าย ทรงป้อนอาหารงูของเทพแอสคูราปิอุส (Aesculapius) ผู้เป็นพระบิดาและเป็นเทพเจ้าแห่งการแพทย์และการรักษาโรค ทรงจับงูด้วยพระหัตถ์ขวา และถือชามใส่อาหารด้วยพระหัตถ์ซ้าย มีตัวอักษรภาษาละติน ล้อมรอบรูปเทพีซาลัส โดยรอบเหรียญว่า SALVS AVG ซึ่งนักวิชาการต่างประเทศตีความว่าเป็นคำย่อมาจาก Salus Augusti แปลว่า “Health of the Emperor”
          จักรพรรดิวิคโตรินุส ทรงเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิกัลลิค (The Gallic Empire or The Gallic Roman Empire) ซึ่งแยกตัวออกมาจากจักรวรรดิโรมันในระหว่างปี พ.ศ. ๘๐๓ – ๘๑๗ ทรงครองราชย์ในระหว่างปี พ.ศ. ๘๑๒ – ๘๑๔ สันนิษฐานว่าเหรียญนี้ผลิตขึ้นที่โรงกษาปณ์ในเมืองโคโลญจ์ ประเทศเยอรมัน ราว พ.ศ. ๘๑๒ – ๘๑๓ (ประมาณ ๑,๗๕๐ ปีมาแล้ว)
          ทั้งนี้เหรียญกษาปณ์โรมันรูปจักรพรรดิวิคโตรินุสนี้ ไม่ได้พบจากการขุดค้นทางโบราณคดี โดยผู้มอบให้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง แจ้งว่า พบจากเมืองโบราณอู่ทอง ทำให้นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่า เหรียญดังกล่าวอาจเป็นของที่นำเข้ามาในสมัยหลัง โดยพ่อค้าชาวยุโรป สมัยอยุธยา แต่หากเหรียญที่พบถูกนำเข้ามาตั้งแต่ช่วงเวลาที่มีการผลิตขึ้นใช้ คือ ระหว่างปี พ.ศ. ๘๑๒ – ๘๑๓ ก็ถือเป็นหลักฐานสำคัญ ที่แสดงว่าพื้นที่บริเวณเมืองโบราณอู่ทอง มีการติดต่อค้าขายกับดินแดนที่อยู่ไกลออกไปทางตะวันตก โดยเฉพาะกับจักรวรรดิโรมัน ศูนย์กลางสำคัญของโลกยุคโบราณ โดยตรงหรือผ่านพ่อค้าชาวต่างชาติอื่น ๆ เช่นอินเดีย และเปอร์เชีย มาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๙ หรือกว่า ๑,๗๐๐ ปีมาแล้ว

.............................................................................
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
............................................................................

เอกสารอ้างอิง
คริสเตียน ลองเดส. “เหรียญโรมันพบที่เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี”. ศิลปากร ปีที่ ๓๖ เล่ม ๑, ๒๕๒๕ อ้างถึงใน อรุณศักดิ์ กิ่งมณี และคณะ. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. นนทบุรี : สหมิตรพริ้นติ้ง, ๒๕๔๕. อมรา ศรีสุชาติ. (๒๕๖๐). “ปฐมบทแห่งการศึกษาค้นคว้าเรื่องการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมบนเส้นทางการค้าทางทะเล”. ใน เอกสารประกอบการเสวนาทางวิชาการ “สุวรรณภูมิ : การเชื่อมโยงการค้าโลก”. ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี. Nick Wells. Victorinus [Online], 1 September 2020. Available from www.academia. edu/2091876/Victorinus Seth William Stevenson, Frederic W. Madden, C. Roach Smith. A dictionary of Roman coins, Republican and Imperial [Online], 1 September 2020. Available from archive. org/details/dictionaryofroma00stev/mode/2up How to identify roman coins [Online], 1 September 2020. Available from www.all-your-coins. com/en/blog/antique/romaines/comment-identifier-les-monnaies-romaines

(จำนวนผู้เข้าชม 7128 ครั้ง)

Messenger