เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ผู้มีคุณูปการต่อพระพุทธศาสนา
เนื่องในวโรกาสน้อมรำลึกแห่งการสิ้นพระชนม์ ครบรอบเป็นปีที่ ๑๐๐ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ที่จะมีขึ้นในพุทธศักราช ๒๕๖๔ เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติ จึงขอเชิญพระประวัติและผลงานของพระองค์มาเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบคุณูปการมากมายที่มีต่อพระพุทธศาสนาและประเทศไทย เพื่อความซาบซึ้งในพระเกียรติคุณ และภาคภูมิใจในความเป็นสังฆราชาของชาวไทย ดังนี้
พระประวัติ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๔๗ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแพ เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๐๓ เมื่อพระชันษาได้ ๘ ปี ทรงเริ่มศึกษาภาษาบาลี จนสามารถแปลธรรมบทได้ก่อนผนวชเป็นสามเณร นอกจากนี้ยังทรงศึกษาภาษาอังกฤษและโหราศาสตร์อีกด้วย ถึงปี พ.ศ.๒๔๑๖ ได้ทรงผนวชเป็นสามเณร ทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่ ๘ เดือน จึงทรงลาผนวช เมื่อพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษาแล้ว ก็ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๒ ทรงศึกษาพระปริยัติธรรม จนทรงมีพระปรีชาแตกฉานในภาษาบาลี ทรงสอบเป็นเปรียญ ๕ ประโยค เสมอพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชชนกนาถ พระองค์เจริญงอกงามไพบูลย์ในพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่อง ได้ทรงรับสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามว่า กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส
พ.ศ. ๒๔๒๔ เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) สิ้นพระชนม์แล้ว ได้ทรงรับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตสืบต่อมา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ ถึง พ.ศ. ๒๔๔๔ ทรงเลื่อนพระยศเป็นกรมหลวง พ.ศ.๒๔๕๓ ได้ทรงรับมหาสมณุตตมาภิเษกและเลื่อนพระยศเป็น สมเด็จพระมหาสมณะ กรมพระยา เป็น สกลมหาสังฆปรินายก ประธานาธิบดีแห่งพระสงฆ์ทั่วพระราชอาณาจักร เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ถึง พ.ศ. ๒๔๖๔ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนามเป็น “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า” ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหารได้ ๒๙ ปี สิ้นพระชนม์ เมื่อ วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๔๖๔ พระชนมายุ ๖๑ พรรษา
คุณูปการต่อพระพุทธศาสนาและการศึกษา สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงพระอัจฉริยะในวิทยาการต่าง ๆ หลากหลายสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพระพุทธศาสนา ภาษาต่างๆ เช่น ภาษาบาลี ภาษาสันสฤต ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาโบราณ นอกจากนี้ยังมีความเข้าใจเรื่อง การศึกษา การปกครอง วิทยาการสมัยใหม่ต่างๆอีกมากมาย พระองค์เป็นผู้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการศึกษา ทั้งการศึกษาคณะสงฆ์และการศึกษาของชาติอาจกล่าวได้ว่าพระองค์ทรงเป็นบุคคลสำคัญพระองค์หนึ่งของชาติไทยในด้านการวางรากฐานการศึกษาสมัยใหม่ ทรงรจนาหลักสูตรนักธรรมชั้นตรี-โท-เอก หลักสูตรบาลี และทรงรจนาไวยากรณ์ภาษาบาลีขึ้น สำหรับใช้เป็นหลักสูตรในการศึกษาบาลี ตำราและหลักสูตรทั้งหลายเหล่านี้ ใช้สำหรับการศึกษาของคณะสงฆ์ตลอดมาตั้งแต่สมัยเริ่มแรกในยุคของพระองค์จนถึงปัจจุบันนี้ พระนิพนธ์ต่างๆที่เป็นหลักสูตรในการศึกษาทางพระพุทธศาสนาหลายเรื่องได้แปลเป็นภาษาต่างประเทศ เช่น นวโกวาท วินัยมุข เล่ม ๑-๒ ธรรมวิภาค ธรรมวิจารณ์และอุปสมบทวิธี เป็นต้น พระเกียรติคุณของพระองค์ท่านจึงเป็นที่รู้จักกันในกลุ่มผู้รู้และนักศึกษาชาวต่างประเทศ
ด้านการสืบอายุพระพุทธศาสนา ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชย์ได้ ๒๕ ปี ทรงปรารภจะบำเพ็ญพระมหากุศล ทรงเห็นว่าพระไตรปิฎกที่เขียนไว้ในใบลานเป็นตัวขอม มีจำนวนมากยากที่จะรักษา ผู้ไม่รู้อ่านไม่เข้าใจ และยังไม่มีพระไตรปิฎกอักษรไทยทั้งที่คนไทยมีอักษรใช้เป็นของตนเองมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว จึงมีพระราชศรัทธาให้พิมพ์พระไตรปิฎกเป็นเล่มแบบฝรั่งขึ้นใหม่ โปรดให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ครั้งดำรงพระยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส และพระเถรานุเถระทั้งหลายช่วยกันชำระ โดยคัดลอกตัวขอมในคัมภีร์ใบลาน เป็นตัวอักษรไทย แล้วชำระแก้ไขและพิมพ์เป็นเล่มหนังสือ รวม ๓๙ เล่ม เริ่มชำระและพิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๑ สำเร็จเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๖ จำนวน ๑,๐๐๐ ชุด นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นเล่มด้วยอักษรไทย นับเป็นการสังคายนาครั้งที่ ๓ ที่ทำในประเทศไทย
ด้านความมีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาตามโบราณราชประเพณี มีการสร้างคัมภีร์ใบลานถวายวัดเพื่อสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาและเป็นปัจจัยแก่พระนิพพานในอนาคตกาลตามคติความเชื่อของพุทธศาสนิกชน พระองค์ทรงสร้างคัมภีร์ใบลานไว้จำนวนมาก ปรากฏจากการสำรวจ อนุรักษ์ จัดทำทะเบียน แหล่งเอกสารโบราณวัดบวรนิเวศวรวิหาร เมื่อปี ๒๕๕๑-๒๕๕๒ โดยสำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ดำเนินการจัดระบบคัมภีร์ใบลานวัดบวรนิเวศ ตามหลักฐานบัญชีชื่อเรื่องที่รวบรวมได้ พระองค์ได้สร้างคัมภีร์พระไตรปิฎกในหมวดพระวินัยปิฎกอย่างน้อย ๕ เรื่อง ได้แก่ ภิกขุนีวิภังค์ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปาจิตตีย์ จูฬวัคค์(ทองทึบ) จูฬวัคค์(รักทึบ) โดยใช้ชื่อผู้สร้างคัมภีร์เป็นอักษรขอม ภาษาบาลี ว่า “มนุสฺสนาคมานโว” อันเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า พระองค์เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคงซึ่งเป็นจริยวัตรที่พระองค์ปฏิบัติอย่างงดงามเป็นแบบอย่างพุทธศาสนิกชนในภายหลังได้เป็นอย่างดี
พระองค์ทรงจัดการปกครองคณะสงฆ์ภายในพระราชอาณาจักรให้เป็นระเบียบตามพระธรรมวินัยอันเป็นผลให้เกิดพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๕ พระราชบัญญัตินี้ จัดแบ่งส่วนการปกครองเป็นส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มีเถรสมาคม มีเจ้าคณะใหญ่และเจ้าคณะ จนถึงเจ้าอาวาสปกครองบังคับบัญชากันเป็นชั้นๆ ตามลำดับ เถรสมาคมอยู่ในฐานะเป็นที่ทรงปรึกษาในการพระศาสนาของพระมหากษัตริย์ พระองค์เป็นประธานในเถรสมาคม ทรงวางกฎระเบียบต่างๆ อันเป็นการส่งเสริมให้พระภิกษุสามเณรประพฤติปฏิบัติพระธรรมวินัยด้วยความเรียบร้อย
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แม้ว่าจะทรงเป็นเจ้านายสุขุมาลชาติ แต่ในสมัยที่ทรงบริหารการคณะสงฆ์ และทรงจัดการศึกษาของชาติในส่วนหัวเมืองทั่วพระราชอาณาจักร ก็ได้เสด็จออกไปตรวจการณ์คณะสงฆ์และการศึกษาในหัวเมืองมณฑลต่างๆทั่วพระราชอาณาจักรเท่าที่จะสามารถเสด็จไปถึงเป็นครั้งคราวอยู่เสมอ บางแห่งที่เสด็จไป ต้องทรงลำบากพระวรกายเป็นอย่างมากบ่อยครั้งต้องเสด็จดำเนินไปด้วยพระบาทเปล่า จากตำบลหนึ่งไปสู่อีกตำบลหนึ่ง แต่พระองค์ก็ทรงมีพระขันติและวิริยะอุตสาหะ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของพระศาสนาและการศึกษาของชาติ โดยมิเคยทรงนึกถึงความทุกข์ยากส่วนพระองค์
พระกรณียกิจและจริยาวัตรต่าง ๆ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ดังกล่าวมาแล้ว ย่อมแสดงให้เห็นว่า ได้ทรงพระปรีชาสามารถอย่างยิ่ง ทรงบำเพ็ญประโยชน์อันเป็นพระคุณูปการแก่พระศาสนาและประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง ทรงดำรงพระชนมชีพอยู่เพื่อความเจริญวัฒนาสถาพรของพระศาสนาและชาติโดยแท้ จึงสมเป็นปูชนียบุคคลที่ควรเคารพบูชาของชาติไทย เป็นผู้ที่อนุชนจะพึงเคารพบูชาและถือเป็นเนตติแบบอย่างในการบำเพ็ญประโยชน์แก่พระศาสนาและประเทศชาติสืบไป
เกียรติประวัติของพระองค์ เป็นที่รับทราบแก่ชาวโลก จนในที่สุด เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ที่ประชุมใหญ่สมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ ๔๐ มีมติรับรองการร่วมเฉลิมฉลองในวาระครบรอบบุคคลสำคัญและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ในวาระปี ๒๕๖๓-๒๕๖๔ ได้ยกย่อง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาสันติภาพ ครบ ๑๐๐ ปี แห่งการสิ้นพระชนม์ (๒ สิงหาคม ๒๔๖๔) ในการนี้ พุทธศาสนิกชนชาวไทย ควรร่วมจิตน้อมใจจัดกิจกรรม เพื่อเชิดชูพระเกียรติคุณ และเผยแพร่ คุณงามความดีและจริยวัตรอันงดงามให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่อนุชนคนรุ่นหลังซึ่งจะส่งผลให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ สืบไป
------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : นายวัฒนา พึ่งชื่น นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร
------------------------------------------
(จำนวนผู้เข้าชม 45858 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน