เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
การค้าขายและเงินตราที่ใช้ในล้านนา ตอน เหรียญกษาปณ์ที่ใช้ในล้านนา
เงินรูปีอินเดียเป็นเงินตราที่อังกฤษนำเข้ามาใช้ซื้อขายสินค้าในล้านนา โดยเข้ามากับการค้าไม้สักและการเปิดเสรีการค้าชายแดนล้านนากับพม่า ส่งผลให้เงินรูปีกลายเป็นสกุลเงินหลักที่ใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจล้านนา
หลังจากที่อังกฤษเข้ามาปกครองอินเดียได้ตั้งโรงกษาปณ์ขึ้นที่เมืองมัทราส (Madras) เมื่อปีพ.ศ. ๒๑๘๓ เพื่อผลิตเหรียญกษาปณ์ขึ้นในในดินแดนอาณานิคม ต่อมาในปีพ.ศ.๒๓๓๓ ได้ตั้งโรงกษาปณ์ขึ้นอีกที่เมืองกัลกัตตา (Calculta) โดยนำเครื่องผลิตเหรียญเงินแบบยุโรปเข้าไปใช้ และใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนเรื่อยมา ต่อมาเมื่ออังกฤษเข้ามามีอิทธิพลในพม่าและได้พม่าเป็นอาณานิคม อังกฤษได้นำเงินรูปีอินเดียเข้ามาใช้ในระบบเศรษฐกิจของพม่า ด้วยเหตุที่เหรียญเงินรูปีมีขนาด น้ำหนักและรูปร่างที่ได้มาตรฐานอีกทั้งมีปริมาณเหรียญจำนวนมาก จึงเป็นที่นิยมใช้โดยทั่วไป
หลังจากที่รัฐบาลสยามทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งกับอังกฤษในปีพ.ศ.๒๓๙๓ ได้มีการตกลงเรื่องการใช้เงินตราในการแลกเปลี่ยนสินค้าโดยอนุญาตให้ใช้เงินรูปีอินเดีย เงินแท่ง เงินบาทเป็นสื่อกลางในการค้าขายระหว่างพ่อค้าอังกฤษและคนในบังคับอังกฤษกับพ่อค้าในล้านนา ส่งผลให้เงินรูปีอินเดียแพร่สะพัดในล้านนามากขึ้น และส่งผลให้คนในบังคับอังกฤษทั้งพ่อค้าชาวพม่า ชาวไทยใหญ่ ชาวอินเดียเดินทางเข้ามาค้าขายในล้านนามากยิ่งขึ้น
เงินรูปีอินเดียเรียกกันโดยทั่วไปในล้านนาว่า “เงินแถบ” โดยเงินแถบชนิดแรกที่เข้ามาแพร่หลายในล้านนาเป็นเหรียญรูปพระนางเจ้าวิคตอเรียสวมมงกุฎ ต่อมาเป็นเหรียญรูปกษัตริย์เอ็ดเวิร์ด ในขณะที่เงินรูปีอินเดียถูกนำเข้ามาใช้ในล้านนาเป็นจำนวนมาก รัฐบาลสยามได้พยายามนำเงินบาทเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจล้านนาตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๔๔๑ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากในช่วงเวลานั้น สยามยังประสบปัญหาการผลิตเงินปลีกได้ในปริมาณที่ไม่มากพอกับความต้องการ ประกอบกับความไม่สะดวกในการขนส่ง แต่หลังจากที่มีการสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่แล้ว ระบบเศรษฐกิจทางภาคเหนือขยายตัวอย่างรวดเร็วมีการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจส่วนกลางของไทยมากขึ้นเงินรูปีจึงค่อยๆ ลดบทบาทลง ต่อมาเมื่อไทยสามารถผลิตเหรียญกษาปณ์ได้ในปริมาณมากขึ้นประกอบกับค่าเงินรูปีลดต่ำลง เงินบาทจึงสามารถเข้ามาแทนที่และถูกใช้หมุนเวียนได้มากขึ้น
นอกจากเงินรูปีอินเดียแล้วเหรียญกษาปณ์อีกชนิดที่พบว่ามีการนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายในล้านนาอยู่บ้างคือเหรียญอินโดจีนของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเหรียญที่ฝรั่งเศสผลิตขึ้นเพื่อใช้ในประเทศแถบอินโดจีนที่เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส
----------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน
----------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
เงินตราล้านนา : นวรัตน์ เลขะกุล/ธนาคารแห่งประเทศไทย นพบุรีการพิมพ์ เชียงใหม่, ๒๕๕๕ เงินตราล้านนาและผ้าไท : ธนาคารแห่งประเทศไทย อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๔๓ เงินรูปีอินเดียในประวัติศาสตร์ล้านนา : อภิรัฐ คำวัง วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๑ (ม.ค.-มิ.ย.๒๕๕๖) เบี้ย บาท กษาปณ์ แบงค์ : นวรัตน์ เลขะกุล สนพ.สารคดี, ๒๕๔๗
(จำนวนผู้เข้าชม 4528 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน