งานโบราณคดีในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีธนบุรี การรถไฟแห่งประเทศไทย
          ใน พ.ศ.๒๕๖๒ การรถไฟแห่งประเทศได้เสนอแผนปฏิบัติงานการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณบ้านพักพนักงานรถไฟเพื่อเพิ่มรายได้จากค่าเช่าที่ดิน (พ.ศ.๒๕๖๐ – ๒๕๖๔) ตามนโยบายฟื้นฟูกิจการการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ของเมืองธนบุรีเดิม ในการดำเนินงานศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.๒๕๕๖ จึงกำหนดให้มีแผนงานศึกษาผลกระทบด้านศิลปวัฒนธรรมด้วยการว่าจ้างเอกชนทำการศึกษาทางโบราณคดีพื้นที่ดังกล่าวโดยมีกรมศิลปากร กองโบราณคดีเป็นผู้ควบคุมงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแผนงานเพื่อลดผลกระทบต่อหลักฐานทางโบราณคดีที่อยู่ใต้ดินในพื้นที่โครงการฯ
          ในการดำเนินงานขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณบ้านพักพนักงานรถไฟ ซอย ๑ – ๖ สถานีธนบุรี ระหว่างเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน ๒๕๖๒ พบหลักฐานทางโบราณคดี ตั้งแต่ระดับลึกจากพื้นที่ใช้งานปัจจุบัน ลงไป ๕๐ เซนติเมตร – ๒.๓ เมตร (ระดับชั้นดินสมมติ 30 – 240 cm.dt.) ได้แก่ เศษภาชนะดินเผาประเภทเครื่องถ้วยจีน เศษภาชนะดินเผาประเภทเครื่องถ้วยญี่ปุ่น กระเบื้องมุงทำด้วยดินเผา กระเบื้องมุงทำด้วยซีเมนต์เคลือบสี ตะปูรถไฟใช้ยึดรางรถไฟ ฯลฯ กำหนดอายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ – ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๖ หลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้ ให้ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับพื้นที่บริเวณบ้านพักพนักงานรถไฟได้ว่า อาจมีการเข้าใช้พื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในช่วงระยะเวลาเมื่อราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ เป็นต้นมา หรือนับแต่เมื่อการสร้างสถานีรถไฟธนบุรีสายตะวันตก (กรุงเทพฯ – เพชรบุรี) ที่สร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๓ และเปิดใช้เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๖ โดยก่อนหน้านี้ แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.๒๔๓๙ ให้รายละเอียดพื้นที่บริเวณนี้ว่าเป็นพื้นที่ทางการเกษตร ยังไม่มีการปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยแต่อย่างใด
          อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ได้รับจากการดำเนินงานขุดค้นทางโบราณคดีครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานในพื้นที่จำกัด เพื่อประกอบการพิจารณาในการลดผลกระทบต่อหลักฐานทางโบราณคดีในพื้นที่ ดังนั้นในการแปลความหรืออ้างอิงถึงข้อมูลสภาพพื้นที่แหล่งทางโบราณคดีจึงใช้ได้เฉพาะพื้นที่ซึ่งได้ดำเนินการทางโบราณคดีเท่านั้น


ภาพ : แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.๒๔๓๙ แสดงที่ตั้งพื้นที่ขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณบ้านพักพนักงานรถไฟสถานีธนบุนรี (ในกรอบสี่เหลี่ยมสีเหลือง) ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดยังเป็นพื้นที่ทางการเกษตร


ภาพถ่ายทางอากาศแสดงตำแหน่ง พื้นที่ขุดค้นทางโบราณคดี บริเวณบ้านพักพนักงานรถไฟ สถานีธนบุรี (จุดวงกลมสีแดง)


ภาพ : การขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่หลุมขุดค้นที่ ๓ ในซอยหมู่บ้านรถไฟ ซอย ๓ ซึ่งมีท่อประปาวางผ่านในบริเวณหลุมขุดค้น


ภาพ : (ซ้าย)โถพร้อมฝาลายคราม พิมพ์ลายอักษรมงคล เครื่องถ้วยจีน อายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ (ขวา) กระโถนลายคราม เขียนลายกอบัว เครื่องถ้วยจีน อายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ – ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕


ภาพ : (ซ้าย)จานเชิงลายเขียนสี เครื่องถ้วยจีน อายุราวกลาง – ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๕ (ขวา) ชามลายคราม เขียนลายพันธุ์พฤกษา เครื่องถ้วยจีน อายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๕


ภาพ : ชามพิมพ์ลายคราม เป็นลายดอกไม้และลายก้านขด เครื่องถ้วยญี่ปุ่น อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๕




ภาพ : (ซ้าย) ชิ้นส่วนก้นจานเคลือบใส ก้นจานด้านนอกพิมพ์ข้อความภาษาอังกฤษ ว่า “THE IRONSTONE CHINA” “MATSUMURA&CO.” “MADE IN JAPAN” พร้อมตรากิเลน และมงกุฎ อายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ – ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๖ (ขวา) ภาพรายละเอียดตราที่พิมพ์บนภาชนะ


ภาพ : ตะปูเหล็กใช้ยึดรางรถไฟ อายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ – กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๖

---------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : นางสาวเมธินี จิระวัฒนา นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มวิจัยและพัฒนางานโบราณคดี กองโบราณคดี
---------------------------------------------

(จำนวนผู้เข้าชม 918 ครั้ง)