ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย

ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย

อักษร/ภาษา : อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต
อายุ : ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑
ประวัติ : พบเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๒๒ โดยนายจรง ชูกลิ่น และนายถวิล ช่วยเกิด ที่หุบเขาช่องคอย หมู่ที่ ๕ ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอจุฬาภรณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
ลักษณะของศิลาจารึก : ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย เป็นจารึกที่ทำขึ้นโดยใช้แผ่นหินธรรมชาติขนาดใหญ่ รูปทรงเหมือนเรือ กว้าง ๑๖๐ ซม. ยาว ๖๘๓ ซม. หนา ๑๒๐ ซม. อยู่ใกล้กับร่องน้ำที่ไหลลงมาจากยอดเขา จารึกมีทั้งหมด ๓ ตอน มีความหมายต่อเนื่องกัน


ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย ด้านที่ ๑ อักษรปัลลวะ ภาษาสันสฤต พุทธศตวรรษที่ ๑๑

คำอ่าน
- ตอนที่ ๑ ศฺรีวิทฺยาธิการสฺย
คำแปล
- ตอนที่ ๑ (ศิลาจารึกนี้เป็น) ของผู้เป็นเจ้าแห่งวิทยาการ (พระศิวะ)


ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย ด้านที่ ๒ อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต พุทธศตวรรษที่ ๑๑

คำอ่าน
- ตอนที่ ๒ บรรทัดที่ ๑ นโมสฺตุตไสฺมปตเยวนานำ บรรทัดที่ ๒ นโมสฺตุตไสฺมปตเยสุราณาม บรรทัดที่ ๓ ปฺโยชนาจฺฉิวนมาคตาเสฺต บรรทัดที่ ๔ ทาตวฺยมิตฺยตฺร ภวทฺภิเรภยะ
คำแปล
- ตอนที่ ๒ ขอความนอบน้อม จงมีแก่ท่านผู้เป็นเจ้าแห่งป่า ขอความนอบน้อม จงมีแก่ท่านผู้เป็นเจ้าแห่งเทพ ทั้งมวล ชนทั้งหลายผู้เคารพต่อพระศิวะ คิดว่า ของอัน ท่านผู้เจริญ (พระศิวะ) นี้จึงให้มีอยู่ในที่นี้ จึงมาเพื่อประโยชน์ (นั้น)


ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย ด้านที่ ๓ อักษรปัลลวะ ภาษาสันสฤต พุทธศตวรรษที่ ๑๑

คำอ่าน
-ตอนที่ ๓ บรรทัดที่ ๑ เยษานฺนิลยเทเศษุ ดิษฺฐติมานุชาวราะ บรรทัดที่ ๒ ยทิ เตษําปฺรสาทาจฺจ การฺยฺยนฺเตษํา ภวิษฺยติ II
คำแปล
- ตอนที่ ๓ ถ้าคนดีอยู่ในหมู่บ้านของชนเหล่าใด ความสุข และผล (ประโยชน์) จักมีแก่ชนเหล่านั้น (นายชูศักดิ์ ทิพย์เกสร และนายชะเอม แก้วคล้าย อ่าน-แปล)

          การค้นพบศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย ทำให้ทราบว่าในบริเวณภาคใต้ของประเทศไทยในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๑ มีกลุ่มคนและนักบวชที่ใช้ภาษาสันสกฤต นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ลัทธิไศวนิกาย จากอินเดียเดินทางเข้ามาใช้พื้นที่บริเวณหุบเขาช่องคอยเพื่อปฏิบัติศาสนกิจตามลัทธิของตนในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
          ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย ถือเป็นจารึกอักษรปัลลวะ ที่มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ที่เก่าที่สุดในประเทศไทย โดยมีอายุร่วมสมัยกับศิลาจารึกเขาพระนารายณ์เมืองตะกั่วป่า จังหวัดพังงา จารึกเยธฺมาฯ ๑ และ ๒ จังหวัดนครปฐม จารึกเมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ และจารึกเหรียญเงินเมืองพรหมทิน จังหวัดลพบุรี
          จากการพบจารึกหุบเขาช่องคอย กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๒๒ ตอนพิเศษ ๙๘ง หน้า ๓ วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๔๘ เนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่

----------------------------------------
ค้นคว้า/เรียบเรียงข้อมูล : น.ส.สุขกมล วงศ์สวรรค์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ
----------------------------------------
อ้างอิง :
หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร. จารึกในประเทศไทย เล่ม ๑ อักษรปัลลวะ อักษรหลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๔. พิมพ์ครั้งที่ ๒. แก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร,๒๕๕๙.

(จำนวนผู้เข้าชม 9908 ครั้ง)