ศิลาจารึกเขาพระนารายณ์ (จารึกหลักที่ ๒๖)

ศิลาจารึกเขาพระนารายณ์ (จารึกหลักที่ ๒๖)
วัสดุ : หิน
อักษร/ภาษา : อักษรปัลลวะ ภาษาทมิฬ
อายุ : ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑
สถานที่พบ : บริเวณที่พระนารายณ์ ตำบลกะปง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา
ปัจจุบัน จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง จังหวัดภูเก็ต

คำจารึก
๑…รวรฺมนฺ กุ (ณ) … ๒ (ม)านฺ ตานฺ นงฺคูรไฑ… ๓ (ตฺ) โตฏฺฏ กุฬมฺ เปรฺ ศฺรี (อวนิ) ๔ นารณมฺ มณิกฺกิรามตฺตารฺ (ก) ๕ (กุ) มฺ เศณามุคตฺตารฺกฺกุมฺ ๖ (มุฬุ)ทารฺกฺกุมฺ อไฑกฺกลมฺ
คำแปล
สระชื่อศรีอวนินารณัม ซึ่ง………….รวรรมัน คุณ………. ได้ขุดเอง ใกล้ (เมือง) นงคูร อยู่ในการรักษาของสมาชิกแห่ง มณิครามแลกองทัพระวังหน้า กับชาวไร่ชาวนา…………… (ศาสตราจารย์ ฮูล์ช สันนิษฐานว่า นงคูรเป็นชื่อตำบลที่พวกทมิฬตั้งอยู่ใกล้เมืองตะกั่วป่าทุกวันนี้ ชื่อผู้ขุดสระบางทีอาจเป็นภาสกวรรมัน)
           ในจารึก กล่าวถึง สมาชิกแห่งมณิคราม
           มณิคราม หรือ มณีคราม คือ หนึ่งในสมาคมพ่อค้าชาวอินเดียที่มีบทบาทการค้าที่เข้มแข็งในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๙ ในบริเวณที่ปัจจุบันเป็น กรณาฏกะ ทมิฬนาฑู อานธรประเทศตอนใต้ และบริเวณแนวยาวของชายฝั่งโคโรมันเดล บางยุคสมัยสามารถแผ่อิทธิพลไปถึงเกรละ และฝั่งทะเลทางด้านตะวันตกของอินเดีย ผู้คนในบริเวณนี้ส่วนใหญ่ใช้ภาษาทมิฬ สมาคมพ่อค้ามณิครามค่อนข้างผูกพันกิจการอยู่กับอำนาจของทมิฬโดยตรง เมื่อหมดอำนาจของพวกทมิฬในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ สมาคมนี้ก็สลายตัวลง

           จากหลักฐานจารึกที่พบ อาจกล่าวได้ว่า สมาชิกแห่งมณิคราม หรือสมาคมพ่อค้าของชาวทมิฬจากอินเดียใต้บางส่วนน่าจะมีบทบาทอยู่ในภาคใต้ของไทยในช่วงเวลาที่ชุมชนโบราณตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ได้เจริญขึ้นเป็นเมืองท่าสำคัญทางฝั่งทะเลอันดามัน โดยน่าจะเป็นกลุ่มชาวทมิฬที่น่าจะนับถือไวษณพนิกายซึ่งสอดคล้องกับการพบประติมากรรมในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ไวษณพนิกาย ในชุมชนโบราณดังกล่าว
           ศิลาจารึกเขาพระนารายณ์ (จารึกหลักที่ ๒๖) ซึ่งมีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ถือเป็นศิลาจารึกอักษรปัลลวะที่เก่าที่สุดในประเทศไทย โดยมีอายุร่วมสมัยกับศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย จังหวัดนครศรีธรรมราช จารึกเยธฺมาฯ ๑ และ ๒ จังหวัดนครปฐม จารึกเมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ และจารึกเหรียญเงินเมือง พรหมทิน จังหวัดลพบุรี

----------------------------------------
ค้นคว้า/เรียบเรียงข้อมูล: น.ส.สุขกมล วงศ์สวรรค์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
----------------------------------------

อ้างอิง :
- กรมศิลปากร. จารึกในประเทศไทย เล่ม ๑ อักษรปัลลวะ อักษรหลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๔. พิมพ์ครั้งที่ ๒. แก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร,๒๕๕๙. - ธิดา สาระยา,ดร. ประวัติศาสตร์มหาสมุทรอินเดีย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๕๔.

(จำนวนผู้เข้าชม 3337 ครั้ง)

Messenger