เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
ภาคปรากฏของพระศิวะ พระคเณศ และสกันทกุมาร : ครอบครัวมหาเทพผู้ยิ่งใหญ่
ภาพที่ ๑ ทับหลังพระศิวะ พระคเณศ สกันทกุมาร จากปราสาทพิมาย
ทับหลัง ศิลปะลพบุรี (ศิลปะเขมรในประเทศไทย) พุทธศตวรรษที่ ๑๗ จากปราสาทพิมาย อำเภอ พิมาย จังหวัดนครราชสีมา ตรงกลางทับหลังสลักภาพพระศิวะประทับนั่งเหนือสิงห์ ฝั่งขวาสลักภาพพระคเณศประทับนั่งเหนือช้าง ฝั่งซ้ายสลักภาพสกันทกุมารประทับนั่งเหนือนกยูง โดยทั้งสามองค์ประทับนั่งภายในซุ้มเรือนแก้ว สลักภาพท่อนพวงมาลัยออกจากงวงช้างและนกยูง ท่อนพวงมาลัยด้านบนเป็นลายใบไม้ชี้ตั้งซ้อนและด้านล่างท่อนพวงมาลัยเป็นลายใบไม้ม้วนห้อยลง ด้านขวาของทับหลังปลายท่อนพวงมาลัยสลักเป็นลายพันธุ์พฤกษา
พระศิวะ เทพในศาสนาพราหมณ์ฮินดู เป็นผู้ทำลายโลกเพื่อให้เกิดการสร้างใหม่ ลักษณะเด่นทางประติมานวิทยาคือ มีพระเนตรที่สามที่พระนลาฏ มีสังวลาย์เป็นงูพันอยู่ที่คอ ถือตรีศูล ทรงโคนนทิเป็นพาหนะ ชายาคือพระนางอุมา มีพระโอรสสององค์คือ พระคเณศ สกันทกุมาร ในลัทธิไศวนิกายนั้นนับถือพระศิวะเป็นใหญ่ โดยพระศิวะเป็นผู้สร้างและเป็นแก่นแท้ของโลก
พระคเณศ ส่วนเศียรเป็นช้าง มีงาเดียว กายเป็นมนุษย์ เป็นเทพเจ้าผู้ขจัดอุปสรรคและให้สัมฤทธิ์ผล เป็นโอรสของพระศิวะกับพระนางอุมา คัมภีร์ศิวะปุราณะ กล่าวถึงการกำเนิดของพระคเณศว่า พระศิวะให้เศียรช้างต่อเข้ากับร่างมนุษย์ และชุบชีวิตให้ฟื้น นอกจากนี้พระคเณศยังปรากฎพระนามที่หลากหลาย หนึ่งในนามของพระองค์ มีชื่อเรียกว่า สกันทปูรฺวชะ แปลว่า ผู้เกิดก่อนพระสกันทะ
สกันทกุมาร หรือ ขันทกุมาร เทพเจ้าแห่งสงคราม เป็นโอรสของพระศิวะ สกันทกุมารมีหลายชื่อ เนื่องจากมีการเล่าถึงการกำเนิดของสกันทกุมารแตกต่างกันไป โดยมีนามเรียกชื่อหนึ่งคือ กรรติเกยะ เกี่ยวข้องกับการที่นางกฤติกาเป็นผู้เลี้ยงดู คัมภีร์ปุราณะกล่าวว่า สกันกุมารเป็นโอรสของพระศิวะ รูปปรากฏของพระองค์ลักษณะเป็นเด็กหนุ่มเยาว์วัย บางภาคปรากฎมีหกเศียร ถือหอก รวมทั้งมีอาวุธที่ได้รับจากเทพต่างๆที่หลากหลายเช่นกัน มีพาหนะเป็นนกยูง ถือธงรูปไก่ โดยจากรูปนั้นเป็นประติมากรรมสกันทกุมารนั่งเหนือพาหนะนกยูง (ภาพที่ ๒)
ภาพที่ ๒ ประติมากรรมสกันทกุมาร จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพนมเปญ Skanda ,Toeuk Chha,Kampong Siem,Kampong Cham 7th – 8th C.
ภาพที่ ๓ แผ่นหินทรายสลักภาพพระศิวะ พระคเณศ สกันทกุมาร จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพนมเปญ Triad of Shiva,Ganesa and Skanda Chikreng,Kampong Thom 12th C
ภาพที่ ๔ The Hindu Gods Ganesha, Shiva, and Karttikeya on Their Mounts Cambodia, 10th century , Los Angeles County Museum of Art ที่มาภาพจาก Los Angeles County Museum of Art
การปรากฏประติมากรรมกลุ่มพระศิวะ พระคเณศ สกันทกุมาร ในลักษณะรูปภาพที่๑ ภาพที่๓ และภาพที่๔ เป็นภาพครอบครัวพระศิวะ ประกอบด้วยโอรสทั้งสองของพระศิวะ คือ พระคเณศและสกันทกุมาร องค์ประกอบของภาพคือ พระศิวะอยู่ตรงกลาง มีพระคเณศและสกันทกุมารอยู่ด้านข้างของพระศิวะ โดยแต่ละองค์นั่งเหนือพาหนะของตนหรือยืนตรงถือสิ่งของ ภาพสลักรวมตัวกันของพระศิวะ พระคเณศ สกันทกุมาร เป็นภาพปรากฏในรูปครอบครัวของพระศิวะ ซึ่งขาดเพียงแต่พระนางอุมา
เมื่อเทียบเคียงทับหลังสลักภาพพระศิวะ พระคเณศ สกันทกุมารของปราสาทพิมาย (ภาพที่ ๑) กับแผ่นหินทรายสลักภาพพระศิวะ พระคเณศ สกันทกุมารจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพนมเปญ(ภาพที่ ๓) ทั้งสามองค์ ประทับยืน โดยมีพระศิวะอยู่ตรงกลาง พระคเณศอยู่ฝั่งขวา และสกันทกุมารอยู่ฝั่งซ้าย ลักษณะทางประติมานวิทยาของภาพสลักนี้ขาดความชัดเจนในเรื่องของการถือสิ่งของและพาหนะของเทพแต่ละองค์ แต่จากรูปแบบโดยรวมแล้ว สันนิษฐานว่าเป็นรูปพระศิวะ พระคเณศ สกันทกุมาร นอกจากนี้ยังพบหินทรายแกะสลักรูปแบบใกล้เคียงกัน คือ ประติมากรรมหินทรายจาก Los Angeles County Museum of Art (ภาพที่ ๔) ลักษณะที่ปรากฏ มีความชัดเจนในการบ่งชี้ได้ว่าเป็นภาพสลักกลุ่มพระศิวะ พระคเณศ สกันทกุมาร อีกทั้งการที่กลุ่มเทพทั้งสามนั่งเหนือพาหนะของแต่ละองค์นั้น มีความคล้ายกับทับหลังภาพสลักพระศิวะ พระคเณศ สกันทกุมารจากปราสาทพิมายด้วย กล่าวโดยรวมการจัดวางตำแหน่งนั้นมีความคล้ายกันทั้งสามชิ้น(ภาพที่๑,ภาพที่๓-๔) ลักษณะดังกล่าวเป็นการปรากฏซ้ำของพระศิวะ พระคเณศ สกันทกุมาร แสดงถึงการรวมกลุ่มของเทพครอบครัวของพระศิวะ มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับพระศิวะและพระนางอุมา รวมไปถึงได้รับอาวุธจากพระศิวะในฐานะโอรส ภาคปรากฏรวมกันสามองค์นั้นเปรียบเสมือนการช่วยเสริมสร้างแนวความคิดของพระศิวะผู้เป็นใหญ่ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้ งานจิตรกรรมในยุคหลังนิยมวาดภาพครอบครัวของพระศิวะ โดยมีพระศิวะ พระนางอุมา พระคเณศ สกันทกุมาร และโคนนทิอยู่ในกลุ่มภาพดังกล่าวอีกด้วย (ภาพที่ ๕)
ภาพที่ ๕ Shiva and his family at the burning ground. Parvati, Shiva's wife, holds Skanda while watching Ganesha (left) and Shiva string together the skulls of the dead. The bull Nandi rests behind the tree. Kangra painting, 18th century; in the Victoria and Albert Museum, London
ที่มาภาพจาก
Victoria and Albert Museum, London
นอกจากนี้ยังพบประติมากรรมสำริดพระศิวะในกลุ่มภาพครอบครัวในรูปแบบของ โสมาสกันทะ (ภาพที่ ๖) เป็นรูปปรากฏของพระศิวะ พระอุมา โดยมีสกันทกุมารอยู่ตรงกลาง นิยมอยู่ในทางตอนใต้ของอินเดีย
ภาพที่ ๖ โสมาสกันทะ ที่มาภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Somaskanda#/media/File:Somaskanda
ในขณะที่ภาคปรากฏของพระศิวะคู่กับพระอุมานั้น อยู่ในรูปแบบอุมามเหศวร (ภาพที่ ๗) และอรรธนารีศวร (ภาพที่ ๘) พระศิวะปรากฎคู่กับศักตินั้นเปรียบเสมือนการเป็นพลังอำนาจที่สนับสนุน ศักติ หมายถึง เทวีผู้เป็นชายาของเทพ กำเนิดมาเพื่อเสริมอำนาจให้แก่สามี และทำให้เกิดความสมดุลของจักรวาล
ภาพที่ ๗ ทับหลังอุมามเหศวร บรรณาลัยทิศใต้ ปราสาทสระกำแพงใหญ่ จังหวัดศรีสะเกษ
ภาพที่ ๘ อรรธนารีศวร ศิลปะลพบุรี (ศิลปะเขมรในประเทศไทย) พุทธศวรรษที่ ๑๑ – ๑๓ จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี
----------------------------------------------------
ข้อมูลโดย นางสาวอทิตยา ถิระโชติ ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย
----------------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง
- อรุณศักดิ์ กิ่งมณี.ตรีมูรติ อภิมหาเทพของฮินดู.กรุงเทพ:เมืองโบราณ,๒๕๕๑. - อรุณศักดิ์ กิ่งมณี.เทพฮินดู ผู้พิทักษ์พุทธสถาน.กรุงเทพ:มิวเซียมเพรส,๒๕๕๑. - สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร.พระคเณศ เทพแห่งศิลปากร Ganesha:Lord of Fine Arts.กรุงเทพ:สำนักพิมพ์สมาพันธ์ จำกัด,๒๕๕๔ - สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร.ศัพทานุกรมโบราณคดี.กรุงเทพ:รุ่งศิลป์การพิมพ์(๑๙๗๗), ๒๕๕๐
(จำนวนผู้เข้าชม 6544 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน