เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
ประติมากรรมดินเผารูป "พระเจ้าสุทโธทนะ"
ประติมากรรมดินเผารูป “พระเจ้าสุทโธทนะ”
พบจากการขุดแต่งเจดีย์หมายเลข ๑๑ เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
ประติมากรรมดินเผาขนาดเล็ก รูปบุรุษนั่งประนมมือ ขัดสมาธิราบ สวมศิราภรณ์หรือเครื่องประดับศีรษะทรงสูงยอดแหลม มีกรอบหน้านาง ด้านข้างประดับลายกระจัง พระพักตร์ของประติมากรรมค่อนข้างกลม พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระนาสิกใหญ่และโด่งเป็นสัน พระโอษฐ์หนา พระกรรณยาว สวมตุ้มหูทรงกลมขนาดใหญ่ ไม่แสดงรายละเอียดของเครื่องแต่งกาย อันแสดงถึงอิทธิพลศิลปะอินเดียแบบคุปตะ คือนิยมนุ่งห่มด้วยผ้าเนื้อบางแนบติดกับลำตัว ไม่นิยมแสดงริ้วหรือร่องรอยของเนื้อผ้า ที่พระพาหาประดับด้วยพาหุรัดหรือกำไลแขน ลายเป็นรูปใบไม้สามเหลี่ยม นุ่งผ้ายาวครึ่งแข้ง จากรูปแบบศิลปกรรม กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ (ประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว)
แต่เดิมมีการตีความว่าประติมากรรมดินเผานี้เป็นรูปพระโพธิสัตว์ เทวดา บุคคลชั้นสูงหรือกษัตริย์ ต่อมามีการตีความใหม่เมื่อมีผู้อ่านและแปลความหมายของจารึกที่ใต้ฐานของประติมากรรมดังกล่าว ซึ่งเป็นอักษรหลังปัลลวะ ภาษาสันสกฤต กำหนดอายุตรงกับรูปแบบศิลปกรรม คือราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๔ จารึกบรรทัดบนอ่านว่า “ศุทฺโธ” บรรทัดที่ ๒ ซึ่งค่อนข้างสมบูรณ์กว่า อ่านว่า “ศุทฺโธทน” จึงเชื่อได้ว่าประติมากรรมรูปบุคคล ดังกล่าว หมายถึง “พระเจ้าสุทโธทนะ” หรือพระพุทธบิดา
พระเจ้าสุโธทนะทรงเป็นพระพุทธบิดา เดิมนั้นทรงมุ่งหวังให้เจ้าชายสิทธัตถะ สืบราชบัลลังก์เป็นกษัตริย์แห่งศากยวงศ์ต่อจากพระองค์ ต่อมาเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช และตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเสด็จโปรดพระบิดา พระเจ้าสุทโธนะได้มีโอกาสสดับพระธรรมเทศนา ทรงเกิดความเลื่อมใสและบรรลุโสดาบัน เป็นอุบาสก ต่อมาในพรรษาที่ ๕ ของพระพุทธเจ้า พระเจ้าสุทโธทนะประชวรหนัก พระพุทธองค์ได้เสด็จจากกุฎาคาร ป่ามหาวัน เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี มายังเมืองกบิลพัสดุ์ ทรงแสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดา เป็นเวลา ๗ วัน ในวันสุดท้าย พระเจ้าสุทโธทนะได้บรรลุพระอรหัตผล และพระนิพพาน
ประติมากรรมรูปพระเจ้าสุทโธทนะ ทำมาแล้วตั้งแต่ศิลปะอินเดียสมัยโบราณ เช่น ภาพสลักพุทธประวัติหลายตอนบนซุ้มประตูทางเข้าสถูปสาญจี ประติมากรรมดินเผารูปพระเจ้าสุทโธทนะกำลังทำอัญชลีมุทรานี้ น่าจะหมายถึงทรงกำลังฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์ก่อนที่จะได้บรรลุพระอรหัตผลและพระนิพพานก็เป็นได้ ประติมากรรมชิ้นนี้ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากพบจากการขุดแต่งเจดีย์หมายเลข ๑๑ เมืองโบราณอู่ทอง และมีจารึกที่สามารถระบุได้ว่าหมายถึง “พระเจ้าสุทโธทนะ” พระพุทธบิดา อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงการแต่งกายของบุคคลชั้นสูงในวัฒนธรรมทวารวดีอีกด้วย
---------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
---------------------------------
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถาน เมืองเก่าอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี. พระนคร : ศิวพร, ๒๕๐๙. กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๒ สุพรรณบุรี กรมศิลปากร จัดพิมพ์, ๒๕๔๕. กรมศิลปากร. ศิลปะทวารวดี ต้นกำเนิดพุทธศิลป์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, ๒๕๕๒. ปีเตอร์ สกิลลิ่ง และศานติ ภักดีคำ. “จารึกพระสาวกและจารึกพระเจ้าศุทโธทนะ พบใหม่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี”, เอกสารประกอบการประชุมสัมมนา เรื่อง ความก้าวหน้าในการศึกษาโบราณคดีและเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดี, กรมศิลปากร, วันที่ ๒๔ – ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ณ โรงแรมสองพันบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี. และใน Fragile Palm Leaves (December 2545/2002) : 11-14.
(จำนวนผู้เข้าชม 1230 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน