ร้อยเรื่อง (เล่า) เมืองสามอ่าว ตอน ภาพเขียนสีที่ถ้ำโหว่ หุบตาโคตร
          จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีสภาพภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยเทือกเขาในบริเวณชายฝั่งทะเลและตอนกลางจังหวัด มีเทือกเขาสำคัญคือเทือกเขาสามร้อยยอดซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสัตว์และมนุษย์ จึงพบแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ภายในเทือกเขาสามร้อยยอดหลายแห่ง โดยพบทั้งแหล่งพักพิงชั่วคราว ที่อยู่อาศัยถาวร แหล่งฝังศพ และแหล่งภาพเขียนสี เช่น ถ้ำเขาแมว ถ้ำภาพเขียน และถ้ำโหว่
          แหล่งโบราณคดีถ้ำโหว่ หุบตาโคตร ตั้งอยู่ที่ตำบลสามร้อยยอด อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตัวแหล่งตั้งอยู่บนไหล่เขาเยื้องกับหลังวัดหุบตาโคตร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาสามร้อยยอด แหล่งโบราณคดีแห่งนี้พบโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๕๙ นายอภิชาติ หงษ์สกุล นักข่าวและสื่อมวลชนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์จึงแจ้งมายังสำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี กลุ่มโบราณคดีได้เข้าตรวจสอบร่วมกับนายขจร ยอดยิ่ง เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดภายในปีเดียวกัน และลงสำรวจอีกครั้งในปีพ.ศ. ๒๕๖๓ โดยแหล่งโบราณคดีถ้ำโหว่อยู่คนละฟากเขากับแหล่งภาพเขียนสีถ้ำภาพเขียน ห่างกันประมาณ ๖ กิโลเมตร ตัวแหล่งหันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก มีระยะทางเดินเท้าจากพื้นดินถึงแหล่งภาพเขียนสีประมาณ ๑๔๐ เมตร ตัวถ้ำมีลักษณะเป็นโพรงถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ เพดานถ้ำเป็นช่องขนาดใหญ่แสงสว่างส่องลอดเข้ามาได้ ตำแหน่งที่พบภาพเขียนสีอยู่บริเวณผนังด้านข้างทางด้านขวาของปากถ้ำ ภาพเขียนสีที่พบมีทั้งภาพบุคคล และภาพสัญลักษณ์ ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพชำรุดจากคราบหินปูนที่ไหลมาปิดทับภาพ เบื้องต้นพบประมาณ ๕ ภาพ ประกอบไปด้วยภาพบุคคล จำนวน ๒ ภาพ และจำแนกไม่ได้จำนวน ๓ ภาพ ใช้สีแดงในการเขียนภาพ ตำแหน่งภาพสูงจากระดับพื้นเพิงผาประมาณ ๑๖๐ – ๒๕๐ เซนติเมตร ซึ่งความสูงในระดับดังกล่าวมีทั้งสามารถยืนเขียนได้และใช้อุปกรณ์เพื่อปีนขึ้นไปเขียนภาพ
           ภาพที่สามารถเห็นเป็นรูปร่างและวิเคราะห์ได้ชัดเจนคือภาพบุคคลสวมหมวกคล้ายปะการังหรือขนนกไว้ที่ศีรษะ ท่อนล่างคล้ายสวมกระโปรงทรงสุ่ม ลักษณะการแต่งกายดังกล่าวคล้ายกับภาพบุคคลประกอบพิธีกรรมในแหล่งศิลปะถ้ำแห่งอื่น ๆ เช่น ภาพเขียนสีที่เขาปลาร้า จังหวัดอุทัยธานี 


ภาพที่ ๑ สภาพแหล่งโบราณคดีถ้ำโหว่ ถ่ายจากบ้านนายวิเชียร เลือดแดง


ภาพที่ ๒ ตำแหน่งภาพเขียนสีของถ้ำโหว่


ภาพที่ ๓ สภาพเส้นทางการเดินทางเข้าสู่แหล่งโบราณคดี


ภาพที่ ๔ ภาพเขียนสีบนผนังถ้ำ


ภาพที่ ๕ ภาพเขียนสีรูปบุคคล และภาพเชิงสัญลักษณ์ วาดด้วยเทคนิคลายเส้น (Line)


ภาพที่ ๖ ภาพเขียนสีรูปบุคคล และภาพเชิงสัญลักษณ์ วาดด้วยเทคนิคลายเส้น (Line) (แปลงภาพโดยโปรแกรม DStretch)


ภาพที่ ๗ ภาพบุคคล ๒ บุคคล แต่งกายอยู่ในชุดพิธีกรรม ตกแต่งศีรษะด้วยขนนกหรือปะการัง มีคราบหินปูนมาปิดทับ ใช้เทคนิคการวาดภาพแบบเงาทึบ (Silhouette)


ภาพที่ ๘ ภาพบุคคล แต่งกายอยู่ในชุดพิธีกรรม ตกแต่งศีรษะด้วยขนนกหรือปะการัง ใช้เทคนิคการวาดภาพแบบเงาทึบ (Silhouette) (แปลงภาพโดยโปรแกรม DStretch)


ภาพที่ ๙ ภาพบุคคลเต้นประกอบพิธีกรรมสวมเครื่องประดับศีรษะ พบที่เขาปลาร้า จังหวัดอุทัยธานี (ที่มา: กรมศิลปากร. ศิลปะถ้ำเขาปลาร้า อุทัยธานี. (กรุงเทพ: กรมศิลปากร, ๒๕๓๓), ๖๖.)

-------------------------------------
ผู้เขียน: นางสาวกรรณิการ์ เปรมใจ นักโบราณคดีชำนาญการ และนางสาวฐิติกานต์ ธรรมกรสุขศิริ นักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี
-------------------------------------

แหล่งข้อมูล:
-กรมศิลปากร, วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, ๒๕๔๔. -กรมศิลปากร. ศิลปะถ้ำเขาปลาร้า อุทัยธานี. กรุงเทพ: กรมศิลปากร, ๒๕๓๓. -กรมศิลปากร. ศิลปะถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. กรุงเทพ: กรมศิลปากร, ๒๕๓๙.

(จำนวนผู้เข้าชม 3414 ครั้ง)

Messenger