การสำรวจเอกสารโบราณ ณ วัดศรีธาตุ จังหวัดยโสธร
          วัดศรีธาตุ บ้านสิงห์ ตำบลสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๐ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๐ ภายในวิหารวัดศรีธาตุประดิษฐานพระพุทธหลักคำวรสิงหนาท (พระเจ้าใหญ่) พระพุทธรูปปูนปั้นศิลปะล้านช้าง ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๒.๘๕ เมตร สูง ๕.๒๐ เมตร เป็นพระสำคัญคู่ชุมชนบ้านสิงห์มาแต่โบราณ วัดศรีธาตุเป็นวัดเก่าแก่ที่มีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ สถูปโบราณ สิงห์หินทรายแกะสลัก นอกจากนี้ยังมีหอไตรกลางน้ำ ตู้พระธรรม หีบพระธรรม สัตตภัณฑ์หรือเชิงเทียน ที่เก็บรักษาภายในวัดอีกด้วย ปัจจุบันมีพระครูฉันทกิจโกศล รองเจ้าคณะอำเภอเมืองยโสธร เป็นเจ้าอาวาส


พระพุทธหลักคำวรสิงหนาท (พระเจ้าใหญ่)

          ปีงบประมาณ ๒๕๖๓ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ ได้ดำเนินโครงการสำรวจเอกสารโบราณ ที่เก็บรักษา ณ วัดศรีธาตุ บ้านสิงห์ ตำบลสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ระหว่างวันที่ ๒๔ – ๒๙ มกราคม ๒๕๖๓ มีคณะทำงานไปปฏิบัติราชการจากสำนักหอสมุดแห่งชาติและหอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม เพื่อทำการสำรวจ ดูแลรักษา สืบสานวัฒนธรรมทางด้านอักษรและภาษาโบราณที่บันทึกไว้ในเอกสารโบราณ ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ทั้งนี้พระครูฉันทกิจโกศล รองเจ้าคณะอำเภอเมืองยโสธร เจ้าอาวาสวัดศรีธาตุ ได้กรุณาให้ความอนุเคราะห์ช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ตลอดการทำงาน
          เมื่อได้สำรวจเอกสารโบราณที่เก็บรักษาไว้ภายในศาลาอเนกประสงค์ของทางวัด ซึ่งแต่เดิมเข้าใจว่าได้ย้ายมาจากหอไตรกลางน้ำ เบื้องต้นพบว่าเอกสารโบราณส่วนมากเป็นคัมภีร์ใบลาน ซึ่งกลุ่มงานอนุรักษ์เอกสารโบราณ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้มาสำรวจและลงทะเบียนไว้ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๒ โดยมีบัญชีจากฐานข้อมูลเอกสารโบราณ วัดศรีธาตุ บ้านสิงห์ ตำบลสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ระบุว่ามีคัมภีร์ใบลานจำนวนทั้งสิ้น ๒๐๘ มัด เก็บรักษาเอกสารโบราณอยู่ในตู้พระธรรม จำนวน ๑ ใบ หีบพระธรรม จำนวน ๕ ใบ บนธรรมาสน์ และบันไดแก้ว


หอไตรกลางน้ำ


หีบพระธรรม ตู้พระธรรม ภายในศาลาอเนกประสงค์

           คณะทำงานจึงได้วางแผนงานและปฏิบัติงานตามลำดับขั้นตอน เพื่อให้สามารถจัดเก็บและค้นหาเอกสารได้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ดังนี้
           ๑. นำมัดคัมภีร์ใบลานออกจากสถานที่จัดเก็บ เพื่อเรียงเลขที่มัดตั้งแต่มัดที่ ๑ จนถึงมัดที่ ๒๐๘ ตามลำดับทะเบียนเดิม


           ๒. ตรวจสอบข้อมูลป้ายหน้ามัดคัมภีร์ใบลานกับบัญชีฐานข้อมูลเอกสารโบราณให้ถูกต้องตรงกัน เนื่องจากพบว่ามีบางรายการให้เลขที่ประจำมัดซ้ำกัน หรือ ป้ายชื่อเรื่องหน้ามัดไม่ตรงกับเอกสารโบราณภายใน ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง


           ๓. จัดทำป้ายเลขที่ประจำมัด โดยตัดใบลานเปล่าให้มีขนาดที่เหมาะสม แล้วจึงเขียนเลขที่ประจำมัด พร้อมกับประทับตราวัด แล้วจึงเจาะรูร้อยด้วยเชือกและผูกไว้กับเชือกมัดคัมภีร์ใบลานทุกมัด เพื่อให้สะดวกต่อการจัดเก็บและค้นหา


           ๔. เขียนเลขที่มัดและประทับตราของวัดลงบนผ้าฝ้ายสีขาวที่ใช้ห่อคัมภีร์ใบลานทุกมัด

           ๕. ลงทะเบียนเอกสารโบราณเพิ่มเติมจำนวน ๖ รายการ ประกอบด้วยคัมภีร์ใบลานจำนวน ๔ รายการ และหนังสือสมุดไทยจำนวน ๒ รายการ รวมเป็นเอกสารโบราณทั้งหมด ๒,๔๗๖ รายการ ดังนี้
                    ๕.๑ คัมภีร์ใบลาน อักษรขอมและอักษรธรรมอีสาน จำนวน ๒๑๒ มัด มี ๒๑๒ เลขที่ รวมทั้งหมด ๒,๔๗๔ รายการ
                    ๕.๒ หนังสือสมุดไทยที่บันทึกด้วยอักษรธรรมล้านนา และอักษรขอมไทย ภาษาบาลี เป็นบท สวดมนต์ หมวดธรรมคดี จำนวน ๒ รายการ


หนังสือสมุดไทยดำ อักษรธรรมล้านนา


หนังสือสมุดไทยดำ อักษรขอม

           ๖. จัดเก็บคัมภีร์ใบลานเรียงตามลำดับมัดเพื่อสะดวกต่อการค้นหา




---------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : นายสันติ วงศ์จรูญลักษณ์ นักภาษาโบราณชำนาญการ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ
---------------------------------------

เอกสารอ้างอิง ๑. กรมการศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๑๔. กรุงเทพฯ: กรมการศาสนา, ๒๕๓๘. ๒. กรมศิลปากร. ปกิณกศิลปวัฒนธรรม เล่ม ๑๘ จังหวัดยโสธร. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๕๕. ๓. กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทย. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดยโสธร. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๔๒.

(จำนวนผู้เข้าชม 6018 ครั้ง)