เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
๑๐ โบราณวัตถุชิ้นเยี่ยม ในนิทรรศการพิเศษ เรื่อง ศิลปวิทยาการจากสาส์นสมเด็จ
โบราณวัตถุจัดแสดง
นิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช ๒๕๖๓
เรื่อง ศิลปวิทยาการจากสาส์นสมเด็จ ระหว่างวันที่ ๑๙ สิงหาคม - ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
---------------------------------------
๑. พระรูปสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ปั้นหุ่นต้นแบบรูปนี้เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๖ และเก็บรักษาไว้ที่ ตำหนักปลายเนิน ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ต่อมาในพุทธศักราช ๒๕๔๙ กรมศิลปากรได้ขออนุญาตหล่อพระรูปจากหุ่นต้นแบบนั้น และนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ในอดีตคนไทยไม่นิยมสร้างรูปเหมือนบุคคลที่ยังมีชีวิตเพราะจะทำให้อายุสั้น แต่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา นริศรานุวัดติวงศ์ทรงเป็นพระราชวงศ์องค์แรกที่ยอมรับแนวคิดแบบตะวันตก และยินดีให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ปั้นหุ่นพระองค์เป็นต้นแบบ นับเป็นจุดเปลี่ยนแนวคิดในการสร้างงานประติมากรรมรูปเหมือนบุคคลจริงของสังคมไทย ทำให้เกิดการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบรมรูป พระรูปอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา
๒. โต๊ะทรงพระอักษร
โต๊ะสำหรับทรงพระอักษรของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พร้อมเครื่องเขียนและของใช้ส่วนพระองค์ และที่สำคัญบนโต๊ะยังมีร่างจดหมายฉบับสุดท้ายที่ทรงถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และปฏิทินที่ระบุหน้าสุดท้ายที่ทรงใช้คือวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๘๖ ก่อนจะสิ้นพระชนม์
๓. ลับแลอิเหนา
ลับแล คือเครื่องกั้นใช้สำหรับบังสายตา กั้นห้อง แบ่งพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน ลับแลบานนี้มีความ พิเศษสองประการคือ การตกแต่งด้วยการเขียนลายกำมะลอ ซึ่งนอกจากจะปิดทองคำเปลวแล้ว ยังมีการผสมสีฝุ่นกับน้ำรัก ระบายให้มีสีสันบนพื้นผิวด้วย สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงสันนิษฐานว่าวิธีการเขียนลายแบบนี้ได้มาจากช่างจีนที่อยู่ในประเทศไทย และช่างไทยได้นำมาดัดแปลงเขียนลงบนตู้พระธรรม หีบพระธรรมต่าง ๆ ความพิเศษอีกประการหนึ่งคือ เรื่องราวที่นำมาเขียนเป็นเรื่องอิเหนา มิใช่เรื่องรามเกียรติ์ ชาดกหรือพุทธประวัติตามที่ได้เห็นในงานจิตรกรรมทั่วไป
๔. สมุดภาพตำรารำ รัชกาลที่ ๑
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ จัดทำ“ตำราภาพรำ” โดยรวบรวมท่าฟ้อนรำที่สืบมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยา ๓๖ ท่า ให้จิตรกรเขียนภาพลงบน สมุดไทยขาว นับเป็นตำราท่ารำเก่าแก่ที่ใช้เป็นต้นแบบของการแสดงนาฏศิลป์ของไทย ในสมัยรัชกาลพระบาท สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรียบเรียงข้อมูลหนังสือ “ตำราฟ้อนรำ” ขึ้นใหม่ให้มีความสมบูรณ์ โดยใช้สมุดภาพตำรารำ รัชกาลที่ ๑ เป็นต้นแบบ
๕. โครงกระดูกมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี
มีอายุราว ๓,๕๐๐ – ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว โครงกระดูกมนุษย์ที่พบจากแหล่งโบราณคดีนี้ นอกจากจะเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่าในบริเวณจังหวัดกาญจนบุรีมีมนุษย์อยู่อาศัยมาเมื่อหลายพันปีก่อนแล้ว ยังเป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกให้เห็นภาวะพยาธิวิทยาหรือโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ได้ โดยสังเกตจากสภาพฟันผุ สึกกร่อน ที่อาจเกิดจากการกินของเปรี้ยวหรือการฝนขัดฟัน และกะโหลกศีรษะที่หนาผิดปกติซึ่งแสดงถึงภาวะโรคโลหิตจาง เป็นต้น
๖. ศิลาจารึกวัดพระงาม
การค้นพบศิลาจารึกเสมือนการได้ย้อนกลับไปในโลกอดีตในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างชัดเจน การ ขุดพบศิลาจารึกจากเนินสถูปวัดพระงาม จังหวัดนครปฐม เมื่อพุทธศักราช ๒๕๖๒ ก็เช่นเดียวกัน จารึกหลักนี้ จารด้วยอักษรตัวอักษรแบบปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ที่ประดิษฐ์ขึ้นอย่างงดงาม เนื้อความกล่าวถึงการสรรเสริญ พระราชา เมืองทวารวดี และการอุทิศสิ่งของถวายเทพเจ้า ในการศึกษาโบราณคดีและประวัติศาสตร์อาจกล่าวได้ว่าจารึกหลักนี้เป็นอีกหลักฐานสำคัญที่สนับสนุนแนวคิดเรื่องการมีอยู่ของ “ทวารวดี” เมืองในยุคสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในดินแดนไทย เมื่อกว่า ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว
๗. พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เป็นสัญลักษณ์ของปัญญาและโพธิญาณตามคติพุทธศาสนามหายาน พระองค์จะโปรดสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นสังสารวัฏก่อนแล้วจึงจะเสด็จสู่นิพพานเป็นองค์สุดท้าย สมเด็จฯ กรม พระยา ดำรงราชานุภาพ ทรงพบรูปพระโพธิสัตว์องค์นี้ขณะเสด็จตรวจราชการทางภาคใต้บริเวณวัดพระบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน แม้ว่าประติมากรรมชิ้นนี้จะชำรุดแต่ได้ชื่อว่างดงามที่สุดชิ้นหนึ่งในสยามประเทศ
๘. ตุ่มสุโขทัย
เป็นชื่อที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงใช้เรียกตุ่มขนาดใหญ่ ไม่มีน้ำเคลือบ ซึ่งขุด พบจากเตาบ้านเกาะน้อย จังหวัดสุโขทัย ปัจจุบันพบว่าตุ่มขนาดใหญ่แบบเดียวกับกันนี้มีแหล่งผลิตอยู่ที่เตา แม่น้ำน้อย จังหวัดสิงห์บุรี ด้วย แตกต่างกันตรงที่ตุ่มแบบหลังจะเคลือบสีน้ำตาล สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชา นุภาพ ทรงระบุไว้ในจดหมายเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๔๗๘ ว่าในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสำหรับพระนคร มี “ตุ่มสุโขทัย” อยู่หลายใบ
๙. ตู้พระธรรมลายรดน้ำบานกระจก
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ กระแสวัฒนธรรมตะวันตก แพร่หลายอย่างรวดเร็ว ตู้กระจกแบบใหม่และการเข้ามาของสมุดฝรั่งมีมากขึ้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรง ราชานุภาพ จึงทรงรวมรวมตู้พระธรรมโบราณจากวัดต่าง ๆ มาเก็บไว้ในหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครและทรงดัดแปลง ฝาหลังตู้ซึ่งไม่มีลวดลายประดับเป็นบานกระจก สำหรับใส่หนังสือเพื่อไม่ให้ลายทองด้านหน้า ลบเลือนจากการเปิดปิดตู้
๑๐. ต้นฉบับภาพร่างพัดบรมราชาภิเษก ๒๔๖๘
ภาพเขียนสีน้ำบนกระดาษเป็นต้นแบบสำหรับปักพัดรองที่ระลึกงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ พุทธศักราช ๒๔๖๘ ฝีพระหัตถ์การออกแบบของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ดังจะเห็นได้จากตราประจำพระองค์ “น ในดวงใจ”ที่ทรงซ่อนไว้ในชิ้นงาน
คำว่า “เดชน์” ในพระบรมนามาภิไธย “ประชาธิปกศักดิเดชน์” แปลว่า “ลูกศร” รูปพระแสงศร ๓ องค์ หมายถึง ราชศาสตราวุธของพระราม ได้แก่ พระแสงพรหมมาสตร์ พระแสงศรประลัยวาด และพระแสงอัคนีวาต
(จำนวนผู้เข้าชม 2140 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน