พระพุทธรูปยืน ปางประทานพร ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระรายณ์
พระพุทธรูปยืน ปางประทานพร
วัสดุ : ศิลา
อายุ/สมัย : ทวารวดี (อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓)
ขนาด : กว้าง ๕๔ เซนติเมตร, สูง ๑๓๒ เซนติเมตร
สถานที่พบ : วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี
ปัจจุบัน : จัดแสดง ณ ห้องศาสนาและความเชื่อทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์
_ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _
พระพุทธรูปปางประทานพร คือ พระพุทธรูปที่มีการแสดงพระกรขวาในท่าทางยื่นไปด้านหน้าและหงายฝ่าพระหัตถ์ลง มีความหมายถึง การอวยพร ให้ความเป็นสิริมงคล ในประเทศไทยพระพุทธรูปปางประทานพรปรากฏครั้งแรกประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๑ เช่น พระพุทธรูปประติมากรรมนูนสูง ศิลปะอินเดียสมัยคุปตะ พบที่อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นต้น
ต่อมาวัฒนธรรมทวารวดีได้รับรูปแบบและพัฒนาให้มีความเป็นพื้นเมืองมากขึ้น เช่น พระพุทธรูปที่จัดแสดงองค์นี้ ที่ประทับยืนหย่อนพระชานุเอียงตัวเล็กน้อย พระเศียร พระหัตถ์ซ้าย และพระบาทหักหายไป พระกรขวาวางเหยียดลงข้างพระวรกาย หงายฝ่าพระหัตถ์ออกด้านหน้า กลางฝ่าพระหัตถ์มีลวดลายธรรมจักร ครองจีวรห่มคลุมเรียบและบางแนบพระวรกาย
ถือเป็นพระพุทธรูปที่มีอายุเก่าแก่องค์หนึ่งที่แสดงถึงการรักษารูปแบบท่ายืนตริภังค์(เอียงตนสามส่วน)ไว้ ก่อนจะคลี่คลายเป็นการประทับยืนตรงในเวลาต่อมา
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเข้าชมพระพุทธรูปยืน ปางประทานพร ได้ทุกวันพุธถึงวันอาทิตย์ เวลา ๙.๐๐-๑๖.๐๐ น.
+ + + + + + + + + + + + + + + + +
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์
อ้างอิง
เชษฐ์ ติงสัญชลี. ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดียและเอเชีย
ตะวันออกเฉียงใต้. พิมพ์ครั้งที่ ๒ นนทบุรี :
อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิ่งชิ่ง, ๒๕๕๘.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารดี วัฒนธรรมทางศาสนา
ยุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๒
นนทบุรี : เมืองโบราณ, ๒๕๖๒.
(จำนวนผู้เข้าชม 12864 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน