ประติมากรรมปูนปั้นหน้าบันวัดเตว็ด : ศิลปะลูกผสมไทย–ยุโรป สมัยอยุธยา
          วัดเตว็ด เป็นวัดร้างตั้งอยู่ทางทิศใต้นอกตัวเกาะเมืองอยุธยา บริเวณริมคลองปทาคูจาม (คลองคูจามหรือคลองประจาม) ในเขตพื้นที่ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ห่างจากวัดพุทไธศวรรย์ไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๕๐๐ เมตร
          ในแผ่นดินสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ (พระเจ้าเสือ) ปรากฏความตามพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า “ส่วนสมเด็จพระอัครมเหสีฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา, แห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศ, (พระเพทราชา) ซึ่งทรงพระนามกรมหลวงโยธาทิพ, กรมหลวงโยธาเทพนั้น. ก็ทูลลาสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน, แล้วพาเอาพระราชบุตร. ซึ่งทรงพระนามตรัสน้อยนั้น, ออกไปตั้งพระตำหนักอยู่ในที่ใกล้พระอารามวัดพุทไธสวรรย์.”
          เรื่องตำหนักหลังวัดพุทไธศวรรย์นี้ น. ณ ปากน้ำ ให้ความเห็นไว้ว่า “ตรงปากคลองประจามฝั่งตะวันตกเยื้องไปทางหลังวัดพุทไธสวรรย์ มีวัดเก่าแก่อยู่วัดหนึ่ง ชื่อวัดตระเว็ด มีอาคารแบบฝรั่งยกพื้นไม้ ใต้ถุนสูง เช่นเดียวกับตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์... อาคารที่เหลืออยู่เป็นแบบที่เรียกว่าทรงวิลันดา คือก่ออิฐถือปูนจากผนังขึ้นไปยันอกไก่ หน้าบันก่อปูน มีลายปูนปั้นแบบโรโคโค (Rococo)... ดูภูมิฐานการก่อสร้าง การปั้นปูนอย่างวิจิตรพิสดาร อาจเป็นที่ประทับของกรมหลวงโยธาเทพ กรมหลวงโยธาทิพกระมัง ท่านบวชชีอยู่วัดพุทไธสวรรย์ สำนักนางชีย่อมจะอยู่ไปให้ไกลวัด อีกประการหนึ่ง เหล่านางข้าหลวงและนางบริวารก็คงจะบวชตามเสด็จจนเป็นสำนักนางชีใหญ่โต สมัยนั้นคงจะรุ่งเรืองมาก ด้วยท่านเป็นเจ้านายที่พระเจ้าแผ่นดินหลายพระองค์กลัวเกรงมาก สำนักนี้หลังจากสิ้นบุญของผู้เป็นเจ้าสำนักไปแล้ว ข้าหลวงและบริวารก็คงแตกฉานซ่านเซ็นไป และพระภิกษุสงฆ์คงจะมาครอบครองอยู่ต่อไป” ส่วนชื่อวัด “เตว็ด” นั้น จะตั้งขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐาน
          หลักฐานทางศิลปกรรมของตำหนัก (กุฏิ?) วัดเตว็ด ในปัจจุบันตัวอาคารมีเพียงผนังสกัดหน้า เหลืออยู่เพียงด้านเดียว ลักษณะเป็นอาคารสองชั้นก่ออิฐถือปูน ยกพื้นมีใต้ถุนสูง เจาะช่องประตูเป็นรูปวงโค้ง ซึ่งนิยมทำในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ใช้ระบบผนังรับน้ำหนักหลังคา หน้าบันก่ออิฐถือปูนแบบ “กระเท่เซ” (ไม่มีไขราหน้าจั่ว) ประดับลวดลายปูนปั้น อิทธิพลศิลปะยุโรปผสานกับลายก้านขดนกคาบแบบไทยได้อย่างลงตัว แสดงอิทธิพลค่อนไปทางยุโรป กล่าวคือ กรอบหน้าบันเป็นลายแบบยุโรป ที่หางหงส์ปั้นเป็นรูปศีรษะบุรุษหันด้านข้างผูกผ้าพันคอ ลายประธานใจกลางหน้าบันเป็นปูนปั้นรูปทิพย์วิมานอย่างยุโรป (อาจหมายถึงเรือนที่ประทับ?) และมีลายก้านขดประดับซ้าย-ขวา ใบไม้ที่อยู่ในลายก้านขดคล้ายใบอะแคนตัสของกรีกโบราณ ส่วนก้านแยกเป็นลายนกคาบอย่างไทย ซึ่งพอจะสันนิษฐานได้ว่า เป็นอิทธิพลของศิลปะแบบฝรั่งเศส สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ และไทยรับเอาอิทธิพลของศิลปะนี้เข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ เนื่องจากฝรั่งเศสกับไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน
          ในสมัยอยุธยา มีการติดต่อสร้างความสัมพันธ์กับชาวตะวันตก ยุโรปชาติตะวันตกที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาชาติแรกคือ โปรตุเกส (พ.ศ. ๒๐๕๔) จากนั้นก็ตามมาด้วย ฮอลันดา สเปน อังกฤษ และฝรั่งเศส มาตั้งสถานีทำการค้า เผยแพร่คริสต์ศาสนารวมถึงศิลปวัฒนธรรม บ้างก็เป็นสถาปนิกวิศวกร มีส่วนในการออกแบบและควบคุมการก่อสร้างป้อมปืนกำแพงเมือง ส่องกล้องตัดถนน สร้างวัง (พระนารายณ์ราชนิเวศน์) วางระบบประปา สร้างน้ำพุเขามอ เป็นต้น ดังนั้น พัฒนาการทางศิลปสถาปัตยกรรมดังกล่าว จึงเกิดขึ้นมาพร้อมกันกับความเจริญรุ่งเรืองของเมือง ทั้งทางด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจสังคม และการต่างประเทศ เมื่อบ้านเมืองเจริญศิลปะย่อมพัฒนาเฟื่องฟู เป็นดัชนีชี้วัดความมั่งคั่งมั่นคงของยุคสมัย ณ ที่โบราณสถานและประติมากรรมปูนปั้นหน้าบันวัดเตว็ดแห่งนี้ คือประจักษ์พยานสถานอีกแหล่งหนึ่ง ซึ่งเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติที่มีความสำคัญยิ่ง นับเป็นตัวแทนของยุคสมัย “ศิลปกรรมลูกผสมไทย–ยุโรป สมัยอยุธยาตอนปลาย” ควรค่าแก่การหวงแหนคุ้มครอง อนุรักษ์และพัฒนาแหล่งเพื่อส่งต่อให้อนุชนคนรุ่นหลัง สืบต่อไป


ภาพที่ ๑ แผนที่ทางอากาศแสดงตำแหน่งที่ตั้งโบราณสถานวัดเตว็ด และชุมชนชาวต่างชาติ (ที่มา : Google Maps)


ภาพที่ ๒ ภาพถ่ายทางอากาศแสดงตำแหน่งที่ตั้งโบราณสถานวัดพุทไธศวรรย์ และวัดเตว็ด (ที่มา : Google Maps)


ภาพที่ ๓ หน้าบันวัดเตว็ด ภาพถ่ายเก่าราวปี พ.ศ. ๒๕๐๙

“...ปั้นลมเป็นลายใหญ่หนัก ๆ แบบฝรั่ง มีรูปหัวคนอยู่ตรงจะงอยปลายสาย ส่วนลายปูนปั้นหน้าบันเป็นรูปเรือนแก้วและลายเครือเถา ประดิษฐ์ด้วยใบอะแคนตัส บางตอนมีนกคาบแบบลายไทยด้วย เช่นลายเหนือเรือนแก้วซีกซ้ายมือ แสดงว่าผู้ปั้นเป็นคนไทยชาวพื้นเมือง แต่ทำตามแบบยุโรป จึงได้มีลายไทยปนลงไปด้วย” (น. ณ ปากน้ำ. วิวัฒนาการลายไทย. ๒๕๓๔, น. ๑๘๙)


ภาพที่ ๔ หน้าบันวัดเตว็ด ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๕ (ก่อนการบูรณะ)


ภาพที่ ๕ ผนังสกัดหน้าของตำหนัก (กุฏิ?) วัดเตว็ด ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๙ (ภายหลังการบูรณะ) จากภาพ ช่องสี่เหลี่ยมแถวล่าง จำนวน ๓ ช่อง คือตำแหน่งช่องไม้คานสำหรับปูไม้พื้นเฉลียงหน้า ส่วนช่องสี่เหลี่ยมอีก ๓ ช่องด้านบน คือตำแหน่งของไม้จันทันรับหลังคาทรง “จั่นหับ” คลุมโถงเฉลียงหน้าอาคาร


ภาพที่ ๖ ผนังสกัดหน้าของตำหนัก (กุฏิ?) วัดเตว็ด ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๙ (ภายหลังการบูรณะ)


ภาพที่ ๗ หน้าบันตำหนัก (กุฏิ?) วัดเตว็ด (ภาพรีทัช Retouch)


ภาพที่ ๘ ลายเส้นสันนิษฐานรูปแบบลวดลายปูนปั้นหน้าบันตำหนัก (กุฏิ?) วัดเตว็ด 


ภาพที่ ๙ ภาพขยายลวดลายปูนปั้นหน้าบันตำหนัก (กุฏิ?) วัดเตว็ด


ภาพที่ ๑๐ ภาพขยายลวดลายปูนปั้นหน้าบันตำหนัก (กุฏิ?) วัดเตว็ด


ภาพที่ ๑๑ ภาพขยายลวดลายปูนปั้นหน้าบันตำหนัก (กุฏิ?) วัดเตว็ด


ภาพที่ ๑๒ ภาพขยายลวดลายปูนปั้นหน้าบันตำหนัก (กุฏิ?) วัดเตว็ด

----------------------------------------
เรียบเรียง/ภาพประกอบ/ภาพลายเส้น : ฤทธิเดช ทองจันทร์ นักวิชาการช่างศิลป์เชี่ยวชาญ กองโบราณคดี

เอกสารอ้างอิง : น. ณ ปากน้ำ. ฝรั่งในศิลปะไทย. กรุงเทพฯ : ศูนย์การพิมพ์พลชัย, ๒๕๓๐. (อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายสุนทร ศิริพงษ์ เป็นกรณีพิเศษ วัดมกุฎกษัตริยาราม ๑๗ ธ.ค. ๒๕๓๐). น. ณ ปากน้ำ. วิวัฒนาการลายไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, ๒๕๓๔. น. ณ ปากน้ำ. ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, ๒๕๕๘. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, ๒๕๑๔. ศิลปากร, กรม. โบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เล่มที่ ๒. กรุงเทพฯ : ทวีวัฒน์การพิมพ์, ๒๕๕๑.

(จำนวนผู้เข้าชม 10825 ครั้ง)

Messenger