กรมศิลปากรร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ
          วันพฤหัสบดีที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๐๐ น. ณ ห้องประชุม ชั้น ๕ กรมศิลปากร เทเวศร์ นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร และ รศ.ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กับกรมศิลปากร ฉบับที่ ๒ เพื่อร่วมศึกษา วิจัย และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในการสนับสนุนการศึกษาวิจัย ฟื้นฟู อนุรักษ์ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ซึ่งเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ













          นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากรกับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้ร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เพื่อร่วมศึกษา วิจัย และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในการสนับสนุนการศึกษาวิจัย ฟื้นฟู อนุรักษ์ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ภายในกรอบระยะเวลา ๕ ปี โดยมีผลงานความร่วมมือทั้งด้านการวิจัย พัฒนา การสำรวจและวิเคราะห์ตัวอย่างในพื้นที่โบราณสถานอย่างน่าสนใจ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่มีในปัจจุบันมาใช้สนับสนุนภารกิจของกรมศิลปากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีความเห็นร่วมกันให้มีการขยายระยะเวลาความร่วมมือต่อไป โดยกำหนดระยะเวลา ๕ ปี ทั้งการศึกษา วิจัย และพัฒนากระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ พัฒนาระบบฐานข้อมูลอัตลักษณ์โบราณวัตถุชิ้นพิเศษและองค์ประกอบทางเคมีของโบราณวัตถุและวัสดุเพื่องานอนุรักษ์ การศึกษาระบบการจัดการน้ำในอดีตของชุมชนโบราณ การวิเคราะห์ตัวอย่างจากการขุดค้นเพื่อหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ การศึกษาโครงสร้างภายในวัตถุโดยใช้รังสี






          รศ. ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการตรวจสอบหาอายุของโบราณวัตถุ เพราะเป็นเทคนิคการวิเคราะห์ที่ไม่ทำลายตัวอย่าง หรือใช้ตัวอย่างในปริมาณที่น้อยมาก สทน. ได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการไอโซโทปรังสีและใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อตรวจวิเคราะห์หาอายุโบราณวัตถุมาเป็นเวลากว่า ๑๐ ปี ทำให้ไม่ต้องส่งชิ้นส่วนของโบราณวัตถุไปตรวจสอบอายุในต่างประเทศเช่นในอดีตที่ผ่านมา เป็นเทคโนโลยีที่สามารถดำเนินการได้เองในประเทศไทย จากขีดความสามารถในเรื่องดังกล่าว สทน. และกรมศิลปากร จึงได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ โดยดำเนินกิจกรรมร่วมกันหลายอย่าง เช่น ร่วมกันวิจัยกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา ในการวิเคราะห์ทองคำโบราณจากกรุวัดราชบูรณะ และวัดมหาธาตุ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลทองคำโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งโครงการดังกล่าวยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์จะถูกนำเสนอไว้ในพิพิธภัณฑ์ทองหลังใหม่ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

(จำนวนผู้เข้าชม 978 ครั้ง)

Messenger