ป้อมรูปดาว (Star Fort) สมัยกรุงศรีอยุธยาที่เขาชัยบุรี
ป้อมรูปดาว (Star Fort) สมัยกรุงศรีอยุธยาที่เขาชัยบุรี ตำบลชัยบุรี อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง


เมืองพัทลุงที่เขาชัยบุรี
          เมืองพัทลุงได้ย้ายมาตั้งที่เขาชัยบุรีหรือเขาเมืองตั้งแต่พ.ศ. ๒๑๗๒ - พ.ศ.๒๓๑๐ ตัวเมืองตั้งอยู่ในที่ราบด้านทิศเหนือของเขาชัยบุรีและมีการสร้างกำแพงเป็นระเนียดไม้ปิดช่องเขาด้านตะวันตกระหว่างเขาเมืองกับเขาบ่อฬา แล้วทำกำแพงด้านทิศเหนือต่อจากเขาบ่อฬามาจนถึงเขาเจดีย์ จากนั้นทำกำแพงด้านทิศตะวันออกจากเขาเจดีย์ไปถึงเขาพลู และทำกำแพงปิดช่องเขาระหว่างเขาพลูกับเขาเมือง โดยใช้เขาเมืองซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นกำแพงเมืองด้านทิศใต้ รวมระยะเวลาที่เมืองพัทลุงตั้งอยู่ ณ ที่แห่งนี้เป็นเวลา ๑๓๘ ปี มีเจ้าเมืองปกครองตามที่ปรากฏในพงศาวดารเมืองพัทลุงทั้งสิ้น ๙ ท่าน การดำเนินงานทางโบราณคดี
          สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีในปีงบประมาณ ๒๕๖๐ โดยได้ดำเนินการขุดค้นต่อจากการขุดค้นของสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราชที่ได้ดำเนินการไว้ในปีงบประมาณ ๒๕๕๙ โดยได้กำหนดหลุมขุดค้นขนาด ๔ x ๔ เมตร ทั้งนี้ได้ดำเนินการขุดค้นเป็นจำนวน ๙๑ กริดคิดเป็นพื้นที่ ๑,๔๕๖ ตารางเมตร

ป้อมรูปดาว (Star Fort) คืออะไร?
          ป้อมรูปดาว (Star Fort) เป็นระบบป้อมปราการที่ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในคาบสมุทรอิตาลี ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เพื่อต่อสู้กับปืนใหญ่แบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพร้ายแรงขึ้น จนส่งผลให้ป้อมแบบเดิมไม่อาจต้านทานพลังการทำลายได้ โดยป้อมลักษณะนี้ได้รับความนิยมไปทั่วยุโรปเป็นระยะเวลาประมาณ ๓๐๐ ปี ทั้งนี้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๓ เซบาสเตียง เลอ เพรส์เทรอ เดอ โวบอง และเม็นโน ฟาน โคฮูร์น สถาปนิกทางสถาปัตยกรรมทหารในราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส ได้พัฒนารูปแบบของป้อมรูปดาว จนกลายเป็นระบบป้องกันอันซับซ้อน

ป้อมรูปดาว (Star Fort) ที่เขาชัยบุรี
          ป้อมรูปดาวที่ขุดพบนี้เป็นป้อมประจำมุมเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเป็นแนวกำแพงป้อมที่มีการหักมุมกำแพงเป็นดาว ๕ แฉก โดยมีจุดเริ่มของแนวกำแพงป้อมบริเวณด้านตะวันตกค่อนไปทางทิศเหนือก่อแนวต่อเนื่องไปจนถึงมุมภูเขาด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ โดยแนวกำแพงป้อมมีความยาวรวมกัน ๑๒๖.๗๒ เมตร และมีความกว้างเฉลี่ยอยู่ที่ ๑๔๐-๑๕๐ เซนติเมตร //การวางฐานรากของป้อมรูปดาวที่ขุดพบนั้น เป็นการวางฐานรากบนพื้นธรรมชาติ โดยในส่วนของพื้นที่ปกติจะพบการวางอิฐชั้นแรกอยู่บนผิวดินในระดับที่เป็นพื้นปูนมาร์ล ในขณะที่ในอีกหลายบริเวณซึ่งพบหินขนาดใหญ่ตั้งอยู่ ฐานรากในส่วนดังกล่าวจะวางบนหินเหล่านั้น โดยบางส่วนวางคร่อมหินทั้งหมดโดยใช้ปูนสอประสาน ในขณะที่บางส่วนมีการตัดแต่งยอดหินก่อนที่จะวางอิฐคร่อมหินในส่วนที่เหลือ
          ตัวกำแพงป้อมนั้น วัดระดับสูงจากพื้นดินได้ ๕.๖๘ เมตร ลักษณะของกำแพงก่อด้วยอิฐสอปูน กำแพงตันไปตลอดแนวไม่มีการสอดไส้กำแพง โดยอิฐก่อกำแพงมีขนาดกว้าง ๑๓ เซนติเมตร ยาว ๒๖ เซนติเมตร หนา ๕ เซนติเมตร อย่างไรก็ตามพบว่าตัวกำแพงไม่ได้ตั้งตรง หรือตั้งฉากกับพื้นดิน แต่กลับเอียงเข้าด้านในเล็กน้อย ซึ่งลักษณะนี้ก็พบที่กำแพงเมืองนครศรีธรรมราชและแบบแปลนป้อมเมืองบางกอกและเมืองมะริดซึ่ง เดอ ลามาร์เป็นผู้ออกแบบเช่นเดียวกัน
          ส่วนบนของป้อมก่อเป็นใบบังและจากการวิเคราะห์เปรียบเทียบกับใบบังของป้อมกำแพงเมืองนครศรีธรรมราชที่ออกแบบโดยวิศวกรคนเดียวกันแล้วสามารถกำหนดความสูงของใบบัง ๑๔๘ เซนติเมตร และความยาวของใบบังเท่ากับ ๓.๒๐ เมตร ส่วนแนวช่องประตูหรือบันไดสำหรับขึ้นป้อมนั้น พบแนวอิฐที่แสดงลักษณะของช่องบันไดในพื้นที่ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของภูเขา

ใครคือวิศวกรผู้ออกแบบ?
          ผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างป้อมแห่งนี้คือวิศวกรชาวฝรั่งเศส ชื่อมองสิเออร์ เดอ ลามาร์ ซึ่งเดินทางมาพร้อมกับคณะราชทูตฝรั่งเศสเชอวาเลีย เดอ โชมองต์ ในพ.ศ.๒๒๒๘ ซึ่งในครั้งนั้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ขอตัววิศวกรคนนี้เพื่อดำเนินการปรับปรุงป้อมและกำแพงเมืองสำคัญคือ อยุธยา ลพบุรี บางกอก มะริด นครศรีธรรมราช สงขลา และพัทลุง
          ลาร์มา ออกเดินทางจากเมืองบางกอกเพื่อไปยังเมืองพัทลุง เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๒๒๙ จากและปรากฏหลักฐานว่าแผนผังเมืองพัทลุงที่เขียนโดยลามาร์ แล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ.๑๖๘๗ (พ.ศ.๒๒๓๐) ได้ปรากฏข้อความภาษาฝรั่งเศส ในคำบรรยายท้ายแผนผังกำแพงเมืองพัทลุงความว่า "...ภูเขาทุกแนวสูงชันปีนขึ้นไปไม่ได้ ด้านนอกมีโขดหินแข็งแรง เมืองนี้มีพลเมืองพอประมาณ เส้นประเป็นเครื่องหมายของกำแพงเดิมที่เป็นไม้ ส่วนเส้นทึบเป็นเครื่องหมายที่จะสร้างขึ้นมาใหม่ เป็นกำแพงอิฐไว้ป้องกันเมือง ผังนี้เขียนขึ้นตามคำสั่งของกษัตริย์สยาม ค.ศ.๑๖๘๗..."

วิไชยเยนทร์ตะวันออกคือป้อมต้นแบบ?
        จากแผนผังที่ลาร์มาออกแบบไว้ พบว่าเดิมได้กำหนดให้ป้อมแห่งนี้มีลักษณะเป็นป้อมหัวลูกศร ดังเช่นป้อมที่ลาร์มาสร้างไว้ที่เมืองนครศรีธรรมราช แต่การขุดค้นทางโบราณคดีกลับแสดงให้เห็นว่ามีการแก้ไขแผนผังของป้อมแห่งนี้ให้กลายเป็นป้อมรูปดาวห้าแฉก และเมื่อนำแผนผังของป้อมวิไชยเยนทร์ตะวันออก(ป้อมเมืองบางกอก) มาซ้อนทับกันก็จะพบว่าป้อมที่เขาชัยบุรีนี้เกือบจะซ้อนทับกับเส้นโครงร่างของป้อมวิไชยเยนทร์ตะวันออกได้เลยทีเดียว นอกจากนี้ยังตรวจสอบพบว่าป้อมทั้งสองแห่งนี้ใช้อิฐขนาดเดียวกันคือ ขนาดกว้าง ๑๓ เซนติเมตร ยาว ๒๖ เซนติเมตร หนา ๕ เซนติเมตร ในการก่อสร้างป้อมด้วย

ปืนใหญ่ประจำเมือง
          ปรากฏหลักฐานว่าเมืองแห่งนี้มีการติดตั้งปืนใหญ่เหล็กของฮอลันดา (Finbanker of Dutch Pattern) ซึ่งโรงหล่อปืนที่ Finspang เมือง Ostergotland ประเทศสวีเดน ส่งมาจำหน่ายให้บริษัท V.O.C. และมักพบจารึกรูปตัว F ที่เพลาปืนด้านซ้ายและขวาเป็นสัญลักษณ์ของโรงงาน //ในปัจจุบันยังคงปรากฏปืนใหญ่ประจำเมืองชัยบุรีให้เห็นอยู่ ๒ กระบอก ตั้งอยูที่หน้าเสาธงโรงเรียนพัทลุง ปืนใหญ่ทั้งสองกระบอกนี้ได้ผ่านการยิงทดสอบ(proof firing) แล้ว โดยได้รับการจารึกสัญลักษณ์รูปประภาคารหรือ ที่เรียกว่า Amsterdam light house เพื่อเป็นการรับรองไว้บนกระบอกปืน นอกจากนี้ยังมีการจารึกน้ำหนักของปืนไว้ที่ท้ายกระบอกปืนด้วย โดยปืกระบอกหนึ่งหนัก 2322 Amsterdam Pound และอีกกระบอกหนึ่งหนัก 2306 Amsterdam Pound เทียบเป็นน้ำหนักปัจจุบันราว ๒ ตันเศษ

การบูรณะป้อมรูปดาว (Star Fort) ที่เขาชัยบุรี
          กรมศิลปากรได้อนุมัติงบประมาณสำหรับบูรณะป้อมแห่งนี้ในปีงบประมาณ ๒๕๖๑ และ ๒๕๖๒ โดยสามารถดำเนินการบูรณะป้อมได้ถึงแฉกดาวที่ ๔ และยังคงเหลืองานบูรณะป้อมในส่วนของแฉกดาวที่ ๕ กำแพงเมืองด้านทิศเหนือที่ติดกับป้อม และงานปรับปรุงภูมิทัศน์ ซึ่งจะได้ดำเนินการต่อไปในอนาคต





















......................................................................

เรียบเรียงเนื้อหาวิชาการ โดย สารัท ชลอสันติสกุล นักโบราณคดีชำนาญการสำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา

ลิงค์สำหรับฟังการบรรยาย "การขุดค้นทางโบราณคดีกำแพงเมืองพัทลุงที่เขาชัยบุรี ตำบลชัยบุรี อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง" โดย นายสารัท ชลอสันติสกุล นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา : https://bit.ly/3bUkSBR

(จำนวนผู้เข้าชม 4291 ครั้ง)

Messenger