แหล่งภาพเขียนสีถ้ำวัวแดง จังหวัดอุบลราชธานี
ถ้ำวัวแดง ตั้งอยู่ที่ บ้านหนองแสง หมู่ ๗ ตำบลโพนงาม อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าบุณฑริก – ยอดมน

          บริเวณที่พบภาพเขียนสีเป็นเพิงหินที่เกิดจากการกัดเซาะตามธรรมชาติ ลักษณะเป็นก้อนหิน ขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนลานหินกลางป่า ห่างจากจุดผ่อนปรนช่องตาอูไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ ๒.๕ กิโลเมตร เพิงหินมีขนาดกว้าง ๓.๓ เมตร ยาว ๖.๗ เมตร สูง ๑.๙๖ เมตร



          ภาพเขียนสีถ้ำวัวแดง พบครั้งแรกปี พ.ศ. ๒๕๓๐ โดยผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านในสมัยนั้น ชาวบ้านเห็นว่า ภาพที่พบมีลักษณะคล้ายวัว จึงเรียกที่แห่งนี้ว่า “ถ้ำวัวแดง” ภาพเขียนสีอยู่บริเวณผนังทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเพิงหิน มีขนาดกว้าง ๘๐ เซนติเมตร ยาว ๑๑๐ เซนติเมตร ตัวภาพเขียนด้วยสีแดง มีภาพสัตว์ลักษณะคล้ายวัว เป็นศูนย์กลางของภาพ หากสังเกตจะพบรอยสีจางๆบนภาพวัว ลักษณะคล้ายภาพคนกำลัง ขี่วัว ทางด้านขวาของภาพวัวเป็นภาพสามเหลี่ยมระบายสีทึบ ล้อมรอบด้วยภาพลายเส้น ทั้งเส้นตรง เส้นซิกแซก และเส้นก้างปลา (รูปสามเหลี่ยมไม่มีฐานเรียงซ้อนกัน) เมื่อดูโดยรวมคล้ายภาพวัวอยู่กลาง พื้นที่โล่ง ใกล้กับเพิงหิน (ภาพสามเหลี่ยมระบายสีทึบ) มีแนวทางเดิน (เส้นตรงสั้นๆ) และแนวภูเขาอยู่ทางฝั่งขวา (รูปสามเหลี่ยมไม่มีฐานเรียงซ้อนกัน) ล้อมรอบไปด้วยป่า (เส้นซิกแซก) ซึ่งภาพที่ปรากฏคล้ายกับสภาพ ภูมิประเทศในจุดที่พบภาพเขียนสีดังกล่าว







          ภาพเขียนสีที่พบนอกจากจะบ่งบอกว่าพื้นที่ป่าบุณฑริกในอดีตมีวัวอาศัยอยู่ ยังสะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์ในอดีตที่ไม่มีเทคโนโลยีทันสมัยแบบยุคปัจจุบัน ก็มีความรู้ความสามารถในการสำรวจ และสามารถถ่ายทอดสภาพพื้นที่โดยรอบออกมาเป็นภาพเขียนสีได้

---------------------------------------------------

เรียบเรียงข้อมูล : นางสาวศุภภัสสร หิรัญเตียรณกุล นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี

อ้างอิง
ศิลปากร, กรม. โดย สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี. รายงานการสำรวจเบื้องต้นโครงการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งโบราณคดีผาแต้มและแหล่งภาพเขียนสีพื้นที่อีสานตะวันออก (กิจกรรมดำเนินงานปีที่ ๑ ในจังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ. ๒๕๖๒). ม.ป.ท. : ม.ป.ป.,๒๕๖๒. (อัดสำเนา)

(จำนวนผู้เข้าชม 1880 ครั้ง)

Messenger