โบราณวัตถุชิ้นสำคัญ "เครื่องถมปัด : กลศและขัน"

ทองแดงถมเคลือบ (เครื่องถมปัด)
กลศ สูงพร้อมฝา 17 เซนติเมตร ปากกว้าง 14 เซนติเมตร ขัน สูง 9 เซนติเมตร ปากกว้าง 17 เซนติเมตร
ศิลปะรัตนโกสินทร์ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 24 - 25
ที่มา เป็นของวัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร จังหวัดสงขลา มาแต่เดิม 





          กลศ (หม้อน้ำ) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ลักจั่นน้ำ และขันน้ำทำด้วยทองแดง เขียนสีลงยา หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “ถมปัด” เป็นลายพรรณพฤกษา สีแดง และเขียว บนพื้นสีเหลือง โดยเครื่องถมปัดนั้น หากใช้สีเหลืองเป็นพื้น นิยมสร้างเป็นเครื่องยศอย่างหนึ่งของพระราชาคณะ ทั้งนี้ เครื่องถมปัด เป็นชื่อที่คนไทยใช้เรียกเครื่องลงยาที่ทำจากทองแดง โดยเคลือบพื้นผิวทองแดงให้หนาตามความต้องการ ส่วนใหญ่เคลือบพื้นผิวให้มีสีเหลือง ฟ้า น้ำเงิน แล้วเขียนสีลงยาเป็นลวดลาย จากนั้นนำไปเผาให้สีหลอมละลายกลายเป็นแก้วสีต่าง ๆ ติดแน่นบนพื้นผิว ส่วนสีลงยาที่ใช้ ทำมาจากแก้วหรือลูกปัด บดละเอียด ผสมน้ำ หรือกาว ระบายลงไปในลักษณะเดียวกับการระบายสีทั่วไป


....................................................................................

เรียบเรียง/กราฟฟิก โดยฝ่ายวิชาการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา

อ้างอิง
1. จิรภรณ์ อรัณยะนาค. สารพันของสะสม. กรุงเทพฯ: สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ
2. สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2549.

ที่มาของข้อมูล : https://www.facebook.com/songkhlanationalmuseum/posts/3099249640138950

(จำนวนผู้เข้าชม 2359 ครั้ง)