โบราณวัตถุชิ้นสำคัญ "กาน้ำชาลายน้ำทอง"

กาน้ำชาลายน้ำทอง
วัสดุ กระเบื้อง ศิลปะจีน อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๔
ที่มา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) พระราชทานแก่วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร จังหวัดสงขลา
ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มัชฌิมาวาส




          กาน้ำชาเคลือบขนาดใหญ่ หูหิ้วทำจากทองเหลือง กาน้ำทำจากกระเบื้อง เขียนลายน้ำทอง มีลายดอกกุหลาบหรือแฟมิลล์โรสสีชมพูและสีน้ำเงินทั้งสองด้านด้านละ ๔ ดอก ตรงกลางของกาน้ำทั้งสองข้างเป็นลายช่องกระจก ภายในเป็นรูปช้างเผือกทูนสิ่งของ ซึ่งมีผู้กล่าวว่า หมายถึงพระมหาพิชัยมงกุฎ เข้าใจว่าเป็นกาน้ำที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) พระราชทานให้แก่พระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งของวัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร จังหวัดสงขลา จัดเป็นเครื่องประกอบสมณศักดิ์ประเภทหนึ่ง
          การเขียนลวดลายโดยใช้เทคนิคลายน้ำทอง คือ เขียนลวดลายบนภาชนะด้วยวิธีลงยา แต่ลงพื้นบนภาชนะด้วยสีทองที่ทำจากทองคำก่อนเขียนลายตกแต่ง ปกติแล้วไทยมักร่างแบบลายที่ต้องการและส่งไปเขียนลายที่เมืองจีน ทั้งนี้ ภาชนะลายน้ำทองเป็นที่นิยมมากในราชสำนักสมัยรัตนโกสินทร์ โดยในภาคใต้มักพบตามบ้านคหบดี บ้านขุนนาง และวัดวาอารม

--------------------------------------------

เรียบเรียงและถ่ายภาพ: นางสาวธีรนาฎ มีนุ่น ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา

อ้างอิง:
สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2549.

ที่มาของข้อมูล : https://www.facebook.com/songkhlanationalmuseum/posts/3048264401904141

(จำนวนผู้เข้าชม 2028 ครั้ง)

Messenger