เส้นทางรถไฟกรุงเทพฯ-อยุธยา เปิดบริการมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๙ เป็นเส้นทางรถไฟรุ่นแรกของสยาม อาคารสถานีรถไฟอยุธยา (เดิมชื่อสถานีกรุงเก่า) สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ เปิดใช้งานเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ ตัวอาคารเดิมสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นอาคารไม้ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ จึงเปลี่ยนเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ตามพระบรมราชวินิจฉัยในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ออกแบบก่อสร้างโดยสถาปนิกกรมรถไฟชาวอิตาเลียน นายอัลลิบาเล ริกาซซิ (A.Rigassi) สถานีรถไฟอยุธยาเป็นหนึ่งในสถานีรถไฟต้นแบบของสถานีรถไฟทั่วไปรุ่นต่อมา โดยอาคารสถานีรถไฟที่มีความสำคัญมากจะได้รับการออกแบบให้มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเฉพาะตัว เช่น อาคารสถานีรถไฟหลวงจิตรลดา, นครลำปาง, หัวหิน, กรุงเทพ (หัวลำโพง), กันตัง, อยุธยา, สงขลา และบ้านปิน เป็นต้น ส่วนอาคารสถานีรถไฟที่มีความสำคัญรองลงมาจะเป็นอาคารไม้หรือคอนกรีตแบบมาตรฐานชั้นเดียวขนาดเล็กรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนานไปกับชานชาลาและทางรถไฟ


          อาคารสถานีรถไฟอยุธยา เป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียว มีโครงสร้างกำแพงรับน้ำหนักผสมเสาคานคอนกรีตเสริมเหล็กในรูปแบบสถาปัตยกรรมคลาสสิค (Classicism) ที่มีการลดทอนรายละเอียดบางอย่าง แผนผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางขนานกับทางรถไฟ ผังอาคารแบ่งเป็น ๒ ส่วน คืออาคารสถานีและส่วนชานชาลา มีทางเข้า-ออกอยู่ทางด้านทิศตะวันตก (ด้านหน้า) โดยก่อระเบียงตลอดความยาวมีมุขยื่นออกมาเล็กน้อย โครงสร้างเป็นมุขหลังคาแบน รับด้วยเสาคอนกรีตเสาขนาดใหญ่ ส่วนด้านทิศตะวันออกของอาคารเป็นส่วนชานชาลาที่ติดกับรางรถไฟ มีหลังคายื่นออกไปจากอาคารสถานีเพื่อใช้เป็นที่พักผู้โดยสาร ภายในอาคารสถานีเป็นห้องโถง เพดานสูง แบ่งพื้นที่การใช้งานเป็นส่วนจำหน่ายตั๋วโดยสาร และที่พักผู้โดยสาร มีฝ้าเพดานทำจากไม้ ส่วนที่ต่อจากฝ้าเพดานลงมารับกับส่วนบนของผนังอาคาร ทำเป็นทรงโค้งปิดช่องว่าง มีไม้ยึดเป็นระยะ ๆ บรรยากาศภายในสถานีเน้นความโปร่งและเรียบง่าย โดยปราศจากเสาภายใน แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของโครงสร้างหลังคาแบบโครงถัก (Truss)









          พื้นที่ภายในตัวอาคารด้านทิศเหนือใช้เป็นพื้นที่สำนักงานทั้งหมด ได้แก่ ห้องประชุม ห้องรับรอง ห้องนายสถานี ห้องผู้ช่วยนายสถานี และสถานีตำรวจรถไฟอยุธยา บริเวณที่เห็นโครงสร้างภายในได้ชัดเจนคือ ห้องประชุม โครงสร้างด้านนอกและด้านในมีลักษณะเป็นซุ้มโค้งทรงครึ่งวงกลม (arch) รองรับด้วยเสาทรงสี่เหลี่ยมขนาดกลางจำนวน ๒ ต้น และเสาติดผนังอีก ๒ ต้น สำหรับถ่ายเทน้ำหนักของอาคาร ส่วนหลังคาเป็นหลังคาปั้นหยามุงด้วยกระเบื้องลอน จากการที่ส่วนอาคารสถานีและส่วนชานชาลามีหลังคาคลุมของตัวเอง อาคารนี้จึงมีหลังคาปั้นหยาแฝดและกลายเป็นเอกลักษณ์ร่วมของสถานีรถไฟต่างจังหวัดอื่น ๆ อีกด้วย





เรียบเรียง: นางสาวอลิสา ขาวพลับ นักโบราณคดีปฏิบัติการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๓ พระนครศรีอยุธยา

ที่มาข้อมูล:
สมชาติ จึงสิริอารักษ์. สถาปัตยกรรมแบบตะวันตกในสยามสมัยรัชกาลที่ ๔ - พ.ศ. ๒๔๘๐. กรุงเทพฯ : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๓. ภาพถ่ายเก่าจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

(จำนวนผู้เข้าชม 8377 ครั้ง)

Messenger