เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
พระยาจักรพรรดิราชผู้ปราบทั่วทั้งจักรวาล ที่ซุ้มปรางค์ทิศ พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม
เป็นที่ทราบกันดีว่าพระปรางค์วัดอรุณราชวราม มีแนวคิดและการวางผังการก่อสร้างโดยจำลองแบบมาจาก “ภูมิจักรวาล” องค์พระปรางค์ประธาน เปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ หรือ สิเนรุราชบรรพต ซึ่งเป็นแกนกลาง หรือศูนย์กลางของจักรวาล เป็นที่สถิตของเทพเจ้า ประกอบด้วยสวรรค์ ๖ ชั้น รูปพรหม ๑๖ ชั้น และ อรูปพรม ๖ ชั้น ในบรรดาสวรรค์ ๖ชั้นนั้น ที่สวรรค์ชั้นดา วดึงส์ มีไพชยนต์ปราสาทตั้งอยู่กลางนครไตรตรึงษ์ อันเป็นที่ประทับของพระอินทร์ ดังปรากฏรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณที่ซุ้มปรางค์ประธานทั้ง ๔ ทิศ ถัดจากแกนกลางนอกเขาพระสุเมรุ ล้อมรอบด้วย ทะเลสีทันดรซึ่งเป็นทะเลน้ำจืด สลับกับเขาสัตบริภัณฑ์ อย่างละ ๗ ชั้น ถัดจากเขาสัตบริภัณฑ์ออกไปเป็นมหาสมุทร ที่เรียกว่า โลณสาครหรือทะเลน้ำเค็ม ในโลณสาคร มีทวีปใหญ่อีก ๔ ทวีปโดยมีแผ่นดินเล็กๆหรือเกาะอีก ๕๐๐ เป็นบริวาร และระหว่างกลางทวีปใหญ่ทั้ง ๔ ยังมีทวีปเล็กอีก ๔ ทวีป เรียกว่า ยุปรทวีป โดยมีเขาจักรวาลล้อมรอบทะเลทั้งหมดนี้ไว้ เป็นกำแพงจักรวาล
ปรางค์ทิศ หรือปรางค์บริวารของพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เปรียบได้กับทวีปใหญ่ทั้ง ๔ ทวีป ได้แก่ บูรพวิเทห์ทวีป อุตตรกุรุทวีป อมรโคยานทวีป และ ชมพูทวีป แต่บ้างก็ว่า อาจหมายถึง เขายุคนธรทั้ง ๔ ทิศ ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองใหญ่ ๔ เมืองของท้าวมหาราชทั้ง ๔ หรือท้าวจตุโลกบาล
รูปบุคคลที่ซุ้มปรางค์ทิศนี้ มีลักษณะเป็นรูปบุคคลกายสีขาว แต่งเครื่องทรง ถือพระขรรค์เป็นอาวุธ มีม้าขาวเป็นพาหนะ อยู่ในซุ้มทั้งสี่ทิศ
ของปรางค์ทิศทั้ง ๔ องค์ มีลักษณะเดียวกัน ดังนั้นข้อสันนิษฐานที่ว่า ปรางค์ทิศอาจหมายถึงเขายุคนธรทั้ง ๔ ทิศ อันเป็นที่ตั้งเมืองของท้าวจตุโลกบาล อันได้แก่ ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักษ์ และท้าวเวสสุวัณ จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะแต่ละองค์จะมีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนกัน และไม่เหมือนกับรูปบุคคลที่ซุ้มปรางค์ทิศ ดังที่กล่าวมาแล้ว บ้างก็ว่ารูปบุคคลดังกล่าวหมายถึง พระพาย เนื่องจากพระพายเป็นบริวารของพระอินทร์ ซึ่งอยู่ในซุ้มที่พระปรางค์ประธาน บ้างก็ว่า หมายถึง พระจันทร์ จะมีกายสีนวล ทรงม้าขาวหรือแม้แต่อวตารปางที่ ๑๐ ของพระนารายณ์ซึ่งมีนามว่า กัลกี ซึ่งมีลักษณะกายสีขาว ทรงม้าขาว อวตารลงมาปราบยุคเข็ญ ซึ่งคล้ายคลึงกับการเกิดขึ้นของ พระยาจักรพรรดิราชผู้ปราบได้ทั่วทั้งจักรวาล
ในที่นี้จะขอกล่าวถึง พระยาจักรวรรดิราช หรือพระยาจักรพรรดิราชผู้ปราบได้ทั่วทั้งจักรวาล มีเนื้อความกล่าวไว้ในไตรภูมิ ศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน ได้นำมากล่าวโดยย่อในหนังสือเล่าเรื่องในไตรภูมิ บทมนุษภูมิเกี่ยวกับพระยาจักรพรรดิราช ไว้ว่า “...เมื่อชาติก่อนเป็นคนกระทำบุญไว้มาก ครั้นตายก็ไปเกิดในสวรรค์ แต่ลางคราวก็มาเกิดเป็นท้าวเป็นพระยา มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ ปราบได้ทั่วทั้งจักรวาล ผู้มาเกิดเป็นท้าวพระยานี้ได้พระนามว่า พระยาจักรวรรดิราช ทรงพระคุณธรรมทุกประการ มีสมทานศีล ๕ (ปัญจศีล)ทุกวันและศีล ๘ (อัฐศีล)ทุกวันทุกโอสถ มิขาด...ถ้าอายุของโลก(ในช่วงเวลา)กัลป์ใดไม่มีพระพุทธเจ้า หรือพระปัจเจกโพธิ กัลป์นั้นก็มีพระยาจักรพรรดิราชแทน... พระยาจักรพรรดิราชจะเสด็จปราบทุกข์เข็ญในทวีปทั้ง ๔ ...ประทานโอวาทให้ชาวทวีปเหล่านั้นประพฤติและตั้งอยู่แต่คุณงามความดี...” พระองค์มีของคู่พระบารมี คือ จักรรัตน์ ประดับด้วยแก้วมณี ๗ ประการ หรือที่เรียกว่า สัปตรัตน์ (จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว ดวงแก้ว นางแก้ว ขุนคลังแก้ว และขุนพลแก้ว) คำว่า จักร ซึ่งเป็นหนึ่งในแก้ว ๗ ประการของพระองค์ นอกจากจะเป็นอาวุธแล้วยังหมายถึง กงล้อแห่งธรรม เพราะพระองค์ทรงปราบทุกข์เข็ญในโลกมนุษย์โดยการเผยแพร่ธรรม โดยมีม้าแก้ว (อาจหมายรวมถึง ช้างแก้ว)ที่เหาะได้เป็นพาหนะสามารถเสด็จไปยังขอบจักรวาล และดินแดนต่างๆได้ในเวลาอันรวดเร็ว ดังที่กล่าวไว้ว่า “...ถ้าอายุของโลกกัลป์ใดไม่มีพระพุทธเจ้า หรือพระปัจเจกโพธิ กัลป์นั้นก็มีพระยาจักรพรรดิราชแทน...” และปรางค์ทิศทั้ง ๔ ถือเป็นตัวแทน ทวีปใหญ่ทั้ง ๔ ทวีปของมนุษยภูมิ นั่นเอง
ผู้เขียน : นางระวีวรรณ แสงวัณณ์ นักโบราณคดี ชำนาญการ กองโบราณคดี
บรรณนุกรม
กรมศิลปากร , กองโบราณคดี. ทะเบียนโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล.โครงการสำรวจ ขึ้นทะเบียนโบราณสถานและแหล่งโบราณคดีของชาติ. กรุงเทพฯ: โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์,๒๕๓๕ ระวีวรรณ แสงวัณณ์ ปรางค์บริวาร และรูปบุคคลที่ซุ้มปรางค์บริวาร พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร. เอกสารทางวิชาการ(อัดสำเนา) ประกอบการปรับระดับ, ๒๕๔๓ สมภพ ภิรมย์, นอ.ร.น. นารายณ์สิบปาง. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์, พิมพ์ครั้งแรก กันยายน ๒๕๓๔ สัจจาภิรมย์ , พระยา. ตำราเทวดากำเนิด. พระนคร: โรงพิมพ์อักษรเจริญทัศน์, ๒๔๙๑ สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา, ดร. น้ำ บ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมไทย. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช , ๒๕๒๙ อนุมานราชธน, ศจ. พระยา . เล่าเรื่องในไตรภูมิ. เรื่องลัทธิความเชื่อ ภาคที่ ๑, งานนิพนธ์ชุดสมบูรณ์ของ ศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน หมวด ศาสนา-ความเชื่อ เล่ม ๒-๓ กรมศิลปากร องค์การค้าคุรุสภา และมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคประทีป พิมพ์เผยแพร่ เนื่องในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี ศาสตราจารย์ พระยา อนุมานราชธน และองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ประกาศเกียรติคุณเป็น “บุคคลที่มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก” วันที่ ๑๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว, ๒๕๓๓
(จำนวนผู้เข้าชม 7997 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน