ศิลาจารึกหลักที่ ๔๙ (จารึกวัดสรศักดิ์)
หินชนวน ศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ ๒๐ (พ.ศ. ๑๙๖๐)
พบที่ริมตระพังสอ เมืองโบราณสุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ศิลาจารึกวัดสรศักดิ์ จารึกด้วยอักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย เมื่อปีพุทธศักราช ๑๙๖๐ ขุดได้จากการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานบริเวณตระพังสอ ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ภายในเมืองเก่าสุโขทัย
ปัจจุบันเรียกโบราณสถานแห่งนี้ว่าวัดสรศักดิ์ มีขนาดกว้าง ๑๐๓ ซม. สูง ๑๔๕ ซม. ลักษณะเป็นใบเสมาขนาดใหญ่ สภาพเกือบสมบูรณ์ จารึกข้อความเพียงด้านเดียว จำนวน ๓๕ บรรทัด ข้อความในศิลาจารึกกล่าวถึง นายอินทสรศักดิ์ขอพระราชทานที่ดินจากออกญาธรรมราชา เพื่อสร้างพระอารามถวายเป็นพระราชกุศลในปีพ.ศ. ๑๙๕๕ นิมนต์พระมหาเถรธรรมไตรโลกมาจำพรรษา มีการสร้างมหาเจดีย์มีช้างรอบ ประกอบด้วยพระเจ้าหย่อนตีน พระวิหาร และหอพระ นอกจากนั้นยังกล่าวถึงพิธีการเฉลิมฉลองวัด และการพระราชทานที่นาของหมู่บ้านต่างๆ ให้กับวัด (การกัลปนา) ด้านที่ ๒ เป็นภาพลายเส้นรูปพระพุทธรูปลีลา (พระเจ้าหย่อนตีน) ซึ่งอาจเป็นเหตุการณ์ครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีพระสาวก และเทวดาประนมมือขนาบข้าง ขอบโดยรอบสลักเป็นลายเกล็ดพระยานาค ลายกลีบบัว ส่วนฐานสลักเป็นลายกนก
ภาพ - ข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง
(จำนวนผู้เข้าชม 2753 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน