จากศิลาธรรมชาติสู่ปราสาทพนมรุ้งอันวิจิตร
ปราสาทเขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ สร้างขึ้นเนื่องในวัฒนธรรมเขมรโบราณ มีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 – 18 หรือเมื่อประมาณ 800 – 1,100 ปีมาแล้ว มีแผนผังมุ่งสู่จุดศูนย์กลางและใช้วัสดุก่อสร้างหลายชนิด ได้แก่ อิฐ ศิลาทราย ศิลาแลง ไม้ และกระเบื้องดินเผา อาคารส่วนใหญ่ของปราสาทพนมรุ้งล้วนสร้างด้วยหินทราย โดยมีแหล่งหินที่ใกล้ที่สุดอยู่ในพื้นที่ของบ้านสายตรี 3 ตำบลปราสาท อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขาพนมรุ้งประมาณ 23 กิโลเมตร บริเวณนั้นมีเขาลูกเล็ก ๆ เรียกว่า “เขากลอยและเขามะกอก” ที่กลางไหล่เขาทั้งสองมีร่องน้ำเรียกว่า “ห้วยมะไฟ” พื้นที่โดยทั่วไปพบร่องรอยการเซาะ สกัด และขุดหินทรายเป็นร่องรอยขนาดต่าง ๆ รวมทั้งมีก้อนหินทรายที่ตัดแต่งแล้วกระจายอยู่ทั่วไป
นักธรณีวิทยาให้ความเห็นว่าหินทรายจากบริเวณดังกล่าวมีลักษณะคล้ายคลึงกับที่ใช้สร้างปราสาทพนมรุ้งและปราสาทเมืองต่ำทุกประการ นั่นคือเป็นหินทรายสีชมพู ที่มีเม็ดทรายเป็นแร่ควอตซ์ (Quartz) เม็ดทรายขนาดปานกลาง การประสานตัว (การเกาะตัว) ค่อนข้างดี ทำให้เนื้อแน่น (แข็ง) และค่อนข้างเหนียว จัดอยู่ในหินทรายหมวดหินพระวิหาร (Phra Wihan Formation) ซึ่งเป็นหน่วยหนึ่งในหินชุดโคราช (Khorat Group) //นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าในกระบวนการตัดหิน เริ่มต้นจากการปรับหน้าหินให้เรียบ จากนั้นเซาะร่องบนหินด้วยสิ่วปลายแหลม แล้วใช้ลิ่มสอดบนร่องใช้ค้อนทุบลงไปบนลิ่ม หินจะแยกออกจากกันเป็นก้อน แล้วจึงเคลื่อนย้ายไปสร้างปราสาท โดยกระบวนการตัดหินจะเริ่มทำในช่วงต้นฤดูแล้ง แล้วกลิ้งหินลงไปตามความลาดชันของไหล่เขาลงสู่ห้วยมะไฟ เมื่อเข้าฤดูฝนห้วยมะไฟเริ่มมีน้ำไหลหลาก คนโบราณอาจใช้ไม้ไผ่ทำเป็นแพแล้วงัดหินขนาดต่าง ๆ ขึ้นบนนั้นรอจนปริมาณน้ำมีมากและสูงขึ้น จึงล่องแพไปตามสายน้ำ โดยมีผู้ควบคุมค้ำยันให้แพล่องจนเข้าลำปะเทียแล้วเข้าคลองปูนทางทิศใต้ของเขาพนมรุ้ง จากนั้นจึงหยุดแพแล้วงัดก้อนหินขึ้นบกโดยใช้แรงงานของคนและสัตว์เช่น ช้าง ม้า ชักลากขึ้นสู่บริเวณสถานที่ก่อสร้าง
บนปราสาทพนมรุ้งพบร่องรอยการก่อสร้างในขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่การนำหินที่เคลื่อนย้ายจากแหล่งตัดมาเรียงให้เป็นรูปร่าง โดยวางเหลื่อมกันเล็กน้อยให้น้ำหนักของหินแต่ละก้อนกดทับกันโดยไม่ต้องใช้วัสดุสอ จากนั้นตัดและขัดหน้าแท่งหินทรายให้เสมอกัน แล้วจึงลงมือแกะสลักลวดลาย ขั้นตอนที่กล่าวมานี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนที่ระเบียงคตด้านทิศใต้ของปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการสร้างปราสาทหินได้เป็นอย่างดี
จากหินทรายธรรมชาติ ผ่านกระบวนการต่าง ๆ มากมาย ผนวกกับความเชื่อทางศาสนาและแรงศรัทธาของผู้สร้าง ได้ก่อให้เกิด “ปราสาทเขาพนมรุ้ง” ที่มีความสวยงามน่าทึ่ง ถึงแม้ในอดีตเทคโนโลยีจะยังไม่เจริญก้าวหน้าแต่ก็สามารถสร้างปราสาทหินที่มีขนาดใหญ่โตได้ นับเป็นภูมิปัญญาอันล้ำเลิศของคนโบราณ และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติที่น่าภาคภูมิใจ
ผู้เรียบเรียง:
นายกฤษณพงศ์ พูนสวัสดิ์ นักโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
เอกสารอ้างอิง:
กรมศิลปากร, รายงานการขุดแต่งโบราณสถานปราสาทเมืองต่ำ และการขุดตรวจเพื่อค้นหาแหล่งชุมชนโบราณบริเวณโดยรอบปราสาทเมืองต่ำ, 2536. สำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา, การสร้างปราสาทหินฉบับการ์ตูน, 2558. หม่อมราชวงศ์สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, ปราสาทเขาพนมรุ้ง ศาสนบรรพตที่งามที่สุดในประเทศไทย, 2536.
(จำนวนผู้เข้าชม 15090 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน