พระพิมพ์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี ด้านทิศตะวันตก บริเวณศูนย์กลางของเมืองโบราณสุพรรณบุรี ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี วัดพระศรีรัตนมหาธาตุไม่มีหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด จากรูปแบบศิลปกรรมสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น (พ.ศ. ๑๘๙๓ – ๑๙๙๑)ภายในวัดประกอบด้วยโบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่ พระปรางค์ ซึ่งเป็นเจดีย์ประธานของวัด เจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม จำนวน ๒ องค์ อุโบสถ วิหารน้อย และซากเจดีย์รายจำนวน ๒ องค์


ภายในพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุได้มีการค้นพบพระพิมพ์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของจังหวัดสุพรรณบุรี พระพิมพ์ที่มีชื่อเสียงและได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในชุด “พระเบญจภาคี” คือ พระผงสุพรรณ ทำด้วยดินเผา สามารถแบ่งพิมพ์ได้เป็น ๓ พิมพ์ ซึ่งนักสะสมพระพิมพ์นิยมเรียกกันตามลักษณ์ของพระพักตร์ว่า “พระผงสุพรรณพิมพ์หน้าแก่” “พระผงสุพรรณพิมพ์หน้ากลาง” และ “พระผงสุพรรณพิมพ์หน้าหนุ่ม” พระผงสุพรรณเป็นพระพิมพ์แสดงปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานเชียงเตี้ยๆ ประดิษฐานภายในซุ้มเรือนแก้ว พระพักตร์ยาว สวมเครื่องประดับพระเศียร พระขนงโก่งโค้ง พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์แย้มพระสรวล พระอุระนูน เป็นที่น่าสังเกตว่า ด้านหลังของพระผงสุพรรณทุกองค์ มักปรากฎรอยนิ้วมืออย่างชัดเจน ซึ่งอาจเป็นวิธีการกดพิมพ์พระ เพื่อเน้นย้ำให้ติดรายละเอียดชัดเจนยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังมี “พระมเหศวร” ซึ่งเป็นพระพิมพ์ปางมารวิชัย มีสองด้าน หันพระเศียรขึ้น – ลง สลับทางกัน “พระขุนแผนหลังผาน” เป็นพระพิมพ์ปางมารวิชัยอยู่ในกรอบพิมพ์สามเหลี่ยม ด้านหลังปรากฏองค์พระพุทธรูปเล็กๆ อยู่ในเส้นกรอบสามเหลี่ยมลักษณะคล้ายผานไถนา พระพิมพ์ลีลาเรียกกันว่า “พระกำแพงนิ้ว” และ “พระกำแพงศอก” แบบเดียวกับที่พบภายในเจดีย์ทรงระฆังของวัดชุมนุมสงฆ์ โดยเฉพาะพระพิมพ์ที่เรียกว่า “พระปทุมมาศ” เป็นพระพิมพ์ปางสมาธิ ประทับบนฐานบัวและปรากฏเส้นรัศมีคล้ายกลีบดอกไม้รอบองค์พระนั้น เป็นที่นิยมและยกย่องในด้านศิลปะการแกะแม่พิมพ์ที่สวยงาม







ข้อมูลอ้างอิง
นิภา สังคนาคินทร์. (๒๕๕๘). หนังสือนำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี. หน้า ๙๐ – ๙๒ สำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี. วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี. สืบค้นเมื่อ ๒ เมษายน ๒๕๖๓, จาก http://www.finearts.go.th/fad2/parameters/km/item/วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ%20สุพรรณบุรี% 20%20.html สยามรัฐ. แยกพิมพ์พระผงสุพรรณ (๒). สืบค้นเมื่อ ๒ เมษายน ๒๕๖๓, จาก https://siamrath.co.th/n/44668 ภาพวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ.สืบค้นเมื่อ ๒ เมษายน ๒๕๖๓, จาก http://www.suphan.biz/WatPraSri.htm ภาพพระเบญจภาคี.สืบค้นเมื่อ ๒ เมษายน ๒๕๖๓, จากhttps://palungjit.org/threads/ชุดพระเบญจภาคี. 634178/
เรียบเรียงข้อมูล โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี
(จำนวนผู้เข้าชม 33105 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน