พระพิมพ์ดินเผาแสดงพระพุทธประวัติตอนเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์
พระพิมพ์ดินเผาแสดงพระพุทธประวัติตอนเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ศิลปะสุโขทัย  พุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐
          พระพิมพ์ดินเผานี้ได้จากวัดป่ามะม่วง นอกเมืองโบราณสุโขทัยทางทิศตะวันตก สิบตำรวจตรีเลื่อน ปรากฏวงศ์ มอบให้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ปัจจุบันจัดแสดงที่ห้องพระพิมพ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง


          ลักษณะสัณฐานรูปไข่ แสดงพระพุทธประวัติตอนเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์กลางภาพ เป็นรูปเจ้าชายสิทธัตถะทรงม้ากัณฐกะ มีนายฉันนะตามเสด็จฯ เบื้องหลัง แวดล้อมด้วยเทวดา ๔ องค์ รองรับเท้าม้าทั้ง ๔ เท้า และเทวดาประนมหัตถ์บูชา คำว่า มหาภิเนษกรมณ์ หมายถึง การออกบวชครั้งยิ่งใหญ่ คือการเสด็จออกของพระโพธิสัตว์ก่อนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงเบื่อหน่ายในโลกียวิสัย ถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติอย่างเหลือล้น พระองค์ก็ยังคงตริตรองถึงชีวิตคน ฝักใฝ่พระทัยคิดค้นหาวิธีทางดับทุกข์ที่มนุษย์เรามีมากมาย พระองค์คิดว่า ถ้ายังอยู่ในเพศฆราวาส พระองค์คงหาทางดับทุกข์ อันเกิดจากเกิด แก่ เจ็บ และความตายไม่ได้ จึงตัดสินพระทัยเสด็จออกบรรพชา ตามคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนากล่าวว่าได้เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ (Kapilavatthu) โดยทรงม้ากัณฐกะ มีนายฉันนะตามเสด็จฯ เมื่อถึงฝั่งแม่น้ำอโนมา ได้ทรงเปลื้องเครื่องทรงขัตติย-ราชทั้งหมดพระราชทานให้นายฉันนะ และทรงตัดพระเมาฬี (พระเมาลี,โมลี, หรือมวยผม) การแสดงภาพเทวดาในเหตุการณ์ตอนนี้ แสดงให้เห็นว่าเหล่าเทวดาล้วนยินดีและสนับสนุนในการตัดสินพระทัยออกบรรพชาของพระองค์
          กรุงกบิลพัสดุ์ (Kapilavatthu) เป็นชื่อเมืองหลวงของแคว้นสักกะ มีพระเจ้าสุทโธทนะ พระบิดาของพระพุทธเจ้า เป็นผู้ปกครอง ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเนปาล ติดชายแดนตอนเหนือประเทศอินเดีย กบิลพัสดุ์ แปลตามศัพท์ว่า “ที่อยู่ของกบิลดาบส”เพราะบริเวณที่ตั้งเมืองนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของดาบสชื่อ กบิล พวกเจ้าศากยะได้ มาจับจองตั้งเป็นเมืองขึ้นและตั้งชื่อเมืองใหม่นี้ว่ากบิลพัสดุ์ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่กบิลดาบส

ที่มา : ฐานข้อมูลทางศิลปวัฒนธรรม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง
ดาวน์โหลดไฟล์: พระพิมพ์ดินเผา.jpeg

(จำนวนผู้เข้าชม 2273 ครั้ง)

Messenger