เครื่องถ้วยเวียงกาหลง
          เครื่องถ้วยเวียงกาหลงมีแหล่งผลิตอยู่ที่ตำบลหัวฝาย อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย บริเวณลำน้ำลาว บริเวณบ้านป่าส้าน และบ้านทุ่งม่าน ลักษณะของเตาเผาเป็นเตาชนิดระบายความร้อนผ่านในแนวนอน ขุดเข้าไปในเนินดิน


          ลักษณะเด่นของเครื่องถ้วยจากแหล่งเตานี้มักมีน้ำหนักเบา เนื่องจากเนื้อดินที่ใช้ปั้นภาชนะมีความละเอียด และสามารถขึ้นรูปได้บางกว่าเครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งเตาอื่นๆ ที่พบในประเทศไทย เนื้อดินมีสีขาว สีเหลืองนวล และสีเทา น้ำเคลือบบางใส และรอนรานเป็นรอยเล็กละเอียด เครื่องถ้วยเวียงกาหลงมักเคลือบถึงบริเวณขอบเชิง บางใบมีการเคลือบก้นด้วย รูปทรงของเครื่องถ้วยที่ผลิต ได้แก่ จาน ชาม แจกัน โถ ผางประทีป ถ้วย รวมถึงตัวหมากรุก และตุ๊กตารูปสัตว์ต่างๆ
          แหล่งเตาเวียงกาหลงจะผลิตเครื่องถ้วย 4 ประเภท คือ ประเภทเขียนลายสีดำใต้เคลือบ ประเภทเคลือบใส ประเภทเคลือบสีเขียว และประเภทเคลือบสีน้ำตาล
          ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเครื่องถ้วยเวียงกาหลงประเภทเขียนลายสีดำใต้เคลือบ ได้แก่ ลายกลีบดอกไม้หรือใบไม้ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ลายกา” นอกจากนี้ยังพบลายช่อดอกไม้ ลายพันธุ์พฤกษา ลายดอกไม้ก้านขด ลายรูปสัตว์ รวมทั้งลายที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลจากภายนอก เช่น ลายเก๋งจีน ลายภูมิประเทศ ลายกิเลน เป็นต้น
          ส่วนเครื่องถ้วยเวียงกาหลงประเภทเคลือบใสมักตกแต่งด้วยการขูดขีดลายซี่หวีหรือกลีบดอกไม้ลักษณะต่างๆ เครื่องถ้วยเวียงกาหลงมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 20 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 22

ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน

(จำนวนผู้เข้าชม 6920 ครั้ง)

Messenger