พระพิมพ์รูปพระสาวกมีจารึก จากเจดีย์หมายเลข ๑๑ เมืองโบราณอู่ทอง
           พระพิมพ์ดินเผา จำนวน ๘ องค์ ได้จากการขุดแต่งโบราณสถานหมายเลข ๑๑ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองโบราณอู่ทองไปทางทิศตะวันตก ใกล้เชิงเขาทำเทียม ในพื้นที่ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี พบพร้อมกับธรรมจักร แท่นและเสาตั้ง พระพุทธรูปสำริด และประติมากรรมดินเผารูปพระเจ้าสุทโธทนะ















          รูปแบบศิลปกรรมของพระพิมพ์ทั้ง ๘ องค์ บางองค์มีสภาพสมบูรณ์สามารถศึกษารูปแบบศิลปกรรมได้ บางองค์ชำรุดเหลือเฉพาะส่วนฐาน สันนิษฐานว่า พระพิมพ์ทุกองค์น่าจะมีรูปแบบเดียวกัน คือเศียรไม่มีอุษณีษะเหมือนพระพุทธรูป ดังนั้นจึงได้รับการตีความว่าเป็นรูปพระสาวก มีพักตร์กลม ขนงต่อกันเป็นรูปปีกกา นาสิกแบน โอษฐ์แบะ ครองจีวรห่มเฉียง หัตถ์ทั้งสองประสานกันในท่าสมาธิ นั่งขัดสมาธิเพชร บนฐานหน้ากระดานเรียบ แผ่นหลังอยู่ในกรอบสามเหลี่ยมปลายมน พระพิมพ์รูปแบบนี้ยังพบที่เจดีย์พุหางนาคหมายเลข ๑ ซึ่งตั้งอยู่บนเทือกเขารางกะปิด ในพื้นที่ตำบลอู่ทอง ด้วย
          ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับพระพิมพ์ในกลุ่มนี้คือ ด้านหลังพระพิมพ์จำนวน ๗ องค์ มีจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาบาลี กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๒ (ราว ๑,๔๐๐ ถึง ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว) แต่ละองค์มีจารึกแตกต่างกัน ซึ่งเป็นพระนามของพระสาวก ได้แก่ สาริปุตโต, เมตฺเตยฺยโก, มหาก…, โกลิวีโส, กงฺขาเร..., ...รนฺโต, และ ...ธ... ซึ่งตรงกับนามพระสาวกในกลุ่ม “พระอสีติมหาสาวก” หมายถึงพระสาวกสำคัญ คือ พระอสีติมหาสาวก จำนวน ๘๐ รูป ของพระพุทธเจ้าในคัมภีร์ภาษาบาลีของพุทธศาสนานิกายเถรวาท ดังนี้
          สาริปุตฺโต คือ พระสารีบุตร
          มหาก … หมายถึง มหากสฺสโป หรือ มหากจฺจายโน คือ พระมหากัสสปะ หรือ พระมหากัจจายนะ
          โกลิวีโส หมายถึง โสโณ โกฬิวิโส คือ พระโสณโกฬิวิสะ
          กงฺขาเร... หมายถึง กงฺขาเรวโต คือ พระกังขาเรวตะ
          ...รนฺโต หมายถึง ปุณโณ สุนาปรนฺโต คือ พระปุณณะสุนาปรันตะ
          ...ธ... ไม่สามารถระบุได้

          ส่วนพระพิมพ์มีจารึกว่า เมตฺเตยฺยโก อาจการแปลความได้ ๒ แบบ คือ ๑. หมายถึง พระศรีอาริยเมตไตรย พระอนาคตพุทธ ผู้ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป แต่มีข้อสังเกตว่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงเวลาดังกล่าว (พุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๒) ไม่นิยมสร้างพระศรีอาริยเมตไตรยในรูปลักษณ์ของพระสงฆ์ แต่พระพิมพ์องค์นี้อาจเป็นความนิยมเฉพาะท้องถิ่นก็เป็นได้ ๒. หมายถึง พระติสสเมตเตยยะ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาวกกลุ่ม “พระอสีติมหาสาวก” เช่นเดียวกับจารึกด้านหลังพระพิมพ์องค์อื่น ๆ แต่มีข้อสังเกตว่า นามที่ปรากฏในคัมภีร์คือ ติสฺสเมตฺเตยฺโย ซึ่งมีความแตกต่างจากจารึก เมตฺเตยฺยโก อยู่เล็กน้อย
          ปัจจุบันพระพิมพ์กลุ่มนี้จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

เอกสารอ้างอิง
           ธนกฤต ลออสุวรรณ. การศึกษาคติความเชื่อของชุมชนโบราณสมัยทวารวดีในลุ่มแม่น้ำแม่กลองและท่าจีน : กรณีศึกษาจากพระพิมพ์ดินเผา. วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม. (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์))--มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๖.
           ปีเตอร์ สกิลลิ่งและศานติ ภักดีคำ. จารึกพระสาวกและจารึกพระเจ้าศุทโธทนะพบใหม่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี. เอกสารประกอบการประชุมสัมมนาเรื่องความก้าวหน้าในการศึกษาโบราณคดีและเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดี. สุพรรณบุรี : สำนักงานศิลปากรที่ ๒, ๒๕๔๖. ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง



ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

(จำนวนผู้เข้าชม 2268 ครั้ง)

Messenger