นเรนทราทิตย์ผู้เนรมิตเขาพนมรุ้งดุจดั่งเขาไกรลาศ
          ปราสาทพนมรุ้ง ศาสนสถานเนื่องในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ที่มีประวัติพัฒนาการในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๘ โดยกำหนดอายุสมัยจากศิลาจารึกและรูปแบบศิลปกรรมที่แบ่งออกได้ถึง ๔ ระยะ และอาจกล่าวได้ว่า ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ถือเป็นสมัยที่รุ่งเรืองที่สุดของการสร้างศาสนสถานบนเขาพนมรุ้ง เพราะมีการสถาปนาปราสาทประธานและอาคารสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ อยู่ในรูปแบบแผนผังที่แสดงถึงการจำลองเขาไกรลาสที่ประทับของพระศิวะมาไว้บนโลกมนุษย์อย่างชัดเจน



          “นเรนทราทิตย์” คือพระนามที่ปรากฏในจารึกช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ว่าพระองค์คือผู้สร้างปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งที่ผ่านมายังไม่พบว่าปรากฏพระนามนี้อยู่ในจารึกหลักใด นอกจากจารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง





          พระนาม “นเรนทราทิตย์” มาจากคำว่า นเรนทร + อาทิตย์ คำว่า “นเรนทร” หมายถึง พระราชา ส่วนคำว่า “อาทิตย์” ก็คือ พระอาทิตย์ รวมกันแล้วจึงหมายถึง พระราชาแห่งดวงอาทิตย์ หรือผู้ยิ่งใหญ่ประดุจดั่งดวงอาทิตย์ และเป็นที่น่าสังเกตว่าความหมายที่เกี่ยวเนื่องกับพระอาทิตย์นี้ยังปรากฏในพระนามของกษัตริย์ในวัฒนธรรมเขมรโบราณด้วย เช่น พระเจ้าสุริยวรมัน พระเจ้าอุทัยทิตยวรมัน เป็นต้น





           ความในจารึกพนมรุ้งหลักที่ ๗, ๘ และ ๙ กล่าวว่า นเรนทราทิตย์เป็นโอรสของพระนางภูปตินทรลักษมี เป็นผู้มีสติปัญญาหลักแหลม มีความสามารถในการรบ ได้เข้าร่วมรบกับกองทัพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ในการรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่น นเรนทราทิตย์คงได้รับความดีความชอบเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ปกครองเมืองแห่งดินแดน “มหิธรปุระ” ----- พระองค์ทรงสร้างปราสาทประธาน ประดิษฐานรูปเคารพ สร้างงานศิลปกรรมที่ปรากฏเป็นลวดลายสลักต่าง ๆ เช่น หน้าบันและทับหลัง ที่ล้วนแสดงให้เห็นว่ามีความประสงค์ที่จะสร้างเป็นเทวาลัยแห่งพระศิวะ มีศิวลึงค์เป็นองค์ประธาน และยังมีการนับถือเทพองค์อื่น ๆ ซึ่งอยู่ในสถานะเทพชั้นรอง นอกจากนี้ข้อความในจารึกยังกล่าวว่า “นเรนทราทิตย์ได้สร้างปราสาทแห่งนี้เพื่อประดิษฐานรูปเคารพของตนเอง เพื่อเตรียมไว้สำหรับการเข้าไปรวมกับเทพที่ทรงนับถือหลังจากสิ้นพระชนม์”



           พระองค์ทรงทำนุบำรุงศาสนา อุปถัมภ์พราหมณ์ ดาบส โยคี เช่น ทรงสร้างสระน้ำ สร้างทางเดินแด่พระดาบสให้ทอดไปตามสันเขาเพื่อข้ามน้ำ ถวายทรัพย์ ข้าทาส ที่ดิน และเครื่องบวงสรวงทุกวันแด่เทวาลัย ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาอันแรงกล้า ในลัทธิไศวนิกาย แบบปศุปตะ พระองค์จึงออกบวชถือองค์เป็นนักพรตจวบจนวาระสุดท้าย โอรสของพระองค์คือ “หิรัณยะ” เป็นผู้ให้จารึกเรื่องราวเพื่อสรรเสริญเกียรติคุณของพระบิดา และได้ให้ช่างหล่อรูปของนเรนทราทิตย์ด้วยทองคำ  
        นอกจากเนื้อความในจารึกแล้ว ยังปรากฏภาพสลักสำคัญอยู่บนทับหลังประตูชั้นที่สองมุขด้านทิศใต้ของปราสาทประธาน ที่สันนิษฐานกันว่าเป็นภาพ “พิธีอภิเษกนเรนทราทิตย์” ตรงกลางเป็นรูปบุคคลฉลองพระองค์อย่างกษัตริย์ แวดล้อมด้วยเหล่าข้าราชบริพาร อาจหมายถึงพิธีอภิเษกนเรนทราทิตย์เป็นฤาษีหลังจากเสด็จจากเมืองพระนคร เพื่อมาบำเพ็ญพรต ณ เขาพนมรุ้งตามความในศิลาจารึกพนมรุ้ง ๗ (หรือ K ๓๘๔) ที่กล่าวว่า “พระองค์ผู้ปราศจากมลทิน...ไปแล้วกับหมู่คนผู้เป็นชาวนคร” สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) ทรงวิเคราะห์ว่า “นคร” ในที่นี้คงหมายถึง เมืองพระนครอันเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรเขมรโบราณ เนื่องจากศิลาจารึกซึ่งค้นพบในประเทศกัมพูชาหลายหลักเรียกเมืองพระนครว่า “นคร”



          ปัจจุบัน เรื่องราวของนเรนทราทิตย์ ผู้สร้างปราสาทพนมรุ้ง ได้รับการถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของการแสดง แสง สี เสียง เนื่องในงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง ซึ่งจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนเมษายนของทุกปี 
-----------------------------------------

ผู้เรียบเรียง: นางสาวสุรีรัตน์ ทองภู นักโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

เอกสารอ้างอิง:
กรมศิลปากร, ปราสาทพนมรุ้ง, ๒๕๕๑.
กรมศิลปากร, อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ, ๒๕๕๗.
ชะเอม แก้วคล้าย, จารึกปราสาทหินพนมรุ้งที่พบใหม่ จารึกปราสาทหินพนมรุ้ง ๘, ๒๕๓๐.
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง, ๒๕๒๑.
หม่อมราชวงศ์สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, ปราสาทเขาพนมรุ้งศาสนบรรพตที่งดงามที่สุดในประเทศไทย, ๒๕๓๖.

(จำนวนผู้เข้าชม 9019 ครั้ง)

Messenger