เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
แผ่นศิลายันต์ ป้อมเทเวศร์บริรักษ์ กำแพงเมืองสงขลา
แผ่นศิลายันต์
วัสดุ หินแกรนิต
สมัยรัตนโกสินทร์ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 24
ที่มา พบบริเวณป้อมเทเวศร์บริรักษ์ มุมกำแพงเมืองสงขลาด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ในราวปี พ.ศ. 2496 ปัจจุบันเก็บรักษา ณ วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
แผ่นหินแกรนิต รูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัต ขนาด 44 x 44 เซนติเมตร หนา 8 เซนติเมตร ปรากฏการจารึกบนแผ่นหินเป็นรูปตาราง ตัวเลข และอักขระ โดยนายจรัญ ทองวิไล นักภาษาโบราณ หอสมุดแห่งชาติกาญจนาภิเษก สงขลา ได้ทำการศึกษา และสรุปโดยสังเขปว่า แผ่นจารึกนี้จารึกยันต์ที่เรียกว่า “ยันต์สี่” โดยด้านข้างยันต์ทั้งสี่ด้านมีอักขระกำกับไว้ ได้แก่ ด้านที่ 1 สักกัสสะ วชิราวุธัง แปลว่า พระอินทร์มีสายฟ้าเป็นอาวุธ ด้านที่ 2 เวสสุวัณณัสสะ คฑาวุธัง แปลว่า ท้าวเวสสุวรรณมีคฑาเป็นอาวุธ ด้านที่ 3 ยะมัสสะ นะยะนาวุธัง แปลว่า พระยมมีนัยน์ตาเป็นอาวุธ ด้านที่ 4 อาฬะวะกัสสะ ทุสสาวุธัง แปลว่า อาฬวกยักษ์มีผ้าเป็นอาวุธ
รูปแบบการจัดวางอักขระดังกล่าว มีความสัมพันธ์กับยันต์ “โสฬสมหามงคล” ที่มีการนำเอานามเทวดาและนามศาสตราวุธ 4 ชนิด ลงไว้ตามด้านต่าง ๆ ยันต์นี้มีไว้สำหรับขับไล่ภูติผีปีศาจ ทำลายไสเวทย์คาถาอาคม วัตถุอาถรรพ์ทุกชนิด กันฟ้า กันไฟ กันโจร และอุปัทวันตรายทั้งปวง ส่วนตัวเลขในช่องตารางทั้ง 37 ช่อง นั้นเป็นปริศนาธรรม หมายถึงโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ อันจะนำเวไนยสัตว์ (สัตว์ผู้ควรแก่การแนะนำสั่งสอน) ผู้ประพฤติตามให้ถึงซึ่งพระนิพพาน
แผ่นศิลายันต์ ถูกค้นพบบริเวณหัวมุมกำแพงเมืองสงขลาด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ อันเป็นตำแหน่งของป้อม “เทเวศร์บริรักษ์” ในคราวที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ได้เข้ามาใช้พื้นที่ในการตั้งชุมสายโทรศัพท์จังหวัดสงขลา เมื่อราวปี พ.ศ. 2496 โดยได้มีการรื้อป้อมเทเวศร์บริรักษ์ทั้งหมด และกำแพงเมืองด้านทิศเหนือที่ติดกับป้อมไปบางส่วน สันนิษฐานว่า แผ่นศิลายันต์ดังกล่าวถูกสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2379 เมื่อครั้งที่พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ก่อสร้างป้อมและกำแพงเมืองสงขลา ตามพระราชโองการของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) และแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2385
ทั้งนี้ กำแพงเมืองสงขลาได้มีการซ่อมแซมตลอดมา และได้เริ่มมีการรื้อถอนโดยพระยาสุขุมนัยวินิต ข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราช ในปี พ.ศ. 2442 เพื่อขยายเมือง และ ตัดถนน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกำแพงเมืองสงขลาหลงเหลือเพียงด้านทิศเหนือบริเวณถนนจะนะ และด้านทิศตะวันตกบริเวณถนนนครนอก โดยกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2478 และ 21 กันยายน 2519
ความอนุเคราะห์ข้อมูล: นายสารัท ชลอสันติสกุล นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม
อ้างอิง:
1. ณัฐธัญ มณีรัตน์. เลขยันต์ : แผนผังอันศักดิ์สิทธิ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ดรีม แคชเชอร์ กราฟฟิค, 2553.
2. สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา. สารัท ชลอสันติสกุล. รายงานการขุดทางโบราณคดีกำแพงเมืองสงขลาบริเวณถนนนครนอก. ม. ป. ท : ม. ป. ท., 2563 (พิมพ์ในโครงการขุดแต่งเพื่อออกแบบบูรณะกำแพงเมืองสงขลา พุทธศักราช 2560)
เรียบเรียง/ ถ่ายภาพ/ กราฟฟิก : นางสาวธีรนาฎ มีนุ่น ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
(จำนวนผู้เข้าชม 1464 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน