เครื่องมือช่วยการเข้าถึง
color contrast
text size
highlighting content
zoom in


จดหมายเหตุว่าด้วยเรื่อง "ระบาดวิทยาโรคาปาฐ" ในมณฑลจันทบุรี ตอน ไข้ทรพิษหรือฝีดาษ มหันตภัยจากเชื้อไวรัส
          ไข้ทรพิษหรือฝีดาษ เป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อไวรัส สามารถติดต่อผ่านได้จากการสัมผัสหรือการหายใจรดกัน เป็นโรคที่มีการระบาดรุนแรงและรวดเร็ว มีการกล่าวถึงโรคชนิดนี้มากว่า ๒,๐๐๐ ปี ส่วนในไทยเริ่มปรากฏหลักฐานช่วงสมัยอยุธยา ระบุว่ามีการระบาดและทำลายชีวิตคนเป็นจำนวนมาก ซิมอง เดอ ลาลูแบร์ ราชฑูตฝรั่งเศสในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ถึงระบุว่า "โรคห่า"ของไทยที่แท้จริงคือ"โรคไข้ทรพิษ"นั่นเอง
          มาถึงสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ "หมอบรัดเล" ได้เข้ามาเมืองไทยในฐานะแพทย์มิชชันนารีสังกัดคณะมิชชันนารีอเมริกัน ได้ทำการปลูกฝีให้คนไทย ช่วยรักษาชีวิตราษฎรไว้เป็นจำนวนมากอีกทั้งเขียนตำรา"ปลูกฝีโคให้กันโรคธระพิศม์ไม่ให้ขึ้นได้"ซึ่งช่วยให้การสาธารณสุขของไทยมีความก้าวหน้าได้ระดับหนึ่ง และประการสำคัญพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ให้ความสำคัญในเรื่องนี้
          ต่อมาในพ.ศ. ๒๔๕๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตรา"พระราชบัญญัติจัดการป้องกันไข้ทรพิษ พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ " เพื่อเป็นกฏหมายบังคับใช้ทั่วประเทศให้คนไทยทุกคนต้องปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ โดยเริ่มในทารกตั้งอายุ ๖ เดือนเป็นต้นไป
          การปลูกฝีไข้ทรพิษตามที่ปรากฏในเอกสารจดหมายเหตุ ระหว่าง พ.ศ.๒๔๕๑ -๒๔๗๓ ทำให้เห็นว่ารัฐได้พยายามป้องกันและรักษาโรคอย่างต่อเนื่องได้แก่
          ๑.ออกหนังสือป้องกันโรค
          ๒.จำหน่ายและแจกยาโรยฝีหนองของโอสถสภา
          ๓.ออกใบปลิวทั้งภาษาไทยและภาษาจีน
          ๔.ให้แพทย์หลวงและแพทย์ตำบลออกไปปลูกฝีหนองตามหมู่บ้าน และกำชับให้ราษฎรมาปลูกฝีซ้ำหากปลูกครั้งแรกไม่ขึ้น
          ๕.วางระเบียบการเบิกฝีหนอง ถ้าไม่ได้รับในเวลาสมควรต้องรีบแจ้งกรมสาธารณสุขโดยด่วนเพราะฝีหนองอาจหมดอายุได้








          เห็นได้ว่ารัฐพยายามควบคุมการระบาดของโรคนี้อย่างต่อเนื่อง จากแบบรายงานประจำปี พ.ศ.๒๔๗๒ ของสาธารณสุขมณฑล แจ้งเสนอไปยังสมุหเทศาภิบาลมณฑล ความว่า"...ในมณฑลนี้มีพลเมืองทั้งสิ้น ๑๖๖,๖๖๕ คน ได้มีการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ รวม๒๖,๔๔๑ คน โดยแพทย์สาธารณสุขปลูกให้และปลูกโดยเงินบำเหน็จ(จ้างแพทย์เชลยศักดิ์และแพทย์ตำบล โดยคิดค่าบำเหน็จให้วันละ ๑บาท)..." ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ มีรายงานจากขุนประสาทประสิทธิการ นายอำเภอมะขาม แจ้งมายังสมุหเทศาภิบาลมณฑลจันทบุรี ว่าเกิดไข้ทรพิษที่บ่อนอก ตำบลบ่อไพลิน เมืองพระตะบอง อินโดจีนของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนติดกับฝั่งมณฑลจันทบุรีด้านกิ่งกำพุช อำเภอมะขาม(ปัจจุบันคืออำเภอโป่งน้ำร้อน) และมีคำสั่งด่วน"...ให้ขุนอนันต์ไปประจำตรวจคนต่างด้าวที่กิ่งกำพุช ที่จะเข้ามาในพระราชอาณาเขตต์ จะต้องปลูกฝีทุกคน..." และหลังจากนั้นได้สืบทราบว่าเชื้อโรคที่แพร่ระบาดมาจากพวกกุล่าไปค้าพลอยที่เมืองข่า แล้วกลับมาพักพร้อมแพร่เชื้อระบาดที่บ่อดินเหนียว บ่อพะฮี้ บ้านห้วยใส และบ้านกะชุกในเขตเมืองพระตะบอง มีการระบาดมาประมาณ ๓ เดือนแล้วและยังเป็นต่อเนื่อง ดังนั้นวิธีแก้ไขในเบื้องต้นคือปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษให้ แต่ถ้าใครไม่ยินยอมให้ปลูกฝี ก็ห้ามมิให้เข้ามาในสยาม 
          จากเอกสารจดหมายเหตุของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี ที่ปรากฏในเรื่องโรคระบาดไข้ทรพิษ สามารถสะท้อนให้เห็นว่าในช่วงระยะเวลากว่า ๒๒ ปี ที่รัฐพยายามแก้ไขโรคระบาดไข้ทรพิษที่เป็นมหันตภัยร้ายที่คร่าชีวิตคนอย่างมากมาย ได้อย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ อีกทั้งพยายามให้ความรู้ทุกรูปแบบเพื่อให้เข้าถึงประชาชนมากที่สุด สุดท้ายก็สามารถกำจัดโรคระบาดชนิดนี้ไปได้อย่างเด็ดขาด

ผู้เขียน นางสุมลฑริกาญจณ์ มายะรังษี นักจดหมายเหตุชำนาญการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี

เอกสารอ้างอิง
-หอจดหมายเหตุแห่งชาติจันทบุรี.เอกสารจดหมายเหตุ รหัส(๑๓)มท ๕/๔๐ เรื่องไข้ทรพิษที่บ่อนอก ตำบลบ่อไพลิน เมืองพระตะบอง ซึ่งติดต่อกับกำพุช(๑๓ ม.ค. ๒๔๗๓-๒๒ พ.ค.๒๔๗๔). -หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี. เอกสารจดหมายเหตุ รหัส(๑๓)มท ๕/๓๕ เรื่องสาธารณสุขส่งรายงานประจำปี พ.ศ.๒๔๗๒(๓ ก.ค.๒๔๗๓). -หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี.เอกสารจดหมายเหตุ รหัส(๑๓)มท ๕/๑๐ เรื่อง ให้ระดมจัดการสุขศึกษาเรื่องปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ(๙ มี.ค.๒๔๖๘- ๕ ส.ค.๒๔๗๐). -หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี. เอกสารจดหมายเหตุ รหัส(๑๓)มท ๕/๒ เรื่อง ส่งบาญชีจำหน่ายยาโอสถสภาปลูกไข้ทรพิษแลหนังสือป้องกันโรค(๕ ม.ค. ร.ศ.๑๒๗ - ๒๓ ก.ค. ร.ศ.๑๒๘).

(จำนวนผู้เข้าชม 1051 ครั้ง)