๑๖๐ ปี พระนครคีรี จิรกาล ตอนที่ ๓ ราชมรรคาสู่เมืองเพ็ชร์
           การเดินทางมาสู่เมืองเพชรบุรีในสมัยโบราณนั้น มีทั้งทางบกและทางน้ำ หากส่วนใหญ่นิยมเดินทางทางน้ำ โดยหากเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาหรือกรุงเทพมหานครแล้ว สามารถเดินทางมาเมืองเพชรบุรีโดยใช้คลองลัดสายต่าง ๆ ที่เชื่อมแม่น้ำสายหลัก คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง เช่น คลองบางกอกใหญ่ คลองสุนัขหอน คลองโคกขาม คลองบางตะบูน เป็นต้น กระทั่งในสมัยรัตนโกสินทร์ มีการขุดคลองที่เชื่อมต่อแม่น้ำสำคัญดังกล่าวเพิ่มขึ้น เช่น คลองดำเนินสะดวก คลองมหาชัย คลองภาษีเจริญ คลองบางลี่ และคลองยี่สาน ทำให้การเดินทางมาสู่เมืองเพชรบุรีสะดวกง่ายดายยิ่งขึ้น และไม่ต้องออกทะเลอ่าวไทย ซึ่งมีคลื่นลมค่อนข้างแรงและไม่เหมาะต่อเรือพายขนาดเล็ก  .
          ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วิทยาการอย่างใหม่ที่เข้ามาสู่สยามในตอนนั้น คือเรือกลไฟ ซึ่งในขณะนั้น มีชาวไทยที่สามารถออกแบบต่อเรือกลไฟขึ้นใช้ในราชการได้แล้ว เช่น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค, ต่อมาเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือกลไฟไว้สำหรับใช้ในราชการ ปรากฏชื่อเรือพระที่นั่งลำสำคัญ เช่น เรืออรรคราชวรเดช เรืออัครเรศรัตนาสน์ เรือสยามอรสุมพล และเรือยงยศอโยชฌิยา การมีเรือกลไฟทำให้การเดินทางไกลใช้เวลาน้อยลงและง่ายขึ้นกว่าก่อนหน้านั้น ประกอบกับพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่โปรดเสด็จฯ ไปยังหัวเมืองต่างๆ ในรัชกาลของพระองค์ จึงปรากฏว่าได้เสด็จฯ ไปตามหัวเมืองในพระราชอาณาจักร ทางเหนือเสด็จฯ ถึงเมืองพิษณุโลก ทางใต้เสด็จฯ ถึงเมืองสงขลาและปัตตานี ทางตะวันออก เสด็จฯ ถึงเมืองจันทบุรี เป็นต้น โดยการเสด็จฯ ในหัวเมืองดังกล่าวทรงใช้เรือพระที่นั่งกลไฟ เป็นพระราชพาหนะทั้งสิ้น           สำหรับเส้นทางเสด็จฯ มาเมืองเพชรบุรี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทางชลมารคเป็นหลัก โดยเริ่มจากทรงเรือพระที่นั่งกลไฟจากพระนคร ออกปากน้ำเจ้าพระยา มาถึงอ่าวบ้านแหลม เมืองเพชรบุรี จากนั้นเสด็จฯ ด้วยเรือเล็ก เข้าอ่าวบ้านแหลมมาตามคลองบางตะบูน หรือคลองบ้านแหลม เพื่อเข้าสู่แม่น้ำเพชรบุรี จากนั้น อาจจะเสด็จฯ ด้วยทางเรือ หรือเปลี่ยนเป็นกระบวนม้า เดินบกมาจนถึงเขามหาสวรรค์ ในคราวเสด็จฯ หัวเมืองตะวันตก ในปีชวด ฉศก พุทธศักราช ๒๔๐๗ ได้เสด็จฯ โดยทางชลมารคมาเมืองเพชรบุรีก่อน หลังจากนั้น จึงได้เสด็จฯ โดยทางสถลมารค (ทางบก) จากเมืองเพชรบุรี ไปเมืองราชบุรี และกาญจนบุรีต่อไป
          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาเมืองเพชรบุรีด้วยทางชลมารคเช่นเดียวกันในช่วงต้นรัชกาล ดังปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ภาค ๒๓ ว่า เสด็จฯ ด้วยเรือพระที่นั่งเวสาตรีจากพระนครมาถึงอ่าวบ้านแหลม ทอดสมอที่นั่นก่อนเสด็จฯ ลงเรือโบต เข้าลำน้ำเพชรบุรีจนถึงบ้านใหม่ เปลี่ยนมาประทับม้าพระที่นั่ง เดินบกมาพร้อมด้วยกระบวนรถพระประเทียบถึงพระนครคีรี ครั้นถึงปี พุทธศักราช ๒๔๔๖ ทางรถไฟสายใต้แล้วเสร็จมาถึงเมืองเพชรบุรี จึงเสด็จฯ ด้วยรถไฟตลอดมาหลังจากนั้น



ภาพ : เรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดช เรือพระที่นั่งกลไฟลำสำคัญ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใช้เป็นพระราชพาหนะ เสด็จฯ หัวเมืองเหนือใต้

ข้อมูล/ภาพ : นายวสันต์ ญาติพัฒ ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี

(จำนวนผู้เข้าชม 1572 ครั้ง)

Messenger