ประวัติความเป็นมา
พิพิธภัณฑสถานแห่งนี้ เริ่มต้นมาจากการเป็นพิพิธภัณฑสถานกลางแจ้ง ในความดูแลของกองโบราณคดี กรมศิลปากร ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๗ โดยหน้าที่ขณะนั้นเพื่อการเก็บรักษา และจัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดแต่งบูรณะปราสาทพิมาย ร่วมกับโบราณวัตถุที่ได้จากการ เก็บรวบรวมจากจังหวัดต่างๆ ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กระทั่ง พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้โอนมาอยู่ในความรับผิดชอบของกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
พ.ศ. ๒๕๓๒ กรมศิลปากร เสนอของบประมาณโครงการน้ำพระทัยจากในหลวง หรือโครงการอีสานเขียว เพื่อดำเนินการปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ให้ถูกต้องตามหลักพิพิธภัณฑสถานวิทยา โดยการจัดสร้างอาคารจัดแสดง สำนักงานและห้องประชุม และได้รับงบประมาณต่อเนื่องมาจนกระทั่ง ดำเนินการจัดแสดงนิทรรศการถาวรแล้วเสร็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย อย่างเป็นทางการ เมื่อ วันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๖
ปัจจุบัน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย เป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี โดยเก็บรวบรวมหลักฐานโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับรากฐานและพัฒนาการของวัฒนธรรมอีสานในอดีตที่เจริญรุ่งเรืองในพื้นที่อีสานตอนล่างแถบลุ่มแม่น้ำมูล-แม่น้ำชี ในจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ ๓,๐๐๐ปี มาแล้วจนถึงสมัยปัจจุบัน
(จำนวนผู้เข้าชม 516 ครั้ง)