มองสุโขทัยผ่านสายตาคนนอก
-- องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ : มองสุโขทัยผ่านสายตาคนนอก --
เมื่อปี พ.ศ. 2471 หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งได้ลงบทความข่าวเกี่ยวกับสภาพความเป็นไปในจังหวัดสุโขทัย โดยผู้เขียนซึ่งมิใช่ชาวสุโขทัย หากแต่มาพักอาศัยอยู่ในจังหวัดสุโขทัย บทความข่าวชิ้นนี้ทำให้เราทราบถึงสภาพบ้านเมืองของจังหวัดสุโขทัยในขณะนั้น ตลอดจนมุมมองต่อจังหวัดสุโขทัยในสายตาของ “คนนอก” ซึ่งอาจมีความแตกต่างจากมุมมองในสายตาของชาวสุโขทัยเอง โดยในหนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง ฉบับวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2471 ได้ตีพิมพ์บทความชื่อว่า “ข่าวจังหวัดสุโขทัย” โดยผู้เขียนบทความนี้ซึ่งไม่ได้ระบุชื่อหรือนามปากกา ได้บรรยายถึงลักษณะโดยทั่วไปตลอดจนกิจการด้านต่างๆ ของจังหวัดสุโขทัย เอาไว้ดังนี้
.
สภาพทั่วไป
จังหวัดสุโขทัย (ต้นฉบับสะกดว่า “ศุโขทัย”) ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยม ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 250 กิโลเมตร มีเรือกลไฟเดินรับ-ส่งจากปากน้ำโพถึงสุโขทัยเฉพาะฤดูน้ำ ส่วนทางรถไฟนั้นไปสิ้นสุดที่จังหวัดสวรรคโลก ต้องโดยสารรถยนต์ต่อไปยังสุโขทัย ภูมิประเทศเป็นที่ราบต่ำ มีน้ำท่วมทุกปี ตลาดมีขนาดเล็ก มีร้านค้าประมาณ 50 หลังคาเรือน ขายสินค้าเล็กๆ น้อยๆ อาหารการกินไม่บริบูรณ์แถมยังราคาแพง
.
การสุขาภิบาล
ผู้เขียนระบุว่า จังหวัดสุโขทัยในขณะนั้นไม่มีการสุขาภิบาล ทำให้ไม่มีทะนุบำรุงบ้านเมืองให้สะอาดเรียบร้อย ถนนหนทางเต็มไปด้วยกิ่งไม้ใบไม้แห้งและมูลสัตว์ ผิวถนนก็ไม่เรียบร้อย เมื่อเกิดฝนตก ถนนจะมีสภาพเป็นหลุมเป็นบ่อและมีความลื่นทำให้เดินไม่สะดวก สถานที่ราชการหลายแห่งก็ปล่อยให้หญ้าขึ้นรกและขาดความสะอาด ทั้งนี้ ผู้เขียนได้ให้ข้อเสนอแนะว่า เป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดในการคอยสอดส่องดูแลเอาใจใส่ทุกข์สุขของราษฎร ถ้าสามารถจัดตั้งสุขาภิบาลได้ก็ควรจัดการ หากขัดข้องทำไม่ได้ก็ให้นำนักโทษในเรือนจำออกมาช่วยทำความสะอาดตามสถานที่ต่างๆ นอกจากนี้ควรติดตั้งโคมไฟตามท้องถนนเพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้สัญจรไปมาในเวลากลางคืน
.
การทำมาหากิน
สินค้าสำคัญของจังหวัดสุโขทัยคือ ไม้ขอนสัก ข้าว ผักและผลไม้ โดยการทำป่าไม้นั้นส่วนมากเป็นของบริษัทฝรั่งที่มีฝรั่งเป็นผู้จัดการหรือหัวหน้า ในขณะที่คนไทยเป็นแค่เสมียนหรือกรรมกร ส่วนการทำนานั้นมีผู้ทำกันมากจนสามารถส่งข้าวลงไปจำหน่ายที่กรุงเทพฯ ปีละจำนวนมาก ผักและผลไม้ในเขตอำเภอธานี (ปัจจุบันคืออำเภอเมืองสุโขทัย) บางครั้งมีมาก บางครั้งก็หายาก ผักผลไม้ที่มีมาจำหน่ายจะนำมาจากอำเภอคลองตาล (ปัจจุบันคืออำเภอศรีสำโรง) แทบทั้งสิ้น จึงทำให้มีราคาแพง กิจการค้าขายในท้องตลาดเป็นของคนจีนเช่นเดียวกับที่อื่น
.
ตลาดสด
ตลาดสดของจังหวัดสุโขทัยตั้งอยู่หน้าวัดราชธานี มีลักษณะเป็นร้านประมาณ 3-4 หลัง มุงด้วยหญ้าคา เนื่องจากเป็นร้านที่บรรดาแม่ค้าสร้างขึ้นมาเองจึงทำให้ดูไม่เป็นระเบียบและสกปรก ผู้เขียนเสนอว่าควรจัดตั้งตลาดให้เป็นที่เป็นทางและปลูกสร้างเป็นอาคารถาวร ถูกต้องตามลักษณะสุขาภิบาล โดยจะใช้ทุนของรัฐบาลหรือพระคลังข้างที่ หรือจะให้ราษฎรรับไปดำเนินการทั้งหมดเองก็ได้
.
การปกครองท้องที่
ผู้เขียนได้สรุปว่า การปกครองของจังหวัดสุโขทัยคงยังไม่เรียบร้อยดี เพราะปรากฏมีการปล้นสะดมลักเล็กขโมยน้อยอยู่เสมอ และตั้งแต่ที่ผู้เขียนมีพำนักอยู่ที่จังหวัดสุโขทัยนั้น ก็แทบไม่พบเจอตำรวจเลย แม้แต่ในตลาดที่ควรจะมีตำรวจคอยตรวจตราเหตุการณ์ก็ไม่มี จึงทำให้บรรดานักพนันได้ใจจนเกิดบ่อนการพนันหลายแห่ง รวมทั้งการลักขโมยและทำร้ายร่างกายก็มีมากขึ้น ถ้าปล่อยไว้ให้เป็นแบบนี้ ราษฎรก็จะเดือดร้อนจนไม่เป็นอันทำมาหากิน
.
บทความข่าวชิ้นนี้ยังมีการลงต่อเนื่องในฉบับต่อไป แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าพบบทความข่าวในเอกสารจดหมายเหตุเพียงแค่ที่มาจากหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ฉบับเดียว แต่อย่างน้อยก็ทำให้เราได้เห็นภาพของจังหวัดสุโขทัยเมื่อเกือบร้อยปีผ่านมุมมองของ “คนนอก” ที่พยายามชี้ให้เห็นถึงปัญหาในหลากหลายประเด็น รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะเพื่อหวังว่าจะทำให้จังหวัดที่เขาพักอาศัยอยู่นั้นมีความเจริญทัดเทียมกับจังหวัดอื่นมากยิ่งขึ้น
ผู้เขียน: นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
เอกสารอ้างอิง:
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารชุดกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 7 กระทรวงมหาดไทย ร.7 ม 26.5 ก/17 เรื่อง จังหวัดสุโขทัย [ 17 พ.ค. 2471 – 7 ต.ค. 2472 ].
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ
เมื่อปี พ.ศ. 2471 หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งได้ลงบทความข่าวเกี่ยวกับสภาพความเป็นไปในจังหวัดสุโขทัย โดยผู้เขียนซึ่งมิใช่ชาวสุโขทัย หากแต่มาพักอาศัยอยู่ในจังหวัดสุโขทัย บทความข่าวชิ้นนี้ทำให้เราทราบถึงสภาพบ้านเมืองของจังหวัดสุโขทัยในขณะนั้น ตลอดจนมุมมองต่อจังหวัดสุโขทัยในสายตาของ “คนนอก” ซึ่งอาจมีความแตกต่างจากมุมมองในสายตาของชาวสุโขทัยเอง โดยในหนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง ฉบับวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2471 ได้ตีพิมพ์บทความชื่อว่า “ข่าวจังหวัดสุโขทัย” โดยผู้เขียนบทความนี้ซึ่งไม่ได้ระบุชื่อหรือนามปากกา ได้บรรยายถึงลักษณะโดยทั่วไปตลอดจนกิจการด้านต่างๆ ของจังหวัดสุโขทัย เอาไว้ดังนี้
.
สภาพทั่วไป
จังหวัดสุโขทัย (ต้นฉบับสะกดว่า “ศุโขทัย”) ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยม ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 250 กิโลเมตร มีเรือกลไฟเดินรับ-ส่งจากปากน้ำโพถึงสุโขทัยเฉพาะฤดูน้ำ ส่วนทางรถไฟนั้นไปสิ้นสุดที่จังหวัดสวรรคโลก ต้องโดยสารรถยนต์ต่อไปยังสุโขทัย ภูมิประเทศเป็นที่ราบต่ำ มีน้ำท่วมทุกปี ตลาดมีขนาดเล็ก มีร้านค้าประมาณ 50 หลังคาเรือน ขายสินค้าเล็กๆ น้อยๆ อาหารการกินไม่บริบูรณ์แถมยังราคาแพง
.
การสุขาภิบาล
ผู้เขียนระบุว่า จังหวัดสุโขทัยในขณะนั้นไม่มีการสุขาภิบาล ทำให้ไม่มีทะนุบำรุงบ้านเมืองให้สะอาดเรียบร้อย ถนนหนทางเต็มไปด้วยกิ่งไม้ใบไม้แห้งและมูลสัตว์ ผิวถนนก็ไม่เรียบร้อย เมื่อเกิดฝนตก ถนนจะมีสภาพเป็นหลุมเป็นบ่อและมีความลื่นทำให้เดินไม่สะดวก สถานที่ราชการหลายแห่งก็ปล่อยให้หญ้าขึ้นรกและขาดความสะอาด ทั้งนี้ ผู้เขียนได้ให้ข้อเสนอแนะว่า เป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดในการคอยสอดส่องดูแลเอาใจใส่ทุกข์สุขของราษฎร ถ้าสามารถจัดตั้งสุขาภิบาลได้ก็ควรจัดการ หากขัดข้องทำไม่ได้ก็ให้นำนักโทษในเรือนจำออกมาช่วยทำความสะอาดตามสถานที่ต่างๆ นอกจากนี้ควรติดตั้งโคมไฟตามท้องถนนเพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้สัญจรไปมาในเวลากลางคืน
.
การทำมาหากิน
สินค้าสำคัญของจังหวัดสุโขทัยคือ ไม้ขอนสัก ข้าว ผักและผลไม้ โดยการทำป่าไม้นั้นส่วนมากเป็นของบริษัทฝรั่งที่มีฝรั่งเป็นผู้จัดการหรือหัวหน้า ในขณะที่คนไทยเป็นแค่เสมียนหรือกรรมกร ส่วนการทำนานั้นมีผู้ทำกันมากจนสามารถส่งข้าวลงไปจำหน่ายที่กรุงเทพฯ ปีละจำนวนมาก ผักและผลไม้ในเขตอำเภอธานี (ปัจจุบันคืออำเภอเมืองสุโขทัย) บางครั้งมีมาก บางครั้งก็หายาก ผักผลไม้ที่มีมาจำหน่ายจะนำมาจากอำเภอคลองตาล (ปัจจุบันคืออำเภอศรีสำโรง) แทบทั้งสิ้น จึงทำให้มีราคาแพง กิจการค้าขายในท้องตลาดเป็นของคนจีนเช่นเดียวกับที่อื่น
.
ตลาดสด
ตลาดสดของจังหวัดสุโขทัยตั้งอยู่หน้าวัดราชธานี มีลักษณะเป็นร้านประมาณ 3-4 หลัง มุงด้วยหญ้าคา เนื่องจากเป็นร้านที่บรรดาแม่ค้าสร้างขึ้นมาเองจึงทำให้ดูไม่เป็นระเบียบและสกปรก ผู้เขียนเสนอว่าควรจัดตั้งตลาดให้เป็นที่เป็นทางและปลูกสร้างเป็นอาคารถาวร ถูกต้องตามลักษณะสุขาภิบาล โดยจะใช้ทุนของรัฐบาลหรือพระคลังข้างที่ หรือจะให้ราษฎรรับไปดำเนินการทั้งหมดเองก็ได้
.
การปกครองท้องที่
ผู้เขียนได้สรุปว่า การปกครองของจังหวัดสุโขทัยคงยังไม่เรียบร้อยดี เพราะปรากฏมีการปล้นสะดมลักเล็กขโมยน้อยอยู่เสมอ และตั้งแต่ที่ผู้เขียนมีพำนักอยู่ที่จังหวัดสุโขทัยนั้น ก็แทบไม่พบเจอตำรวจเลย แม้แต่ในตลาดที่ควรจะมีตำรวจคอยตรวจตราเหตุการณ์ก็ไม่มี จึงทำให้บรรดานักพนันได้ใจจนเกิดบ่อนการพนันหลายแห่ง รวมทั้งการลักขโมยและทำร้ายร่างกายก็มีมากขึ้น ถ้าปล่อยไว้ให้เป็นแบบนี้ ราษฎรก็จะเดือดร้อนจนไม่เป็นอันทำมาหากิน
.
บทความข่าวชิ้นนี้ยังมีการลงต่อเนื่องในฉบับต่อไป แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าพบบทความข่าวในเอกสารจดหมายเหตุเพียงแค่ที่มาจากหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ฉบับเดียว แต่อย่างน้อยก็ทำให้เราได้เห็นภาพของจังหวัดสุโขทัยเมื่อเกือบร้อยปีผ่านมุมมองของ “คนนอก” ที่พยายามชี้ให้เห็นถึงปัญหาในหลากหลายประเด็น รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะเพื่อหวังว่าจะทำให้จังหวัดที่เขาพักอาศัยอยู่นั้นมีความเจริญทัดเทียมกับจังหวัดอื่นมากยิ่งขึ้น
ผู้เขียน: นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
เอกสารอ้างอิง:
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารชุดกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 7 กระทรวงมหาดไทย ร.7 ม 26.5 ก/17 เรื่อง จังหวัดสุโขทัย [ 17 พ.ค. 2471 – 7 ต.ค. 2472 ].
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ
(จำนวนผู้เข้าชม 138 ครั้ง)