...

วิบากกรรมหลังน้ำท่วม
-- องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ : วิบากกรรมหลังน้ำท่วม --
 ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2472 เกิดเหตุการณ์อุทกภัยขึ้นที่จังหวัดแพร่ สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชนไปเป็นจำนวนมาก รวมถึงทรัพย์สินของทางราชการด้วย ซึ่งข้อมูลจากเอกสารจดหมายเหตุ ชุดกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 7 กระทรวงมหาดไทย ได้ปรากฏรายงานข่าวชิ้นหนึ่งจากหนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง ฉบับวันที่ 3 ตุลาคม 2472 กล่าวถึงความเดือดร้อนของประชาชนและข้าราชการในจังหวัดแพร่หลังจากเหตุการณ์อุทกภัยในหลายๆ เรื่อง ซึ่งเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่อาจไม่ปรากฏในเอกสารใดๆ ของทางราชการ
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ตำรวจยกของหาย
 นายโกระซิง แขกซึ่งเปิดร้านขายผ้าติดกับสถานีตำรวจ เล่าให้ฟังว่า วันที่น้ำท่วม เขาและภรรยาขนของหนีน้ำไม่ทัน หมออิสุมิ หมอชาวญี่ปุ่นที่อยู่บ้านตรงข้ามรู้สึกสงสาร จึงแนะนำให้ไปขอแรงตำรวจมาช่วยขนของไปไว้บนสถานีตำรวจ ตำรวจก็มาขนของไปเกือบหมดร้าน แต่เมื่อนายโกระซิงไปตรวจดูพบว่าของหายไปส่วนหนึ่ง เหลืออยู่เกือบไม่ถึงครึ่ง มูลค่าประมาณสามพันบาทเศษ เจ้าตัวถึงกับร้องไห้ด้วยความเสียใจ พลางต่อว่าหมออิสุมิว่าไม่น่าแนะนำจนทำให้เสียหาย วันต่อมาข่าวเรื่องนี้เริ่มแพร่สะพัดไปมากขึ้น ตำรวจคนหนึ่งได้มาต่อว่าแขกโกระซิง หมออิสุมิได้ยินจึงมาแก้แทนว่าตำรวจขนไปจริงๆ ตำรวจผู้นั้นก็พูดไม่ออก ที่สุดแล้วผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งให้มีการสอบสวนในเรื่องนี้ แต่รายงานข่าวชิ้นนี้ไม่ได้บอกว่าผลสุดท้ายแล้วจบลงอย่างไร
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
เงินเรียกเก็บไม่ผ่อนผัน
 ผลจากน้ำท่วมคราวนี้ ทำให้ราษฎรจังหวัดแพร่ได้ความเดือดร้อนอย่างมาก ทั้งบ้านเรือนเสียหาย วัวควายที่เลี้ยงไว้ก็ล้มตายหรือลอยพัดไปกับน้ำ ส่งผลให้มีขอทานมากขึ้น และการที่ราษฎรได้รับความเสียหายจนต้องสิ้นเนื้อประดาตัวนี้ ย่อมส่งผลต่อการเก็บเงินรัชชูปการ หรือเงินที่ทางราชการเรียกเก็บจากชายฉกรรจ์ทุกคนที่มีอายุระหว่าง 18 - 60 ปีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยสมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพ (ในขณะนั้นคือพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ – ผู้เขียน) ทรงถามผู้ว่าราชการจังหวัดเกี่ยวกับประมาณการความเสียหายจากอุทกภัย ผู้ว่าฯ ได้ทูลรายงานว่าเสียหายประมาณ 50,007 บาท และเสนอว่าไม่ควรผ่อนผันเงินรัชชูปการ แต่แล้วก็เกิดความขัดแย้งกับผู้ใต้บังคับบัญชาขึ้น เนื่องจากนายอำเภอสูงเม่นรายงานประมาณการว่าเสียหายเกือบครึ่งของในเวียง และเสนอให้ผ่อนผัน ผู้ว่าฯ จึงเรียกนายอำเภอมาให้ลดค่าเสียหายลง นายอำเภอยืนยันว่าไม่แก้ไข เพราะสำรวจข้อมูลมาตามจริง ที่สุดแล้วสมุหเทศาภิบาลจึงทรงให้ผ่อนผันเงินรัชชูปการทั้งจังหวัดเป็นเวลา 3 เดือน
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ข้าราชการหัวหมุน
 ไม่เพียงแต่ราษฎรทั่วไปเท่านั้นที่เดือดร้อนจากปัญหาอุทกภัย ข้าราชการเองก็วุ่นวายไม่แพ้กัน เนื่องจากต้องทำรายงานชี้แจงตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดว่าทรัพย์สินของทางราชการเสียหายหรือไม่ นอกจากนี้ในช่วงวันทำการแรกๆ หลังจากน้ำท่วม เจ้าหน้าที่ต้องนำเอกสาร เงินตราและธนบัตรออกมาผึ่งแดดให้แห้ง มีเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด เคราะห์ดีที่ธนบัตรในคลังไม่เปื่อยยุ่ย แต่ก็มีการเผากระดาษกองมหึมาซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเอกสารที่เสียหายจากน้ำท่วม โดยเผากันทั้งวันทั้งคืน
 ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์อุทกภัยเมื่อเกือบร้อยปีก่อน ซึ่งแม้ว่าเรื่องราวเหล่านี้จะมีที่มาจากบทความในหนังสือพิมพ์ แต่ก็ช่วยให้เห็นภาพของวิถีชีวิต สภาพสังคมและเศรษฐกิจ และการปฏิบัติตนของข้าราชการในยุคนั้นว่าเป็นอย่างไร ซึ่งผู้ค้นคว้าสามารถนำไปเชื่อมโยงกับเอกสารจดหมายเหตุชุดอื่นๆ ที่กล่าวถึงเหตุการณ์นี้เพื่อเติมเต็มข้อมูลทางประวัติศาสตร์ได้
ผู้เขียน: นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
เอกสารอ้างอิง:
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 7 กระทรวงมหาดไทย ร.7 ม. 26.5 ก/49 เรื่อง จังหวัดแพร่ [ 27 ส.ค. 2471 – 22 พ.ย. 2472 ].
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ

(จำนวนผู้เข้าชม 447 ครั้ง)


Messenger