เมืองลอง มาสู่ เมืองแพร่
-- องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ : เมื่อ “เมืองลอง” มาสู่ “เมืองแพร่” --
อำเภอลอง เป็นหนึ่งในแปดอำเภอของจังหวัดแพร่ มีประวัติความเป็นมายาวนานนับหลายร้อยปี ดังจะเห็นได้จากการปรากฎชื่อเมืองลองในตำนานท้องถิ่นและพงศาวดารหลายฉบับ ดังเช่นในพงศาวดารโยนก มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า ช่วงระหว่าง จ.ศ. 1091 – 1094 (พ.ศ. 2372 – 2375) กองทัพจากเมืองลำพูนเข้าปล้นทำลายเมืองนครลำปาง ผู้คนในเมืองจึงอพยพหนีออกไปอยู่ตามที่ต่างๆ เช่น ประตูผา เมืองต้า เมืองลอง เมืองเมาะ เมืองจาก เป็นต้น แต่ทราบหรือไม่ว่า เมืองลองหรืออำเภอลองนั้น เดิมมิได้อยู่ภายใต้การปกครองของเมืองแพร่หรือจังหวัดแพร่เหมือนในปัจจุบัน หากแต่อยู่กับเมืองนครลำปางหรือจังหวัดลำปางจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ดังปรากฏหลักฐานในเอกสารจดหมายเหตุ ชุด กรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 7 กระทรวงมหาดไทย
.
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2474 สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ได้มีลายพระหัตถ์ถึงเจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการ มีใจความว่า สมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพได้มีใบบอกกราบทูลว่า ท้องที่อำเภอลอง ซึ่งขณะนั้นขึ้นกับจังหวัดลำปาง มีทำเลตั้งอยู่ใกล้กับจังหวัดแพร่มากกว่าจังหวัดลำปาง อีกทั้งการคมนาคมก็สะดวกกว่า กล่าวคือ หากเดินทางจากอำเภอลองไปยังจังหวัดลำปาง จะใช้เวลาเกือบ 2 วัน แต่หากเดินทางจากอำเภอลองไปยังจังหวัดแพร่จะใช้เวลาเพียง 1 วันเท่านั้น อีกทั้งราษฎรอำเภอลองก็ติดต่อค้าขายกับทางจังหวัดแพร่เป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว โดยกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาแล้วเห็นชอบ จึงทรงขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตโอนอำเภอลองไปขึ้นกับจังหวัดแพร่
.
ในเวลาต่อมา สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งขณะนั้นทรงเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนครอีกตำแหน่งหนึ่ง (เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอยู่ในระหว่างเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา - ผู้เขียน) จึงได้ทรงประทานพระอนุญาตตามที่กราบบังคมทูล และมีการตีพิมพ์ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการโอนอำเภอ ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2474 ในราชกิจจานุเบกษา และ นี่คือจุดเริ่มต้นของการที่อำเภอลองเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดแพร่มาจนถึงปัจจุบัน
.
ผู้เขียน: นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
.
เอกสารอ้างอิง:
1. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 7 กระทรวงมหาดไทย. ร.7 ม. 4.3/1 เรื่องปันแขวงปกครองและยุบย้ายที่ว่าการต่างๆ [ 18 ธ.ค. 2468 – 9 ก.ค. 2475 ].
2. ประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค), พระยา. พงศาวดารโยนก. กรุงเทพฯ: คลังวิทยา, 2516.
3. “ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง โอนอำเภอ.” (2474). ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 48, ตอน ก (25 ตุลาคม): 368.
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ
อำเภอลอง เป็นหนึ่งในแปดอำเภอของจังหวัดแพร่ มีประวัติความเป็นมายาวนานนับหลายร้อยปี ดังจะเห็นได้จากการปรากฎชื่อเมืองลองในตำนานท้องถิ่นและพงศาวดารหลายฉบับ ดังเช่นในพงศาวดารโยนก มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า ช่วงระหว่าง จ.ศ. 1091 – 1094 (พ.ศ. 2372 – 2375) กองทัพจากเมืองลำพูนเข้าปล้นทำลายเมืองนครลำปาง ผู้คนในเมืองจึงอพยพหนีออกไปอยู่ตามที่ต่างๆ เช่น ประตูผา เมืองต้า เมืองลอง เมืองเมาะ เมืองจาก เป็นต้น แต่ทราบหรือไม่ว่า เมืองลองหรืออำเภอลองนั้น เดิมมิได้อยู่ภายใต้การปกครองของเมืองแพร่หรือจังหวัดแพร่เหมือนในปัจจุบัน หากแต่อยู่กับเมืองนครลำปางหรือจังหวัดลำปางจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ดังปรากฏหลักฐานในเอกสารจดหมายเหตุ ชุด กรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 7 กระทรวงมหาดไทย
.
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2474 สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ได้มีลายพระหัตถ์ถึงเจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการ มีใจความว่า สมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพได้มีใบบอกกราบทูลว่า ท้องที่อำเภอลอง ซึ่งขณะนั้นขึ้นกับจังหวัดลำปาง มีทำเลตั้งอยู่ใกล้กับจังหวัดแพร่มากกว่าจังหวัดลำปาง อีกทั้งการคมนาคมก็สะดวกกว่า กล่าวคือ หากเดินทางจากอำเภอลองไปยังจังหวัดลำปาง จะใช้เวลาเกือบ 2 วัน แต่หากเดินทางจากอำเภอลองไปยังจังหวัดแพร่จะใช้เวลาเพียง 1 วันเท่านั้น อีกทั้งราษฎรอำเภอลองก็ติดต่อค้าขายกับทางจังหวัดแพร่เป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว โดยกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาแล้วเห็นชอบ จึงทรงขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตโอนอำเภอลองไปขึ้นกับจังหวัดแพร่
.
ในเวลาต่อมา สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งขณะนั้นทรงเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนครอีกตำแหน่งหนึ่ง (เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอยู่ในระหว่างเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา - ผู้เขียน) จึงได้ทรงประทานพระอนุญาตตามที่กราบบังคมทูล และมีการตีพิมพ์ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการโอนอำเภอ ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2474 ในราชกิจจานุเบกษา และ นี่คือจุดเริ่มต้นของการที่อำเภอลองเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดแพร่มาจนถึงปัจจุบัน
.
ผู้เขียน: นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
.
เอกสารอ้างอิง:
1. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 7 กระทรวงมหาดไทย. ร.7 ม. 4.3/1 เรื่องปันแขวงปกครองและยุบย้ายที่ว่าการต่างๆ [ 18 ธ.ค. 2468 – 9 ก.ค. 2475 ].
2. ประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค), พระยา. พงศาวดารโยนก. กรุงเทพฯ: คลังวิทยา, 2516.
3. “ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง โอนอำเภอ.” (2474). ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 48, ตอน ก (25 ตุลาคม): 368.
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ
(จำนวนผู้เข้าชม 572 ครั้ง)