(ข่าว) ย้ายจังหวัดพิจิตร
-- องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ : (ข่าว) ย้ายจังหวัดพิจิตร --
การศึกษาเนื้อหาของหนังสือพิมพ์ในสมัยก่อน อันเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารจดหมายเหตุชุดต่างๆ นอกจากจะทำให้ทราบถึงมุมมองและแนวคิดต่อประเด็นต่างๆ ของคนยุคนั้นแล้ว บางครั้งข่าวในหนังสือพิมพ์ยังเปิดเผยให้เห็นถึงข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องสำคัญในท้องถิ่นที่อาจไม่พบในแหล่งข้อมูลอื่นในปัจจุบัน ดังเช่นการเตรียมย้ายจังหวัดพิจิตรไปตั้งที่ตะพานหินในสมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งปรากฏอยู่ในเอกสารชุดกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 7 กระทรวงมหาดไทย ดังนี้
.
รายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์เสียงสยาม ฉบับวันที่ 2 กรกฎาคม 2472 ระบุว่า ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ไปที่จังหวัดพิจิตร และได้ยินคำบอกเล่าจากชาวบ้านว่า ทางราชการจะย้ายจังหวัดพิจิตรไปตั้งที่สถานีรถไฟตะพานหิน ซึ่งเป็นชุมทางสำคัญที่จะเดินทางไปยังจังหวัดเพชรบูรณ์ เพราะในขณะนั้นกรมทางกำลังดำเนินการก่อสร้างถนนจากตะพานหินไปเพชรบูรณ์ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น ผู้สื่อข่าวจึงเดินทางไปยังตะพานหิน (ขณะนั้นยังเป็นแค่หมู่บ้านหนึ่งในเขตอำเภอท่าหลวง (อำเภอเมืองพิจิตร) – ผู้เขียน) ได้ความจากชาวตลาดตะพานหินว่า ข่าวการย้ายจังหวัดเป็นข่าวจริง โดยอ้างว่ามีข้าราชการในจังหวัดหลายคนเที่ยวหาซื้อที่ดินในตำบลตะพานหิน ทำให้ที่ดินมีราคาสูงถึงไร่ละ 400 บาท ส่วนการสืบข่าวจากหน่วยงานราชการนั้น ได้ข่าวมาจากทางมณฑลพิษณุโลกว่า เทศาภิบาลได้เสนอไปยังกระทรวงมหาดไทย ขอโอนเงินที่จะใช้ซ่อมศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์มาซ่อมศาลากลางจังหวัดพิจิตรที่ชำรุดทรุดโทรมกว่า และเสนอความเห็นว่าควรย้ายไปสร้างศาลากลางจังหวัดพิจิตรที่สถานีตะพานหิน แต่ก็สืบความเพิ่มเติมไม่ได้ นอกจากนี้รายงานข่าวยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า เรื่องการย้ายจังหวัดพิจิตรนั้น เทศาภิบาลคนก่อนๆ ก็เคยมีแนวคิดแบบนี้เช่นเดียวกัน แต่เรื่องก็เงียบหายไป
.
หนังสือพิมพ์เสียงสยามได้ให้ทรรศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ไม่เห็นด้วยที่จะย้ายจังหวัดไปที่ตะพานหิน เพราะบริเวณสถานีตะพานหินเป็นที่ลุ่ม ในฤดูน้ำหลากน้ำจะท่วมสูง ต้องถมดินให้สูงถึง 8 ศอก ถึงจะพ้นน้ำท่วมได้ ประกอบกับการย้ายจังหวัดนั้นจะต้องย้ายสถานที่ราชการสำคัญรวมถึงบ้านพักของข้าราชการจำนวนมาก ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายจำนวนไม่น้อย ควรนำเงินจำนวนนี้ไปพัฒนาจังหวัดพิจิตรที่ตั้งอยู่ในปัจจุบันให้มีความเจริญมากขึ้นจะดีกว่า ส่วนที่สถานีตะพานหินนั้น หากจะทำให้เจริญได้ก็ควรจะตั้งกองตำรวจและกิ่งอำเภอหรือตัวอำเภอขึ้นที่นั่น ทั้งนี้ ถ้าทางกระทรวงมหาดไทยดำริที่จะย้ายจังหวัดจริงๆ ก็ควรจะกราบบังคมทูลขอให้ประกาศพระราชกฤษฎีกา เพื่อประหยัดรายจ่ายค่าที่ดินได้ส่วนหนึ่ง และควรจะต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจภูมิประเทศของพื้นที่ที่จะสร้างจังหวัดใหม่ว่าเหมาะสมกว่าที่เดิมหรือไม่
.
อย่างไรก็ตาม ข่าวการย้ายจังหวัดพิจิตรนั้นเป็นเพียงกระแสข่าวที่ไม่มีการยืนยันชัดเจน และที่สุดแล้วก็ไม่มีการย้ายจังหวัดใดๆ จนถึงปัจจุบัน สำหรับบ้านตะพานหินนั้น ภายหลังได้มีการจัดตั้งกิ่งอำเภอตะพานหินเมื่อปี พ.ศ. 2479 แล้วยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอในเวลาต่อมา
ผู้เขียน: นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
เอกสารอ้างอิง :
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 7 กระทรวงมหาดไทย ร.7 ม 26.5 ก/31 เรื่อง จังหวัดพิจิตร [ 9 มิ.ย. 2471 – 13 ก.ย. 2472 ].
“ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องตั้งกิ่งอำเภอตะพานหิน.” (2479). ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53, ตอน ง (24 มกราคม): 2715.
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ
การศึกษาเนื้อหาของหนังสือพิมพ์ในสมัยก่อน อันเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารจดหมายเหตุชุดต่างๆ นอกจากจะทำให้ทราบถึงมุมมองและแนวคิดต่อประเด็นต่างๆ ของคนยุคนั้นแล้ว บางครั้งข่าวในหนังสือพิมพ์ยังเปิดเผยให้เห็นถึงข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องสำคัญในท้องถิ่นที่อาจไม่พบในแหล่งข้อมูลอื่นในปัจจุบัน ดังเช่นการเตรียมย้ายจังหวัดพิจิตรไปตั้งที่ตะพานหินในสมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งปรากฏอยู่ในเอกสารชุดกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 7 กระทรวงมหาดไทย ดังนี้
.
รายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์เสียงสยาม ฉบับวันที่ 2 กรกฎาคม 2472 ระบุว่า ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ไปที่จังหวัดพิจิตร และได้ยินคำบอกเล่าจากชาวบ้านว่า ทางราชการจะย้ายจังหวัดพิจิตรไปตั้งที่สถานีรถไฟตะพานหิน ซึ่งเป็นชุมทางสำคัญที่จะเดินทางไปยังจังหวัดเพชรบูรณ์ เพราะในขณะนั้นกรมทางกำลังดำเนินการก่อสร้างถนนจากตะพานหินไปเพชรบูรณ์ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น ผู้สื่อข่าวจึงเดินทางไปยังตะพานหิน (ขณะนั้นยังเป็นแค่หมู่บ้านหนึ่งในเขตอำเภอท่าหลวง (อำเภอเมืองพิจิตร) – ผู้เขียน) ได้ความจากชาวตลาดตะพานหินว่า ข่าวการย้ายจังหวัดเป็นข่าวจริง โดยอ้างว่ามีข้าราชการในจังหวัดหลายคนเที่ยวหาซื้อที่ดินในตำบลตะพานหิน ทำให้ที่ดินมีราคาสูงถึงไร่ละ 400 บาท ส่วนการสืบข่าวจากหน่วยงานราชการนั้น ได้ข่าวมาจากทางมณฑลพิษณุโลกว่า เทศาภิบาลได้เสนอไปยังกระทรวงมหาดไทย ขอโอนเงินที่จะใช้ซ่อมศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์มาซ่อมศาลากลางจังหวัดพิจิตรที่ชำรุดทรุดโทรมกว่า และเสนอความเห็นว่าควรย้ายไปสร้างศาลากลางจังหวัดพิจิตรที่สถานีตะพานหิน แต่ก็สืบความเพิ่มเติมไม่ได้ นอกจากนี้รายงานข่าวยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า เรื่องการย้ายจังหวัดพิจิตรนั้น เทศาภิบาลคนก่อนๆ ก็เคยมีแนวคิดแบบนี้เช่นเดียวกัน แต่เรื่องก็เงียบหายไป
.
หนังสือพิมพ์เสียงสยามได้ให้ทรรศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ไม่เห็นด้วยที่จะย้ายจังหวัดไปที่ตะพานหิน เพราะบริเวณสถานีตะพานหินเป็นที่ลุ่ม ในฤดูน้ำหลากน้ำจะท่วมสูง ต้องถมดินให้สูงถึง 8 ศอก ถึงจะพ้นน้ำท่วมได้ ประกอบกับการย้ายจังหวัดนั้นจะต้องย้ายสถานที่ราชการสำคัญรวมถึงบ้านพักของข้าราชการจำนวนมาก ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายจำนวนไม่น้อย ควรนำเงินจำนวนนี้ไปพัฒนาจังหวัดพิจิตรที่ตั้งอยู่ในปัจจุบันให้มีความเจริญมากขึ้นจะดีกว่า ส่วนที่สถานีตะพานหินนั้น หากจะทำให้เจริญได้ก็ควรจะตั้งกองตำรวจและกิ่งอำเภอหรือตัวอำเภอขึ้นที่นั่น ทั้งนี้ ถ้าทางกระทรวงมหาดไทยดำริที่จะย้ายจังหวัดจริงๆ ก็ควรจะกราบบังคมทูลขอให้ประกาศพระราชกฤษฎีกา เพื่อประหยัดรายจ่ายค่าที่ดินได้ส่วนหนึ่ง และควรจะต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจภูมิประเทศของพื้นที่ที่จะสร้างจังหวัดใหม่ว่าเหมาะสมกว่าที่เดิมหรือไม่
.
อย่างไรก็ตาม ข่าวการย้ายจังหวัดพิจิตรนั้นเป็นเพียงกระแสข่าวที่ไม่มีการยืนยันชัดเจน และที่สุดแล้วก็ไม่มีการย้ายจังหวัดใดๆ จนถึงปัจจุบัน สำหรับบ้านตะพานหินนั้น ภายหลังได้มีการจัดตั้งกิ่งอำเภอตะพานหินเมื่อปี พ.ศ. 2479 แล้วยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอในเวลาต่อมา
ผู้เขียน: นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
เอกสารอ้างอิง :
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 7 กระทรวงมหาดไทย ร.7 ม 26.5 ก/31 เรื่อง จังหวัดพิจิตร [ 9 มิ.ย. 2471 – 13 ก.ย. 2472 ].
“ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องตั้งกิ่งอำเภอตะพานหิน.” (2479). ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53, ตอน ง (24 มกราคม): 2715.
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ
(จำนวนผู้เข้าชม 586 ครั้ง)