การจัดการพระศาสนาและการศึกษาในเมืองน่าน
-- องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ : การจัดการพระศาสนาและการศึกษาในเมืองน่าน --
ในสมัยก่อน การจัดการพระศาสนาและการศึกษาในหัวเมืองต่างๆ นั้น ผู้ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงมักจะเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ในพื้นที่ ด้วยเหตุที่ว่าการศึกษาในยุคนั้นยังคงยึดโยงกับวัดและคณะสงฆ์ ฉะนั้นพระเถระผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพนับถือของบรรดาพระสงฆ์สามเณร และประชาชนทั่วไปจึงมีบทบาทและความสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้การจัดการพระศาสนาและการศึกษาเกิดผลสำเร็จลุล่วงไปได้ ดังเช่นตัวอย่างการจัดการพระศาสนาและการศึกษาในเมืองน่าน
.
แต่เดิมนั้น การจัดการพระศาสนาและการศึกษาในเมืองน่านคงจะไม่สู้จะเรียบร้อยนัก ดังที่พระยาสุนทรนุรักษ์ ข้าหลวงประจำนครน่านได้รายงานเสนอต่อกระทรวงมหาดไทยเมื่อปี ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2444) ว่า ในปีนั้นมีการตั้งโรงเรียนที่วัดช้างค้ำ แต่ระเบียบการเล่าเรียนยังไม่ถูกต้องนัก เพราะครูผู้สอนยังไม่เข้าใจระเบียบอย่างแท้จริง ส่วนการพระศาสนา แม้เป็นการสมควรที่จะจัด แต่ต้องรอให้การจัดการปกครองเรียบร้อยเสียก่อน จนกระทั่ง 2 ปีต่อมา ได้มีพระเถระรูปหนึ่งที่มุ่งมั่นตั้งใจกลับไปจัดการพระศาสนาและการศึกษาที่บ้านเกิด และได้ทำงานอย่างที่ตั้งใจจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต พระเถระรูปนี้ก็คือ พระชยานันทมุนี (พรหม พฺรหฺมวีโร) อดีตเจ้าคณะใหญ่นครน่าน ซึ่งเรื่องราวของการจัดการพระศาสนาและการศึกษาในเมืองน่านและวาระสุดท้ายของท่านได้ปรากฏอยู่ในเอกสารจดหมายเหตุชุดกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง รายงานจัดการคณะสงฆ์แลจัดการศึกษามณฑลพายัพ ดังนี้
.
เมื่อเดือนพฤศจิกายน ร.ศ. 122 (พ.ศ. 2446) ได้มีการสถาปนาสมณศักดิ์พระมหาพรหม วัดพระเชตุพน ขึ้นเป็นพระราชาคณะ ที่พระชยานันทมุนี เจ้าคณะใหญ่นครน่าน จากนั้นในเดือนถัดมา พระชยานันทมุนี พร้อมด้วยพระฐานานุกรมและบรรดาลูกศิษย์จึงเดินทางขึ้นไปยังเมืองน่าน อันเป็นการกลับไปยังดินแดนอันเป็นชาติภูมิเดิมของท่าน ซึ่งในรายงานจัดการคณะสงฆ์ฯ นั้นท่านระบุว่าตั้งใจกลับขึ้นมา “เพื่อจัดการฉลองพระเดชพระคุณโดยเต็มกำลังแห่งความสามารถที่จะเปนไปได้”
.
เมื่อมาถึงเมืองน่านแล้ว ท่านได้เริ่มตรวจจัดการพระศาสนาและการศึกษาทันที โดยออกเดินทางไปสำรวจตรวจตราตามวัดวาอารามในบริเวณต่างๆ ของนครน่าน ท่านได้พบว่า ความประพฤติของพระสงฆ์สามเณรยังไม่สู้จะเรียบร้อย สวดมนต์ผิดๆ ถูกๆ และมักนิยมศึกษาในทางวิปัสสนาอย่างเดียว ส่วนการเล่าเรียนพระปริยัติธรรมนั้นไม่มีผู้ศึกษา แม้จะมีการเรียนการสอนอยู่บ้างก็เพียงขั้นเบื้องต้น ไม่ได้เรียนอย่างลงลึกให้เกิดความแตกฉาน ดังนั้น ในระหว่างการสำรวจตรวจตรา เมื่อไปถึงที่แขวงเมืองใด พระชยานันทมุนีก็จะเรียกประชุมพระสงฆ์สามเณรจากทุกอาราม ตลอดจนนายแคว้นแก่บ้านกรมการในแขวงเมืองนั้นๆ เพื่อชี้แจงตักเตือน พร้อมทั้งอ่าน (และแจก) หนังสือประกาศข้อห้ามต่างๆ ที่ท่านเรียบเรียงขึ้น พร้อมทั้งมอบหมายภาระให้เจ้าอธิการวัดใดวัดหนึ่งเป็นผู้ปกครองสงฆ์ในแขวงเมืองนั้นๆ ส่วนด้านการศึกษาพระปริยัติธรรมนั้น ท่านได้เริ่มตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นมูลที่วัดช้างค้ำ และที่เมืองเชียงคำ แต่ก็ประสบปัญหาเรื่องแบบเรียนไม่เพียงพอ และขาดแคลนงบประมาณเงินเดือนครูผู้สอน ถึงขั้นที่ครูโรงเรียนเมืองเชียงคำพยายามขอลาออกอยู่หลายครั้ง
.
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะประสบกับอุปสรรคต่างๆ แต่ด้วยความวิริยะอุตสาหะของพระชยานันทมุนี จึงทำให้การจัดการพระศาสนาและการศึกษาในเมืองน่านเริ่มเห็นผลสำเร็จ เช่น เรื่องการศาสนา พบว่าพระสงฆ์สามเณรมีความประพฤติเรียบร้อยดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ส่วนเรื่องการศึกษานั้น ในรายงานจัดคณะสงฆ์ฯ เดือนกุมภาพันธ์ ร.ศ. 123 (นับอย่างปฏิทินปัจจุบันคือ พ.ศ. 2448) ระบุว่ามีโรงเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 5 โรง และมีนักเรียนจำนวนรวม 213 คน แต่ท่านเองกลับไม่ได้เห็นความสำเร็จนี้ได้นานเท่าใดนัก
.
วันที่ 24 พฤศจิกายน ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2449) มีพิธีการสำคัญที่วัดช้างค้ำ โดยมีพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าผู้ครองนครน่านเป็นประธานฝ่ายฆราวาส และพระชยานันทมุนีเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ในงานนี้ได้มีการมอบประกาศนียบัตรแก่นักเรียนที่สอบไล่ได้เมื่อปีก่อน และมอบใบประทวนตั้งและเลื่อนพระครูเจ้าคณะต่างๆ พิธีการนี้นับเป็นภารกิจด้านการศาสนาและการศึกษาครั้งสุดท้ายของพระชยานันทมุนี เพราะเมื่อพิธีการเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว คืนนั้นท่านเกิดอาเจียนเป็นโลหิตและถึงแก่มรณภาพภายในเวลาสองชั่วโมง แม้ว่าท่านจะจากไปอย่างกะทันหัน แต่งานจัดการพระศาสนาและการศึกษาตามที่ท่านตั้งใจไว้เมื่อเดินทางกลับมายังบ้านเกิดนั้นยังคงเดินหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยมีพระปลัดวงษ์ รักษาการแทนเจ้าคณะใหญ่นครน่านเป็นผู้รับหน้าที่ดำเนินการสืบต่อมา
.
ผู้เขียน: นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
.
เอกสารอ้างอิง:
1. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงมหาดไทย ร.5 ม.58/158 เรื่อง จัดการปกครองเมืองน่านและบริเวณขึ้นเมืองน่าน. [2 มิ.ย. 119 – 4 ส.ค. 125].
2. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงศึกษาธิการ ร.5 ศ.12/46 เรื่อง รายงานจัดการคณะสงฆ์แลจัดการศึกษามณฑลพายัพ. [2 ก.ค. 124 – 4 ก.ย. 127].
3. “รายนามพระสงฆ์ที่รับตำแหน่งสมณะศักดิ์.” (ร.ศ. 122). ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 20, ตอนที่ 34 (22 พฤศจิกายน): 587-588.
4. “พระราชาคณะเฝ้าทูลลาไปอยู่นครเมืองน่าน.” (ร.ศ. 122). ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 20, ตอนที่ 38 (20 ธันวาคม): 659-660.
5. “ข่าวมรณะภาพ.” (ร.ศ. 125). ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 23, ตอนที่ 36 (2 ธันวาคม): 935.
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ
ในสมัยก่อน การจัดการพระศาสนาและการศึกษาในหัวเมืองต่างๆ นั้น ผู้ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงมักจะเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ในพื้นที่ ด้วยเหตุที่ว่าการศึกษาในยุคนั้นยังคงยึดโยงกับวัดและคณะสงฆ์ ฉะนั้นพระเถระผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพนับถือของบรรดาพระสงฆ์สามเณร และประชาชนทั่วไปจึงมีบทบาทและความสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้การจัดการพระศาสนาและการศึกษาเกิดผลสำเร็จลุล่วงไปได้ ดังเช่นตัวอย่างการจัดการพระศาสนาและการศึกษาในเมืองน่าน
.
แต่เดิมนั้น การจัดการพระศาสนาและการศึกษาในเมืองน่านคงจะไม่สู้จะเรียบร้อยนัก ดังที่พระยาสุนทรนุรักษ์ ข้าหลวงประจำนครน่านได้รายงานเสนอต่อกระทรวงมหาดไทยเมื่อปี ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2444) ว่า ในปีนั้นมีการตั้งโรงเรียนที่วัดช้างค้ำ แต่ระเบียบการเล่าเรียนยังไม่ถูกต้องนัก เพราะครูผู้สอนยังไม่เข้าใจระเบียบอย่างแท้จริง ส่วนการพระศาสนา แม้เป็นการสมควรที่จะจัด แต่ต้องรอให้การจัดการปกครองเรียบร้อยเสียก่อน จนกระทั่ง 2 ปีต่อมา ได้มีพระเถระรูปหนึ่งที่มุ่งมั่นตั้งใจกลับไปจัดการพระศาสนาและการศึกษาที่บ้านเกิด และได้ทำงานอย่างที่ตั้งใจจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต พระเถระรูปนี้ก็คือ พระชยานันทมุนี (พรหม พฺรหฺมวีโร) อดีตเจ้าคณะใหญ่นครน่าน ซึ่งเรื่องราวของการจัดการพระศาสนาและการศึกษาในเมืองน่านและวาระสุดท้ายของท่านได้ปรากฏอยู่ในเอกสารจดหมายเหตุชุดกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง รายงานจัดการคณะสงฆ์แลจัดการศึกษามณฑลพายัพ ดังนี้
.
เมื่อเดือนพฤศจิกายน ร.ศ. 122 (พ.ศ. 2446) ได้มีการสถาปนาสมณศักดิ์พระมหาพรหม วัดพระเชตุพน ขึ้นเป็นพระราชาคณะ ที่พระชยานันทมุนี เจ้าคณะใหญ่นครน่าน จากนั้นในเดือนถัดมา พระชยานันทมุนี พร้อมด้วยพระฐานานุกรมและบรรดาลูกศิษย์จึงเดินทางขึ้นไปยังเมืองน่าน อันเป็นการกลับไปยังดินแดนอันเป็นชาติภูมิเดิมของท่าน ซึ่งในรายงานจัดการคณะสงฆ์ฯ นั้นท่านระบุว่าตั้งใจกลับขึ้นมา “เพื่อจัดการฉลองพระเดชพระคุณโดยเต็มกำลังแห่งความสามารถที่จะเปนไปได้”
.
เมื่อมาถึงเมืองน่านแล้ว ท่านได้เริ่มตรวจจัดการพระศาสนาและการศึกษาทันที โดยออกเดินทางไปสำรวจตรวจตราตามวัดวาอารามในบริเวณต่างๆ ของนครน่าน ท่านได้พบว่า ความประพฤติของพระสงฆ์สามเณรยังไม่สู้จะเรียบร้อย สวดมนต์ผิดๆ ถูกๆ และมักนิยมศึกษาในทางวิปัสสนาอย่างเดียว ส่วนการเล่าเรียนพระปริยัติธรรมนั้นไม่มีผู้ศึกษา แม้จะมีการเรียนการสอนอยู่บ้างก็เพียงขั้นเบื้องต้น ไม่ได้เรียนอย่างลงลึกให้เกิดความแตกฉาน ดังนั้น ในระหว่างการสำรวจตรวจตรา เมื่อไปถึงที่แขวงเมืองใด พระชยานันทมุนีก็จะเรียกประชุมพระสงฆ์สามเณรจากทุกอาราม ตลอดจนนายแคว้นแก่บ้านกรมการในแขวงเมืองนั้นๆ เพื่อชี้แจงตักเตือน พร้อมทั้งอ่าน (และแจก) หนังสือประกาศข้อห้ามต่างๆ ที่ท่านเรียบเรียงขึ้น พร้อมทั้งมอบหมายภาระให้เจ้าอธิการวัดใดวัดหนึ่งเป็นผู้ปกครองสงฆ์ในแขวงเมืองนั้นๆ ส่วนด้านการศึกษาพระปริยัติธรรมนั้น ท่านได้เริ่มตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นมูลที่วัดช้างค้ำ และที่เมืองเชียงคำ แต่ก็ประสบปัญหาเรื่องแบบเรียนไม่เพียงพอ และขาดแคลนงบประมาณเงินเดือนครูผู้สอน ถึงขั้นที่ครูโรงเรียนเมืองเชียงคำพยายามขอลาออกอยู่หลายครั้ง
.
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะประสบกับอุปสรรคต่างๆ แต่ด้วยความวิริยะอุตสาหะของพระชยานันทมุนี จึงทำให้การจัดการพระศาสนาและการศึกษาในเมืองน่านเริ่มเห็นผลสำเร็จ เช่น เรื่องการศาสนา พบว่าพระสงฆ์สามเณรมีความประพฤติเรียบร้อยดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ส่วนเรื่องการศึกษานั้น ในรายงานจัดคณะสงฆ์ฯ เดือนกุมภาพันธ์ ร.ศ. 123 (นับอย่างปฏิทินปัจจุบันคือ พ.ศ. 2448) ระบุว่ามีโรงเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 5 โรง และมีนักเรียนจำนวนรวม 213 คน แต่ท่านเองกลับไม่ได้เห็นความสำเร็จนี้ได้นานเท่าใดนัก
.
วันที่ 24 พฤศจิกายน ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2449) มีพิธีการสำคัญที่วัดช้างค้ำ โดยมีพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าผู้ครองนครน่านเป็นประธานฝ่ายฆราวาส และพระชยานันทมุนีเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ในงานนี้ได้มีการมอบประกาศนียบัตรแก่นักเรียนที่สอบไล่ได้เมื่อปีก่อน และมอบใบประทวนตั้งและเลื่อนพระครูเจ้าคณะต่างๆ พิธีการนี้นับเป็นภารกิจด้านการศาสนาและการศึกษาครั้งสุดท้ายของพระชยานันทมุนี เพราะเมื่อพิธีการเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว คืนนั้นท่านเกิดอาเจียนเป็นโลหิตและถึงแก่มรณภาพภายในเวลาสองชั่วโมง แม้ว่าท่านจะจากไปอย่างกะทันหัน แต่งานจัดการพระศาสนาและการศึกษาตามที่ท่านตั้งใจไว้เมื่อเดินทางกลับมายังบ้านเกิดนั้นยังคงเดินหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยมีพระปลัดวงษ์ รักษาการแทนเจ้าคณะใหญ่นครน่านเป็นผู้รับหน้าที่ดำเนินการสืบต่อมา
.
ผู้เขียน: นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
.
เอกสารอ้างอิง:
1. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงมหาดไทย ร.5 ม.58/158 เรื่อง จัดการปกครองเมืองน่านและบริเวณขึ้นเมืองน่าน. [2 มิ.ย. 119 – 4 ส.ค. 125].
2. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงศึกษาธิการ ร.5 ศ.12/46 เรื่อง รายงานจัดการคณะสงฆ์แลจัดการศึกษามณฑลพายัพ. [2 ก.ค. 124 – 4 ก.ย. 127].
3. “รายนามพระสงฆ์ที่รับตำแหน่งสมณะศักดิ์.” (ร.ศ. 122). ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 20, ตอนที่ 34 (22 พฤศจิกายน): 587-588.
4. “พระราชาคณะเฝ้าทูลลาไปอยู่นครเมืองน่าน.” (ร.ศ. 122). ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 20, ตอนที่ 38 (20 ธันวาคม): 659-660.
5. “ข่าวมรณะภาพ.” (ร.ศ. 125). ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 23, ตอนที่ 36 (2 ธันวาคม): 935.
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ
(จำนวนผู้เข้าชม 409 ครั้ง)