...

ฝังท่อ ทำคันดิน
-- องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ : ฝังท่อ ทำคันดิน --
 ก่อนจัดตั้งจังหวัดพะเยา 1 ปี เจ้าหน้าที่งานบูรณะแหล่งน้ำและก่อสร้าง กองประมงน้ำจืด กรมประมง สำรวจและออกแบบแนวฝังท่อระบายน้ำกับทำคันดินรอบหนองหลวง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย
 ทำไปทำไม ???
 หนองหลวง คือหนองน้ำขนาดใหญ่ เฉกเช่นกว๊านพะเยา อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย (ณ ขณะนั้น) เป็นแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับเพาะพันธุ์ ขยายพันธุ์ อนุรักษ์สัตว์น้ำจืด และประกอบอาชีพประมงอย่างยิ่ง
 เจ้าหน้าที่งานบูรณะแหล่งน้ำและก่อสร้างฯ ทำการสำรวจและออกแบบแนวท่อระบายกับคันดิน เพื่อตอบสนองกิจกรรมข้างต้น รวมทั้งเสริมความแข็งแรงให้กับหนองหลวงมีประสิทธิภาพในการรับ เก็บกักน้ำ ในฤดูแล้ง ต่อด้วยการระบายได้สะดวกในฤดูฝน
 เราปฏิเสธไม่ได้ที่ภาคเหนือของประเทศไทยมีทั้งพายุและแผ่นดินไหว ดังนั้น การดูแลหนองหลวงร่วมกับสร้างระบบนิเวศพื้นที่ " ชุ่มน้ำ " ระหว่างภูเขาเป็นสิ่งจำเป็น
 จากแบบแปลนคันดินตามแนวเขตหนองหลวง ของงานบูรณะแหล่งน้ำและก่อสร้างดังที่นำเสนอนี้มีจำนวน 2 แผ่น มองเผินๆ คือแบบแปลนซ้ำสำเนา หากพิจารณารายละเอียดจะพบว่า เป็นแบบแปลนต่อเนื่องกัน สังเกตจากการวางลูกศรชี้ทิศเหนือด้านซ้ายไม่เหมือนกัน รวมถึงหลักหมุด บ - 35 ถึง บ - 61 แผ่นที่ 1 ต่อไปยังหลักหมุด บ 61 ถึง บ 80 แผ่นที่ 2 ด้วยมาตราส่วน 1 : 10,000 หมายความว่า แบบแปลนเป็นจิ๊กซอว์ (Jigsaw) 2 ประสาน
 ประสานเข้ากันจึงเห็นหนองหลวง " กว้างมาก " กว้างแบบเดียวกับหล่ายกว๊านมาถึงหล่ายอิงฉะนั้น ต่างกันเพียงภูมิประเทศ ขอบเขตชุมชน และความหนาแน่นของพื้นที่ใช้สอยเชิงพาณิชย์
 เจ้าหน้าที่งานบูรณะแหล่งน้ำและก่อสร้างฯ เขียนแบบแปลนแนวตัดด้านข้างของหนองหลวง (Side View) สำหรับเตรียมแนวฝังท่อระบายน้ำแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก (คสล.) เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.00 เมตร พร้อมคันดินที่จะยกขึ้นใหม่ให้ได้ระดับ +99.500 เมตร ซึ่งงานทั้งสองเมื่อ 46 ปีก่อนของภูมิภาคประเทศไทยคงใช้ระยะเวลาก่อสร้างพอสมควร
 อย่างไรก็ดี แบบแปลนข้างต้นนี้ คือจุดนับหนึ่งของโครงการในปี 2520 ถัดมา เพราะกรมประมงเตรียมต่อยอดดูแลแหล่งน้ำโดยจัดตั้ง " สถานีประมงย่อยหนองหลวง จังหวัดเชียงราย " โดยเจ้าหน้าที่รังวัดกะเกณฑ์พื้นที่ไว้เรียบร้อย แผนที่ก็ " Print " แล้วเช่นกัน แต่จะเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป.
ผู้เขียน : นายธานินทร์ ทิพยางค์ (นักจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
เอกสารอ้างอิง :
หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา เอกสารสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา ผจ (2) กษ 1/1 แบบแปลนคันดินตามแนวเขตหนองหลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย [ 21 ก.ค. 2519 ]  
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ




(จำนวนผู้เข้าชม 280 ครั้ง)


Messenger