บันทึกน้ำท่วมเมืองพะเยา
-- องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ : บันทึกน้ำท่วมเมืองพะเยา --
ตั้งแต่ล่วงเข้าเดือนสิงหาคมมาหลายๆ พื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยที่มากับธรรมชาติ ประสบกับปัญหาแผ่นดินไหว พายุ น้ำท่วม สูญเสียทรัพย์สิน สูญเสียไร่นาเกษตรกรรม หรือแม้นแต่สูญเสียสมาชิกในครอบครัว จังหวัดพะเยาเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ประสบภัยธรรมชาติเหล่านี้อย่างหลีกเลียงมิได้ โดยเฉพาะเหตุอุทกภัย ดังได้มีการบันทึกถึงเหตุการณ์น้ำท่วมในอดีตของพะเยาที่สะท้อนให้เห็นถึงความสูญเสียที่มากับภัยของธรรมชาติ
บันทึกเหตุการณ์น้ำท่วมเมืองพะเยา ของพระครูศรีวิราชวชิรปัญญา เจ้าคณะแขวงเมืองพะเยา เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๘ ความโดยสรุปว่า วันที่ ๒๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๔๘ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ (เดือนเกี๋ยงเหนือ) เวลากลางคืน มหาเมฆตั้งขึ้นร้องคราง เสียงดังน่าอัศจรรย์มาก ฝนตกลงมาห่าใหญ่น่ากลัวมาก ตกอยู่ตลอดคืนไม่มีขาด จนทำให้เกิดน้ำท่วมเมืองพะเยา น้ำท่วมทะลุบ้านแม่นาเรือ เรือนโค่นลงสองหลัง นางติ๊บกับลูกสาวคนหนึ่งเสียชีวิต น้ำกว๊านเอ่อขึ้นท่วมถึงปลายนิ้วมือพระเจ้าตนหลวง และน้ำเอ่อขึ้นถึงชายคาพระวิหารหลวงซดหน้า (มุขหน้า) ตรงที่น้ำบ่อประตูเหล็กหยั่งลงไม่ถึง ข้าวในนาชาวบ้านตุ่น บ้านบัวน้ำท่วมคนหายไป ๗ คน ภูเขาพังลงมาปิดร่องน้ำแม่ตุ่น น้ำป่าทะลุเอาไม้ หินทรายมาทับถมบ้านคนเสียชีวิต ๑๖ คน บ้านเหล่า ๔ คน บ้านสางเหล่า ๑๒ คน
อีกหนึ่งบันทึกเหตุการณ์น้ำท่วมเมืองพะเยา ที่ถูกบันทึกโดยพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๖ และอดีตเจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ (พระอารามหลวง) ว่า “ระยะห่างกัน ๒๑ ปี เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ครั้งนั้นข้าพเจ้าย้ายมาอยู่วัดศรีโคมคำแล้ว จึงมาประสบกับน้ำท่วมดังรายละเอียดต่อไปนี้
วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๑๖ ตรงกับวันพุธแรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ เหนือ ปีฉลู ก่อนหน้านี้ ๒ วัน เมฆฝนตั้งขึ้นปกคลุมทั้งป่าเขา ทุ่งนาและหมู่บ้าน มองไปทางไหนมืดครึ้มทั้งวันทั้งคืน จากนั้นฝนก็ตกลงมาไม่ขาดสายตลอดทั้งวันทั้งคืน ทำให้น้ำป่าไหลลงมาจากภูเขา ลงสู่หมู่บ้าน ทุ่งนาลงกว๊านพะเยาเอ่อท่วมขึ้นถนนหนทางจากห้าแยกประตูเหล็กถึงวัดศรีโคมคำ ต้องใช้เรือเป็นพาหนะ
ในบริเวณวัดศรีโคมคำ ในพระวิหารลึก ๑.๒๐ เมตร ข้างนอกลึก ๑.๕๐ เมตร ขึ้นองค์พระประธานพระเจ้าตนหลวง ๘๐ เซนติเมตร ทำให้องค์พระเจ้าตนหลวงทรุดลงเอนหลังไปเกือบติดฝาผนัง เสนาสนะอื่นทรุดโทรมไปหลายแห่ง จะหาทางป้องกันก็ไม่ทัน เพราะน้ำบ่าเข้าท่วมวัด เวลา ๐๕.๐๐ น. พอสว่างพระเณรเตรียมสิ่งของเพราะเป็นวันพระ แรม ๘ ค่ำ ศรัทธาจะมาตักบาตร ดูน้ำไหลบ่าเข้าประตูศาลา เข้าไปดูพระวิหารน้ำเข้าท่วมเต็มหมด จึงย้ายการทำบุญไปยังศาลาบาตรด้านเหนือตรงมุมโค้ง พอตักบาตรเสร็จก็ต้องรีบขนเสื่อเครื่องทำบุญออกจากศาลา ทันใดน้ำก็ท่วมศาลาอีก มองในวัดเหมือนกับกว๊าน ถึงเวลาเย็นประชาชนไม่รู้มาจากไหนต่างก็มาจับปลากันถึงในวัดเต็มไปหมด
หันไปมองชาวบ้านหลายหมู่บ้าน ทั้งในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาลที่อยู่ติดกับชายกว๊านถูกน้ำท่วมหมด ไร่นาทรัพย์สิน สัตว์เลี้ยงต่างๆ ล้มตายจมน้ำเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะหมู่บ้านแม่ต๋ำทั้ง ๔ หมู่บ้าน จมอยู่ใต้น้ำ ที่ลำบากที่สุดหมู่บ้านแม่ต๋ำภูมินทร์ และแม่ต๋ำเมืองชุม เพราะท่วมจนมิดหลังคาบ้านก็มี การท่วมคราวนั้นท่วมอยู่นาน เพราะทางบ้านเมืองสร้างถนนไฮเวย์ขึ้นสูงถึง ๒.๕๐ เมตร แต่ท่อระบายน้ำไม่เพียงพอ มีสะพานเพียงแห่งเดียว มีท่อระบายน้ำอีกแห่ง นอกจากนี้ก็มีประตูน้ำ-ประมง แต่ระบายไม่ทัน ทำให้น้ำขังอยู่นานเกือบ ๒ เดือน น้ำแห้งขาดจากในวัดศรีโคมคำ ถึงวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๖ น้ำท่วมครั้งนี้ข้าพเจ้าได้แต่งค่าวไว้อยู่เรื่องหนึ่งชื่อว่า ค่าวน้ำท่วมพะเยา”
จากบันทึกเหตุการณ์น้ำท่วมพะเยาทั้งสองครั้ง นอกจากจะสะท้อนความเสียหายของภัยที่มากับธรรมชาติแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น เหตุการณ์ยิ่งเก่ายิ่งสืบค้นหาข้อมูลเทียบเคียงอ้างอิงยาก บันทึกเหล่านี้มีประโยชน์ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้าต่อไป
………………………………
ผู้เรียบเรียง: นางสาวอรทัย ปานจันทร์ (นักจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
..............................
ภาพถ่าย :
1. หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา. ภ พย (อ) 6/10 น้ำท่วมวัดพระเจ้าตนหลวง, 2516.
2. ภาพชุดจัดทำนิทรรศการ “บันทึกน้ำท่วมพะเยา” มีนาคม 2555, วัดศรีโคมคำ
ข้อมูลอ้างอิง:
วัดศรีโคมคำ. อัครดุษฎีบัณฑิตแห่งภูกามยาว พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระธรรมวิมลโมลี (ปวง ธมฺมปญฺโญ) วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา. 2550. หน้า 254-259.
พระมหาโยธิน ฐานิสฺสโร. บันทึกวัดศรีโคมคำ. เชียงราย:อินเตอร์พริ้นท์, 2552. หน้า 30, 39-42.
พระธรรมวิมลโมลี. บันทึกสถิติน้ำท่วมเมืองพะเยาและค่าวน้ำท่วม. พิมพ์แจกในงานฉลองสัญญาบัตรพัดยศ , เชียงราย: หจก.เชียงรายไพศาลการพิมพ์, 2538 หน้า 1-15 (เอกสารสำเนา).
สารานุกรมกว๊านพะเยา. บันทึกน้ำท่วมเมืองพะเยา (Online), http://www.phayaolake.ict.up.ac.th/content/66 สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ
ตั้งแต่ล่วงเข้าเดือนสิงหาคมมาหลายๆ พื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยที่มากับธรรมชาติ ประสบกับปัญหาแผ่นดินไหว พายุ น้ำท่วม สูญเสียทรัพย์สิน สูญเสียไร่นาเกษตรกรรม หรือแม้นแต่สูญเสียสมาชิกในครอบครัว จังหวัดพะเยาเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ประสบภัยธรรมชาติเหล่านี้อย่างหลีกเลียงมิได้ โดยเฉพาะเหตุอุทกภัย ดังได้มีการบันทึกถึงเหตุการณ์น้ำท่วมในอดีตของพะเยาที่สะท้อนให้เห็นถึงความสูญเสียที่มากับภัยของธรรมชาติ
บันทึกเหตุการณ์น้ำท่วมเมืองพะเยา ของพระครูศรีวิราชวชิรปัญญา เจ้าคณะแขวงเมืองพะเยา เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๘ ความโดยสรุปว่า วันที่ ๒๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๔๘ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ (เดือนเกี๋ยงเหนือ) เวลากลางคืน มหาเมฆตั้งขึ้นร้องคราง เสียงดังน่าอัศจรรย์มาก ฝนตกลงมาห่าใหญ่น่ากลัวมาก ตกอยู่ตลอดคืนไม่มีขาด จนทำให้เกิดน้ำท่วมเมืองพะเยา น้ำท่วมทะลุบ้านแม่นาเรือ เรือนโค่นลงสองหลัง นางติ๊บกับลูกสาวคนหนึ่งเสียชีวิต น้ำกว๊านเอ่อขึ้นท่วมถึงปลายนิ้วมือพระเจ้าตนหลวง และน้ำเอ่อขึ้นถึงชายคาพระวิหารหลวงซดหน้า (มุขหน้า) ตรงที่น้ำบ่อประตูเหล็กหยั่งลงไม่ถึง ข้าวในนาชาวบ้านตุ่น บ้านบัวน้ำท่วมคนหายไป ๗ คน ภูเขาพังลงมาปิดร่องน้ำแม่ตุ่น น้ำป่าทะลุเอาไม้ หินทรายมาทับถมบ้านคนเสียชีวิต ๑๖ คน บ้านเหล่า ๔ คน บ้านสางเหล่า ๑๒ คน
อีกหนึ่งบันทึกเหตุการณ์น้ำท่วมเมืองพะเยา ที่ถูกบันทึกโดยพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๖ และอดีตเจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ (พระอารามหลวง) ว่า “ระยะห่างกัน ๒๑ ปี เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ครั้งนั้นข้าพเจ้าย้ายมาอยู่วัดศรีโคมคำแล้ว จึงมาประสบกับน้ำท่วมดังรายละเอียดต่อไปนี้
วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๑๖ ตรงกับวันพุธแรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ เหนือ ปีฉลู ก่อนหน้านี้ ๒ วัน เมฆฝนตั้งขึ้นปกคลุมทั้งป่าเขา ทุ่งนาและหมู่บ้าน มองไปทางไหนมืดครึ้มทั้งวันทั้งคืน จากนั้นฝนก็ตกลงมาไม่ขาดสายตลอดทั้งวันทั้งคืน ทำให้น้ำป่าไหลลงมาจากภูเขา ลงสู่หมู่บ้าน ทุ่งนาลงกว๊านพะเยาเอ่อท่วมขึ้นถนนหนทางจากห้าแยกประตูเหล็กถึงวัดศรีโคมคำ ต้องใช้เรือเป็นพาหนะ
ในบริเวณวัดศรีโคมคำ ในพระวิหารลึก ๑.๒๐ เมตร ข้างนอกลึก ๑.๕๐ เมตร ขึ้นองค์พระประธานพระเจ้าตนหลวง ๘๐ เซนติเมตร ทำให้องค์พระเจ้าตนหลวงทรุดลงเอนหลังไปเกือบติดฝาผนัง เสนาสนะอื่นทรุดโทรมไปหลายแห่ง จะหาทางป้องกันก็ไม่ทัน เพราะน้ำบ่าเข้าท่วมวัด เวลา ๐๕.๐๐ น. พอสว่างพระเณรเตรียมสิ่งของเพราะเป็นวันพระ แรม ๘ ค่ำ ศรัทธาจะมาตักบาตร ดูน้ำไหลบ่าเข้าประตูศาลา เข้าไปดูพระวิหารน้ำเข้าท่วมเต็มหมด จึงย้ายการทำบุญไปยังศาลาบาตรด้านเหนือตรงมุมโค้ง พอตักบาตรเสร็จก็ต้องรีบขนเสื่อเครื่องทำบุญออกจากศาลา ทันใดน้ำก็ท่วมศาลาอีก มองในวัดเหมือนกับกว๊าน ถึงเวลาเย็นประชาชนไม่รู้มาจากไหนต่างก็มาจับปลากันถึงในวัดเต็มไปหมด
หันไปมองชาวบ้านหลายหมู่บ้าน ทั้งในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาลที่อยู่ติดกับชายกว๊านถูกน้ำท่วมหมด ไร่นาทรัพย์สิน สัตว์เลี้ยงต่างๆ ล้มตายจมน้ำเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะหมู่บ้านแม่ต๋ำทั้ง ๔ หมู่บ้าน จมอยู่ใต้น้ำ ที่ลำบากที่สุดหมู่บ้านแม่ต๋ำภูมินทร์ และแม่ต๋ำเมืองชุม เพราะท่วมจนมิดหลังคาบ้านก็มี การท่วมคราวนั้นท่วมอยู่นาน เพราะทางบ้านเมืองสร้างถนนไฮเวย์ขึ้นสูงถึง ๒.๕๐ เมตร แต่ท่อระบายน้ำไม่เพียงพอ มีสะพานเพียงแห่งเดียว มีท่อระบายน้ำอีกแห่ง นอกจากนี้ก็มีประตูน้ำ-ประมง แต่ระบายไม่ทัน ทำให้น้ำขังอยู่นานเกือบ ๒ เดือน น้ำแห้งขาดจากในวัดศรีโคมคำ ถึงวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๖ น้ำท่วมครั้งนี้ข้าพเจ้าได้แต่งค่าวไว้อยู่เรื่องหนึ่งชื่อว่า ค่าวน้ำท่วมพะเยา”
จากบันทึกเหตุการณ์น้ำท่วมพะเยาทั้งสองครั้ง นอกจากจะสะท้อนความเสียหายของภัยที่มากับธรรมชาติแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น เหตุการณ์ยิ่งเก่ายิ่งสืบค้นหาข้อมูลเทียบเคียงอ้างอิงยาก บันทึกเหล่านี้มีประโยชน์ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้าต่อไป
………………………………
ผู้เรียบเรียง: นางสาวอรทัย ปานจันทร์ (นักจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
..............................
ภาพถ่าย :
1. หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา. ภ พย (อ) 6/10 น้ำท่วมวัดพระเจ้าตนหลวง, 2516.
2. ภาพชุดจัดทำนิทรรศการ “บันทึกน้ำท่วมพะเยา” มีนาคม 2555, วัดศรีโคมคำ
ข้อมูลอ้างอิง:
วัดศรีโคมคำ. อัครดุษฎีบัณฑิตแห่งภูกามยาว พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระธรรมวิมลโมลี (ปวง ธมฺมปญฺโญ) วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา. 2550. หน้า 254-259.
พระมหาโยธิน ฐานิสฺสโร. บันทึกวัดศรีโคมคำ. เชียงราย:อินเตอร์พริ้นท์, 2552. หน้า 30, 39-42.
พระธรรมวิมลโมลี. บันทึกสถิติน้ำท่วมเมืองพะเยาและค่าวน้ำท่วม. พิมพ์แจกในงานฉลองสัญญาบัตรพัดยศ , เชียงราย: หจก.เชียงรายไพศาลการพิมพ์, 2538 หน้า 1-15 (เอกสารสำเนา).
สารานุกรมกว๊านพะเยา. บันทึกน้ำท่วมเมืองพะเยา (Online), http://www.phayaolake.ict.up.ac.th/content/66 สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ
(จำนวนผู้เข้าชม 6682 ครั้ง)