งานนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์เมื่อร้อยกว่าปีก่อน
-- องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ : งานนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์เมื่อร้อยกว่าปีก่อน --
พระแท่นศิลาอาสน์ มีลักษณะเป็นศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้างประมาณ 2.50 เมตร ยาวประมาณ 3 เมตร โดยมีไม้จำหลักลงรักปิดทองประดับกระจกประกอบเข้าตัวพระแท่นเป็นพุทธบัลลังก์ ประดิษฐานในมณฑป ตั้งอยู่ภายในวิหารใหญ่ของวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ตามตำนานกล่าวว่าพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์เสด็จมาประทับ ณ พระแท่นศิลาอาสน์นี้หลังจากที่ตรัสรู้แล้ว พระแท่นศิลาอาสน์เป็นสถานที่ที่มีพุทธศาสนิกชนนิยมมาสักการะบูชามาช้านาน จนเกิดประเพณีงานนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ขึ้นทุกช่วงวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 เป็นประจำทุกปี
งานนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์เมื่อร้อยกว่าปีก่อนเป็นอย่างไร เราอาจจะหาคำตอบได้จากเอกสารจดหมายเหตุชุดกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง รายงานนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ ระบุว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ร.ศ. 113 (นับอย่างปฏิทินปัจจุบันคือปี พ.ศ. 2438) พระบริรักษ์โยธี ปลัดขวาผู้รักษาเมืองพิไชย ได้มีใบบอกถึงพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตรฯ ข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลพิษณุโลกเกี่ยวกับงานนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ประจำปี ร.ศ. 113 ใจความโดยสรุปว่า พระศรีพนมมาศ ผู้ว่าราชการเมืองทุ่งยั้งได้ขอกรมการไปช่วยรักษาความสงบเรียบร้อยในงาน พระบริรักษ์โยธีจึงให้หลวงสุนทรพิทักษ์ กรมการ ขึ้นไปช่วย และส่งกำนันผู้ใหญ่บ้านและเลกข้าพระ (คือไพร่ทาสที่มีหน้าที่รับใช้พระในวัด – ผู้เขียน) ไปเป็นกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย พร้อมทั้งได้ออกข้อบังคับสำหรับรักษาความสงบเรียบร้อยรวม 9 ข้อ
เมื่อช่วงงานนมัสการสิ้นสุดลง พระศรีพนมมาศจึงได้รายงานให้พระบริรักษ์โยธีทราบว่า งานนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ดำเนินไปอย่างเรียบร้อย มีผู้ร่วมงานทั้งพระสงฆ์ สามเณรและฆราวาสรวมทั้งสิ้นประมาณ 44,600 คน ได้เงินที่มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคไว้ในหลุมพระแท่นศิลาอาสน์จำนวน 259 บาท 24 อัฐ ซึ่งทางพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตรฯ ได้ชื่นชมผู้รักษาเมืองและกรมการที่ช่วยกันดูแลรักษาความปลอดภัยในบริเวณที่มีคนจำนวนมากถึง 40,000 กว่าคนโดยไม่มีเหตุร้ายแรงอะไร ทั้งๆ ที่ใช้ข้อบังคับสำหรับรักษาความสงบเรียบร้อยตามแบบของเดิมและมีบางข้อที่รุนแรงไปบ้าง
เป็นที่น่าเสียดายว่า เรายังไม่พบภาพงานนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ในสมัยนั้นว่ามีความยิ่งใหญ่เพียงใดถึงมีจำนวนผู้เข้าร่วมงานนมัสการถึง 40,000 กว่าคน ซึ่งนับว่ามากในสมัยนั้น ขนาดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสว่า “ก็แปลกดีไม่เคยฟัง พึ่งรู้ว่าคนมากเช่นนี้….”
ผู้เขียน : นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
เอกสารและข้อมูลอ้างอิง:
1. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงศึกษาธิการ ร.5 ศ 13/9 เรื่อง รายงานนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์. [24 – 26 เม.ย. 114].
2. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. (2498). เที่ยวตามทางรถไฟ. พระนคร: โรงพิมพ์ตีรณสาร. (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงกำจรนิติสาร (กำจร นิติสาร) 30 เมษายน 2498).
3. ตรี อมาตยกุล. (2511). นำเที่ยวจังหวัดอุตรดิตถ์. พระนคร: โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง. (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระณรงค์ฤทธี (ชาย ดิฐานนท์) 15 มกราคม 2511).
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ
พระแท่นศิลาอาสน์ มีลักษณะเป็นศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้างประมาณ 2.50 เมตร ยาวประมาณ 3 เมตร โดยมีไม้จำหลักลงรักปิดทองประดับกระจกประกอบเข้าตัวพระแท่นเป็นพุทธบัลลังก์ ประดิษฐานในมณฑป ตั้งอยู่ภายในวิหารใหญ่ของวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ตามตำนานกล่าวว่าพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์เสด็จมาประทับ ณ พระแท่นศิลาอาสน์นี้หลังจากที่ตรัสรู้แล้ว พระแท่นศิลาอาสน์เป็นสถานที่ที่มีพุทธศาสนิกชนนิยมมาสักการะบูชามาช้านาน จนเกิดประเพณีงานนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ขึ้นทุกช่วงวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 เป็นประจำทุกปี
งานนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์เมื่อร้อยกว่าปีก่อนเป็นอย่างไร เราอาจจะหาคำตอบได้จากเอกสารจดหมายเหตุชุดกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง รายงานนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ ระบุว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ร.ศ. 113 (นับอย่างปฏิทินปัจจุบันคือปี พ.ศ. 2438) พระบริรักษ์โยธี ปลัดขวาผู้รักษาเมืองพิไชย ได้มีใบบอกถึงพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตรฯ ข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลพิษณุโลกเกี่ยวกับงานนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ประจำปี ร.ศ. 113 ใจความโดยสรุปว่า พระศรีพนมมาศ ผู้ว่าราชการเมืองทุ่งยั้งได้ขอกรมการไปช่วยรักษาความสงบเรียบร้อยในงาน พระบริรักษ์โยธีจึงให้หลวงสุนทรพิทักษ์ กรมการ ขึ้นไปช่วย และส่งกำนันผู้ใหญ่บ้านและเลกข้าพระ (คือไพร่ทาสที่มีหน้าที่รับใช้พระในวัด – ผู้เขียน) ไปเป็นกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย พร้อมทั้งได้ออกข้อบังคับสำหรับรักษาความสงบเรียบร้อยรวม 9 ข้อ
เมื่อช่วงงานนมัสการสิ้นสุดลง พระศรีพนมมาศจึงได้รายงานให้พระบริรักษ์โยธีทราบว่า งานนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ดำเนินไปอย่างเรียบร้อย มีผู้ร่วมงานทั้งพระสงฆ์ สามเณรและฆราวาสรวมทั้งสิ้นประมาณ 44,600 คน ได้เงินที่มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคไว้ในหลุมพระแท่นศิลาอาสน์จำนวน 259 บาท 24 อัฐ ซึ่งทางพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตรฯ ได้ชื่นชมผู้รักษาเมืองและกรมการที่ช่วยกันดูแลรักษาความปลอดภัยในบริเวณที่มีคนจำนวนมากถึง 40,000 กว่าคนโดยไม่มีเหตุร้ายแรงอะไร ทั้งๆ ที่ใช้ข้อบังคับสำหรับรักษาความสงบเรียบร้อยตามแบบของเดิมและมีบางข้อที่รุนแรงไปบ้าง
เป็นที่น่าเสียดายว่า เรายังไม่พบภาพงานนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ในสมัยนั้นว่ามีความยิ่งใหญ่เพียงใดถึงมีจำนวนผู้เข้าร่วมงานนมัสการถึง 40,000 กว่าคน ซึ่งนับว่ามากในสมัยนั้น ขนาดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสว่า “ก็แปลกดีไม่เคยฟัง พึ่งรู้ว่าคนมากเช่นนี้….”
ผู้เขียน : นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
เอกสารและข้อมูลอ้างอิง:
1. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงศึกษาธิการ ร.5 ศ 13/9 เรื่อง รายงานนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์. [24 – 26 เม.ย. 114].
2. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. (2498). เที่ยวตามทางรถไฟ. พระนคร: โรงพิมพ์ตีรณสาร. (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงกำจรนิติสาร (กำจร นิติสาร) 30 เมษายน 2498).
3. ตรี อมาตยกุล. (2511). นำเที่ยวจังหวัดอุตรดิตถ์. พระนคร: โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง. (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระณรงค์ฤทธี (ชาย ดิฐานนท์) 15 มกราคม 2511).
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ
(จำนวนผู้เข้าชม 1456 ครั้ง)