การธนาณัติในเมืองเหนือ
-- องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ : การธนาณัติในเมืองเหนือ --
ในโลกยุคเทคโนโลยีเช่นในปัจจุบัน การรับ-ส่งเงิน หรือการทำธุรกรรมใดๆ ทางการเงิน ย่อมเป็นเรื่องที่ง่ายแค่ปลายนิ้วสัมผัสเท่านั้น หากแต่คนในอดีตกลับมีประสบการณ์ที่แตกต่าง เพราะพวกเขาต้องพึ่งพาบริการรับ-ส่งเงินผ่านทางไปรษณีย์ซึ่งเป็นบริการที่มีความสะดวกสบายที่สุดในสมัยนั้น นั่นคือบริการธนาณัตินั่นเอง
เดิมทีแล้วการรับ-ส่งเงินในสมัยก่อน พ่อค้าจะนิยมส่งเงินไปให้ผู้รับโดยสอดไปในซองจดหมาย แต่วิธีการนี้ไม่ปลอดภัย เพราะมักทำให้เงินสูญหายไปในระหว่างทาง ด้วยเหตุนี้กรมไปรษณีย์โทรเลขจึงได้เปิดบริการธนาณัติขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับฝากส่งเงินของประชาชนให้มีความปลอดภัยและเกิดความสะดวก ซึ่งการฝากส่งเงินทางธนาณัตินั้น ผู้ฝากส่งเงินจะต้องกรอกข้อความและจำนวนเงินลงในใบฝากส่งเงินธนาณัติ ใบธนาณัตินี้จะถูกส่งไปถึงผู้รับทางไปรษณีย์ เรียกว่า ไปรษณีย์ธนาณัติ แต่หากต้องการส่งด่วนจะส่งไปทางโทรเลขก็ได้ เรียกว่า โทรเลขธนาณัติ
กรมไปรษณีย์โทรเลขเริ่มเปิดการธนาณัติโดยตรงกับต่างประเทศก่อนกับดินแดนสเตรตส์เซตเทิลเมนต์ (Straits Settlements) ฮ่องกง มาเก๊า และญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2431 ต่อมาจึงได้เปิดการธนาณัติในประเทศขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2440 โดยเปิดบริการรับฝากส่งเงินระหว่างกรุงเทพฯ กับเมืองพิษณุโลก เฉพาะบริการไปรษณีย์ธนาณัติเพียงอย่างเดียว จำกัดวงเงินรับฝากอย่างสูงฉบับละไม่เกิน 80 บาท
สำหรับหัวเมืองในภาคเหนือนั้น ในระยะแรกมีการเปิดการธนาณัติขึ้นที่เมืองเชียงใหม่ (พ.ศ. 2440)ตามด้วยเมืองนครลำปาง (พ.ศ. 2444) เมืองเชียงรายและเมืองน่าน (พ.ศ. 2450) ตามลำดับ ซึ่งเหตุผลที่มีการเปิดการธนาณัติในหัวเมืองต่างๆ นั้น เราอาจสืบทราบได้จากข้อมูลในเอกสารจดหมายเหตุ ดังตัวอย่างที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้
ข้อมูลจากเอกสารจดหมายเหตุ ชุดกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงโยธาธิการ ระบุว่า เมื่อปี พ.ศ. 2453 กระทรวงโยธาธิการได้มีหนังสือกราบทูล พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการ ความว่า กรมไปรษณีย์โทรเลขได้รายงานมาว่า ที่เมืองแพร่ในมณฑลพายัพ และเมืองอุตรดิตถ์ในมณฑลพิษณุโลก มีความเจริญขึ้นมากกว่าแต่ก่อน จึงสมควรที่เปิดการไปรษณีย์โทรเลขธนาณัติ (กล่าวคือมีทั้งบริการไปรษณีย์ธนาณัติ และโทรเลขธนาณัติ - ผู้เขียน) ขึ้นที่เมืองทั้งสองแห่งนี้ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ราชการและมหาชนที่ฝากส่งเงินไปมาถึงกัน พร้อมกันนี้ได้ถวายร่างประกาศเปิดการรับส่งไปรษณีย์โทรเลขธนาณัติมาพร้อมกัน
เมื่อความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชานุญาตให้เปิดการไปรษณีย์โทรเลขธนาณัติที่เมืองแพร่และเมืองอุตรดิตถ์ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ร.ศ. 129 (พ.ศ. 2453) และนับตั้งแต่นั้นมา ประชาชนในหัวเมืองภาคเหนือจึงคุ้นเคยกับบริการรับ-ส่งเงินทางไปรษณีย์ที่เรียกว่า “ธนาณัติ” จวบจนศตวรรษต่อมาที่ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาแทนที่การทำธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบเดิม
ผู้เขียน: นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
เอกสารและข้อมูลอ้างอิง:
1. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงโยธาธิการ ร.5 ยธ 3.4/11 เรื่อง ประกาศเปิดใช้ไปรสนีย์โทรเลขธนาณัติระหว่างเมืองแพร่ เมืองอุตรดิฐ กับกรุงเทพฯ. [14 – 15 มิ.ย. 129].
2. กรมไปรษณีย์โทรเลข. ประวัติและวิวัฒนาการกรมไปรษณีย์โทรเลข ครบรอบ 80 ปี พ.ศ. 2426 – 2506. พระนคร: โรงพิมพ์ธนาคารออมสิน, 2506.
3. “แจ้งความกรมไปรสนีย์สยาม ว่าด้วยการส่งไปรสนีย์ธนาณัติไปถึงเมืองเชียงใหม่.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 13 ตอนที่ 37 [13 ธันวาคม 115]: 453.
4. “ประกาศกระทรวงโยธาธิการ แพนกกรมไปรสนีย์โทรเลข ว่าด้วยการรับฝากเงินแลจ่ายเงินธนาณัติ ระหว่างนครลำปางกับกรุงเทพฯ.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 18 ตอนที่ 4 [28 เมษายน 120]: 45-46.
5. “ประกาศกระทรวงโยธาธิการ แพนกไปรสนีย์โทรเลข.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 24 ตอนที่ 20 [18 สิงหาคม 126]: 515.
6. “ประกาศกระทรวงโยธาธิการ แพนกไปรสนีย์โทรเลข.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 27 ตอน ง [19 มิถุนายน 129]: 486-487.
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ
ในโลกยุคเทคโนโลยีเช่นในปัจจุบัน การรับ-ส่งเงิน หรือการทำธุรกรรมใดๆ ทางการเงิน ย่อมเป็นเรื่องที่ง่ายแค่ปลายนิ้วสัมผัสเท่านั้น หากแต่คนในอดีตกลับมีประสบการณ์ที่แตกต่าง เพราะพวกเขาต้องพึ่งพาบริการรับ-ส่งเงินผ่านทางไปรษณีย์ซึ่งเป็นบริการที่มีความสะดวกสบายที่สุดในสมัยนั้น นั่นคือบริการธนาณัตินั่นเอง
เดิมทีแล้วการรับ-ส่งเงินในสมัยก่อน พ่อค้าจะนิยมส่งเงินไปให้ผู้รับโดยสอดไปในซองจดหมาย แต่วิธีการนี้ไม่ปลอดภัย เพราะมักทำให้เงินสูญหายไปในระหว่างทาง ด้วยเหตุนี้กรมไปรษณีย์โทรเลขจึงได้เปิดบริการธนาณัติขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับฝากส่งเงินของประชาชนให้มีความปลอดภัยและเกิดความสะดวก ซึ่งการฝากส่งเงินทางธนาณัตินั้น ผู้ฝากส่งเงินจะต้องกรอกข้อความและจำนวนเงินลงในใบฝากส่งเงินธนาณัติ ใบธนาณัตินี้จะถูกส่งไปถึงผู้รับทางไปรษณีย์ เรียกว่า ไปรษณีย์ธนาณัติ แต่หากต้องการส่งด่วนจะส่งไปทางโทรเลขก็ได้ เรียกว่า โทรเลขธนาณัติ
กรมไปรษณีย์โทรเลขเริ่มเปิดการธนาณัติโดยตรงกับต่างประเทศก่อนกับดินแดนสเตรตส์เซตเทิลเมนต์ (Straits Settlements) ฮ่องกง มาเก๊า และญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2431 ต่อมาจึงได้เปิดการธนาณัติในประเทศขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2440 โดยเปิดบริการรับฝากส่งเงินระหว่างกรุงเทพฯ กับเมืองพิษณุโลก เฉพาะบริการไปรษณีย์ธนาณัติเพียงอย่างเดียว จำกัดวงเงินรับฝากอย่างสูงฉบับละไม่เกิน 80 บาท
สำหรับหัวเมืองในภาคเหนือนั้น ในระยะแรกมีการเปิดการธนาณัติขึ้นที่เมืองเชียงใหม่ (พ.ศ. 2440)ตามด้วยเมืองนครลำปาง (พ.ศ. 2444) เมืองเชียงรายและเมืองน่าน (พ.ศ. 2450) ตามลำดับ ซึ่งเหตุผลที่มีการเปิดการธนาณัติในหัวเมืองต่างๆ นั้น เราอาจสืบทราบได้จากข้อมูลในเอกสารจดหมายเหตุ ดังตัวอย่างที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้
ข้อมูลจากเอกสารจดหมายเหตุ ชุดกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงโยธาธิการ ระบุว่า เมื่อปี พ.ศ. 2453 กระทรวงโยธาธิการได้มีหนังสือกราบทูล พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการ ความว่า กรมไปรษณีย์โทรเลขได้รายงานมาว่า ที่เมืองแพร่ในมณฑลพายัพ และเมืองอุตรดิตถ์ในมณฑลพิษณุโลก มีความเจริญขึ้นมากกว่าแต่ก่อน จึงสมควรที่เปิดการไปรษณีย์โทรเลขธนาณัติ (กล่าวคือมีทั้งบริการไปรษณีย์ธนาณัติ และโทรเลขธนาณัติ - ผู้เขียน) ขึ้นที่เมืองทั้งสองแห่งนี้ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ราชการและมหาชนที่ฝากส่งเงินไปมาถึงกัน พร้อมกันนี้ได้ถวายร่างประกาศเปิดการรับส่งไปรษณีย์โทรเลขธนาณัติมาพร้อมกัน
เมื่อความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชานุญาตให้เปิดการไปรษณีย์โทรเลขธนาณัติที่เมืองแพร่และเมืองอุตรดิตถ์ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ร.ศ. 129 (พ.ศ. 2453) และนับตั้งแต่นั้นมา ประชาชนในหัวเมืองภาคเหนือจึงคุ้นเคยกับบริการรับ-ส่งเงินทางไปรษณีย์ที่เรียกว่า “ธนาณัติ” จวบจนศตวรรษต่อมาที่ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาแทนที่การทำธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบเดิม
ผู้เขียน: นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
เอกสารและข้อมูลอ้างอิง:
1. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงโยธาธิการ ร.5 ยธ 3.4/11 เรื่อง ประกาศเปิดใช้ไปรสนีย์โทรเลขธนาณัติระหว่างเมืองแพร่ เมืองอุตรดิฐ กับกรุงเทพฯ. [14 – 15 มิ.ย. 129].
2. กรมไปรษณีย์โทรเลข. ประวัติและวิวัฒนาการกรมไปรษณีย์โทรเลข ครบรอบ 80 ปี พ.ศ. 2426 – 2506. พระนคร: โรงพิมพ์ธนาคารออมสิน, 2506.
3. “แจ้งความกรมไปรสนีย์สยาม ว่าด้วยการส่งไปรสนีย์ธนาณัติไปถึงเมืองเชียงใหม่.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 13 ตอนที่ 37 [13 ธันวาคม 115]: 453.
4. “ประกาศกระทรวงโยธาธิการ แพนกกรมไปรสนีย์โทรเลข ว่าด้วยการรับฝากเงินแลจ่ายเงินธนาณัติ ระหว่างนครลำปางกับกรุงเทพฯ.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 18 ตอนที่ 4 [28 เมษายน 120]: 45-46.
5. “ประกาศกระทรวงโยธาธิการ แพนกไปรสนีย์โทรเลข.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 24 ตอนที่ 20 [18 สิงหาคม 126]: 515.
6. “ประกาศกระทรวงโยธาธิการ แพนกไปรสนีย์โทรเลข.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 27 ตอน ง [19 มิถุนายน 129]: 486-487.
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ
(จำนวนผู้เข้าชม 1776 ครั้ง)