...

แรกมีสุขาภิบาลในภาคเหนือ
-- องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ: แรกมีสุขาภิบาลในภาคเหนือ --
 ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นยุคที่ท้องที่ต่างๆ ตามหัวเมืองทั่วประเทศมีความเจริญมากขึ้น มีผู้คนอาศัยอยู่มากขึ้น ซึ่งการที่จะบำรุงรักษาและซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภค รวมถึงรักษาความสะอาดในเมืองต่างๆ นั้น หากจะต้องพึ่งพางบประมาณจากทางราชการแต่เพียงอย่างเดียวคงจะเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมนัก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชดำริว่า ควรมีการเก็บภาษีในท้องที่ แล้วนำเงินภาษีนั้นไปบำรุงซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภค และรักษาความสะอาดในท้องที่ของตน แนวพระราชดำรินี้เป็นที่มาของ “การสุขาภิบาล” อันเป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นที่เก่าแก่ที่สุดของไทย โดยได้มีการจัดตั้งสุขาภิบาลในท้องถิ่นแห่งแรกขึ้นที่ตำบลท่าฉลอม เมืองสมุทรสาคร เมื่อปี พ.ศ. 2448 จากนั้นได้มีการตรา “พระราชบัญญัติจัดการศุขาภิบาลตามหัวเมือง ร.ศ. 127” เมื่อปี พ.ศ. 2451 เพื่อเป็นการขยายการสุขาภิบาลไปตามหัวเมืองในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ รวมถึงในภาคเหนือด้วย โดยสุขาภิบาลแห่งแรกในภาคเหนือ คือ สุขาภิบาลตำบลตลาดท่าอิฐ เมืองพิชัย (ปัจจุบันคือจังหวัดอุตรดิตถ์) สุขาภิบาลแห่งนี้มีประวัติความเป็นมาอย่างไร? ข้อมูลจากเอกสารจดหมายเหตุมีคำตอบ
 จุดเริ่มต้นของการจัดตั้งสุขาภิบาลที่ตลาดท่าอิฐนั้น เราสามารถพบได้จากเอกสารจดหมายเหตุชุดกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงมหาดไทย เรื่อง ศุขาภิบาลตำบลท่าอิฐ เมืองพิไชย (สะกดตามต้นฉบับ) ซึ่งระบุว่า ในเดือนมกราคม ร.ศ. 128 (นับอย่างปฏิทินปัจจุบันคือ พ.ศ. 2453) พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ทรงได้รับใบบอกจากพระยาอุไทยมนตรี ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก ความว่า พระพิบูลย์สงคราม ผู้ว่าราชการเมืองพิไชยได้ชี้แจงแก่บรรดาพ่อค้าในเมืองพิไชยถึงความสำคัญของการสุขาภิบาล จนหัวหน้าราษฎรเห็นชอบว่าควรจะจัดตั้งขึ้น พระพิบูลย์สงครามจึงประชุมคณะกรรมการพิเศษ พร้อมด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และราษฎร ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นว่าควรจัดการสุขาภิบาลเฉพาะในตำบลตลาดท่าอิฐก่อน และในการจัดการนั้นจะต้องดำเนินงานดังต่อไปนี้
 1. การรักษาความสะอาด
 2. จุดโคมไฟตามถนน
 3. ซ่อมแซมถนนที่ชำรุดให้ดีขึ้น
 ทั้งนี้คณะกรรมการได้คำนวณค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้ง 3 ข้อ รวมเป็นเงิน 2,812 บาท เมื่อรวมกับข้อมูลจากการสำรวจบ้านเรือนราษฎรในเขตสุขาภิบาล และข้อมูลการเก็บภาษีโรงร้านในเขตสุขาภิบาลที่ผ่านมา จึงกำหนดอัตราการเก็บภาษีเรือนโรงร้านใหม่เพื่อให้มีเงินเพียงพอต่อการจัดการสุขาภิบาล โดยแบ่งอัตราการเก็บภาษีเป็น 3 ประเภทดังนี้
 1. เรือนโรงร้านที่มีสินค้าแต่ไม่เสียค่าเช่า เก็บห้องละ 3 บาท ต่อปี
 2. เรือนโรงร้านที่ต้องเสียค่าเช่า เก็บห้องละ 1 ใน 10 ของค่าเช่ารายปี
 3. เรือนโรงร้านที่ไม่ได้ไว้สินค้าหรือจำหน่ายสินค้าและไม่เสียค่าเช่า เก็บตารางวาละ 15 สตางค์ต่อปี
 จากความในใบบอกฉบับนี้ กรมหลวงดำรงราชานุภาพทรงมีพระดำริว่า การจัดการสุขาภิบาลของพระพิบูลย์สงครามเป็นการถูกต้องตามพระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาลตามหัวเมือง ร.ศ. 127 จึงทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตออกประกาศใช้พระราชบัญญัติสุขาภิบาลตำบลตลาดท่าอิฐ เมืองพิชัย และประกาศแก้อัตราเก็บเงินภาษีเรือนโรงร้านในเขตสุขาภิบาลตำบลตลาดท่าอิฐ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ออกประกาศทั้ง 2 ฉบับเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ร.ศ. 129 (พ.ศ. 2453) และเริ่มจัดการสุขาภิบาลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ร.ศ. 129 เป็นต้นไป
ผู้เขียน: นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
เอกสารอ้างอิง:
1. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงมหาดไทย ร.5 ม. 12.2/9 เรื่อง ศุขาภิบาลตำบลท่าอิฐ เมืองพิไชย [19 – 21 พ.ค. 129]
2. “ประกาศแก้ภาษีโรงร้าน จัดศุขาภิบาลตลาดท่าฉลอมเมืองสมุทสาคร.” (ร.ศ. 124) ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 22 (18 มีนาคม): 1155-1156.
3. “พระราชบัญญัติจัดการศุขาภิบาลตามหัวเมือง ร.ศ. 127.” (ร.ศ. 127). ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 25 (13 กันยายน): 668-673.
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ













(จำนวนผู้เข้าชม 1015 ครั้ง)


Messenger