เปลี่ยนนามอำเภอ
-- องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ: เปลี่ยนนามอำเภอ --
แต่เดิมนั้น การกำหนดนามของอำเภอต่างๆ จะกำหนดตามชื่อตำบลที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ ซึ่งการกำหนดนามในลักษณะนี้ เป็นไปตามประกาศกระแสพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ที่ได้ประกาศไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2459
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติแล้ว ยังคงพบปัญหาในการกำหนดนามอำเภอตามประกาศดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2470 กระทรวงมหาดไทยได้รับใบบอกจากมณฑลพายัพว่า มีอำเภอหลายแห่งมีนามที่ไม่ตรงกับที่ตั้งที่ว่าการ และราษฎรเองก็ไม่นิยมเรียกนามอำเภอที่ใช้อยู่ จึงเสนอขอเปลี่ยนนามอำเภอในมณฑลพายัพรวม 11 แห่ง ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป ในที่นี่จะขอยกตัวอย่าง 3 อำเภอคือ
1. อำเภอบุญยืน จังหวัดน่าน ขอเปลี่ยนนามเป็นอำเภอเวียงสา
2. อำเภอบ้านม่วง จังหวัดน่าน ขอเปลี่ยนนามเป็นอำเภอเมืองปง (ภายหลังโอนมาอยู่กับจังหวัดเชียงรายและจังหวัดพะเยาตามลำดับ)
3. อำเภอบ้านกลาง จังหวัดแพร่ ขอเปลี่ยนนามเป็นอำเภอเมืองสอง
การเสนอขอเปลี่ยนนามของทั้ง 3 อำเภอ มีเหตุผลมาจากนามอำเภอที่ขอเปลี่ยนใหม่นั้น เป็นชื่อที่ราษฎรนิยมเรียก และเป็นที่เข้าใจกันมาแต่เดิมมากกว่าชื่อปัจจุบันที่ทราบกันแต่ทางราชการเท่านั้น
ความเรื่องนี้ทราบถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ทรงมีพระราชกระแสว่า โดยมากไม่ทรงเห็นขัดข้อง แต่ทรงสงสัยเรื่องนามอำเภอที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “เมือง” เช่น อำเภอเมืองสอง จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทูลถามไปยังกรมพระดำรงราชานุภาพ (พระยศในขณะนั้น)
กรมพระดำรงราชานุภาพทรงมีพระดำริเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ไม่ควรใช้คำว่า “เมือง” ในชื่ออำเภอ เช่น “อำเภอเมืองสอง” ควรเรียกว่า “อำเภอสอง” เท่านั้นก็พอแล้ว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นด้วยตามพระดำริ และโปรดเกล้าฯ ให้บอกไปยังกระทรวงมหาดไทยตามนัยแห่งพระดำริดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการเสนอขอเปลี่ยนนามอำเภอ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงเห็นชอบแล้วก็ตาม แต่กว่าที่อำเภอทั้ง 3 แห่ง (รวมถึงอำเภออื่นๆ ที่เสนอมาพร้อมกัน) จะได้รับการเปลี่ยนนามกันจริงๆ ต้องรอจนถึงปี พ.ศ. 2482 เมื่อมี “พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามอำเภอ กิ่งอำเภอ และตำบลบางแห่ง” ออกมาอย่างเป็นทางการ
ผู้เขียน: นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
เอกสารอ้างอิง:
1. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 7 กระทรวงมหาดไทย ร.7 ม. 4.3/2 เรื่อง นามเมือง, นามอำเภอ, นามจังหวัด [28 มิ.ย. 2470 – 21 เม.ย. 2475]
2. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารส่วนพระองค์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สบ.2.42/81 เรื่อง กระทรวงมหาดไทยขอเปลี่ยนนามอำเภอในมณฑลพายัพ [28 มิ.ย. – 4 ก.ค. 2470]
3. “พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามอำเภอ กิ่งอำเภอ และตำบลบางแห่ง พุทธศักราช 2482.” (2482). ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 56 (17 เมษายน): 354-363.
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ
.
แต่เดิมนั้น การกำหนดนามของอำเภอต่างๆ จะกำหนดตามชื่อตำบลที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ ซึ่งการกำหนดนามในลักษณะนี้ เป็นไปตามประกาศกระแสพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ที่ได้ประกาศไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2459
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติแล้ว ยังคงพบปัญหาในการกำหนดนามอำเภอตามประกาศดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2470 กระทรวงมหาดไทยได้รับใบบอกจากมณฑลพายัพว่า มีอำเภอหลายแห่งมีนามที่ไม่ตรงกับที่ตั้งที่ว่าการ และราษฎรเองก็ไม่นิยมเรียกนามอำเภอที่ใช้อยู่ จึงเสนอขอเปลี่ยนนามอำเภอในมณฑลพายัพรวม 11 แห่ง ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป ในที่นี่จะขอยกตัวอย่าง 3 อำเภอคือ
1. อำเภอบุญยืน จังหวัดน่าน ขอเปลี่ยนนามเป็นอำเภอเวียงสา
2. อำเภอบ้านม่วง จังหวัดน่าน ขอเปลี่ยนนามเป็นอำเภอเมืองปง (ภายหลังโอนมาอยู่กับจังหวัดเชียงรายและจังหวัดพะเยาตามลำดับ)
3. อำเภอบ้านกลาง จังหวัดแพร่ ขอเปลี่ยนนามเป็นอำเภอเมืองสอง
การเสนอขอเปลี่ยนนามของทั้ง 3 อำเภอ มีเหตุผลมาจากนามอำเภอที่ขอเปลี่ยนใหม่นั้น เป็นชื่อที่ราษฎรนิยมเรียก และเป็นที่เข้าใจกันมาแต่เดิมมากกว่าชื่อปัจจุบันที่ทราบกันแต่ทางราชการเท่านั้น
ความเรื่องนี้ทราบถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ทรงมีพระราชกระแสว่า โดยมากไม่ทรงเห็นขัดข้อง แต่ทรงสงสัยเรื่องนามอำเภอที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “เมือง” เช่น อำเภอเมืองสอง จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทูลถามไปยังกรมพระดำรงราชานุภาพ (พระยศในขณะนั้น)
กรมพระดำรงราชานุภาพทรงมีพระดำริเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ไม่ควรใช้คำว่า “เมือง” ในชื่ออำเภอ เช่น “อำเภอเมืองสอง” ควรเรียกว่า “อำเภอสอง” เท่านั้นก็พอแล้ว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นด้วยตามพระดำริ และโปรดเกล้าฯ ให้บอกไปยังกระทรวงมหาดไทยตามนัยแห่งพระดำริดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการเสนอขอเปลี่ยนนามอำเภอ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงเห็นชอบแล้วก็ตาม แต่กว่าที่อำเภอทั้ง 3 แห่ง (รวมถึงอำเภออื่นๆ ที่เสนอมาพร้อมกัน) จะได้รับการเปลี่ยนนามกันจริงๆ ต้องรอจนถึงปี พ.ศ. 2482 เมื่อมี “พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามอำเภอ กิ่งอำเภอ และตำบลบางแห่ง” ออกมาอย่างเป็นทางการ
ผู้เขียน: นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
เอกสารอ้างอิง:
1. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 7 กระทรวงมหาดไทย ร.7 ม. 4.3/2 เรื่อง นามเมือง, นามอำเภอ, นามจังหวัด [28 มิ.ย. 2470 – 21 เม.ย. 2475]
2. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารส่วนพระองค์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สบ.2.42/81 เรื่อง กระทรวงมหาดไทยขอเปลี่ยนนามอำเภอในมณฑลพายัพ [28 มิ.ย. – 4 ก.ค. 2470]
3. “พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามอำเภอ กิ่งอำเภอ และตำบลบางแห่ง พุทธศักราช 2482.” (2482). ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 56 (17 เมษายน): 354-363.
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ
.
(จำนวนผู้เข้าชม 796 ครั้ง)