อัญเชิญพระพุทธรูปเมืองพะเยา
-- องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ : อัญเชิญพระพุทธรูปเมืองพะเยา --
เอกสารจดหมายเหตุ ชุดกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง พระพุทธรูปเมืองพะเยา ได้กล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งเกี่ยวกับพระพุทธรูปในเมืองพะเยาเมื่อร้อยกว่าปีก่อน โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ร.ศ. 122 (พ.ศ. 2446) พระสุรเดชรณชิต ได้มีหนังสือกราบทูล พลตรี พระเจ้าลูกยาเธอฯ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการในขณะนั้น ความว่า ได้ไปพบพระพุทธรูปองค์หนึ่งอยู่ในโบสถ์วัดหลวงเมืองพะเยา เป็นพระพุทธรูปปางขัดสมาธิเพชร ขนาดหน้าตักกว้าง 3 ฟุต 5 นิ้ว สูงด้านหน้าตั้งแต่พื้นแนวเข่าถึงริมพระศก 3 ฟุต 5 นิ้ว สูงด้านหลังตั้งแต่ทับเสร็จฐานถึงยอดเมาลี 4 ฟุต ฐานสูง 6 นิ้ว ที่ฐานมีจารึกซึ่งพระสุรเดชรณชิตระบุว่าเป็นตัวอักษรลาว (น่าจะหมายถึงอักษรล้านนา – ผู้เขียน) กับพม่าปนกัน และได้ให้ตุเจ้าปินตา วัดราชคฤห์ (พระครูศรีวิราชวชิรปัญญา - ผู้เขียน) เป็นผู้อ่านและแปลจารึก ได้ความดังนี้ (สะกดตามต้นฉบับ)
(คำอ่าน)
ฑันตาติ ปิตะกาทาทิ เทสิตา
ปิวิสุํวิสุํ เอเกกะ อุทธะริตตวา
นะ วิพัชเช ปะติหาสิยา
(คำแปล)
ตั้งอยู่ ยังพระไตรย์ปิฎกทั้งมวน เทศนา
ยังธรรมอันต่างๆ ด้วยตนเอง ยกขึ้นแล้ว
ชะนะมานทั้งมวน ทำปาติหารให้อัศจรรย์เป็นอันมาก
นอกจากนี้ พระสุรเดชรณชิต ได้สอบถามข้าราชการ พระสงฆ์ และชาวบ้านถึงที่มาของพระพุทธรูปองค์นี้ แต่ไม่มีผู้ใดทราบที่มา ทราบแต่เพียงว่าได้เห็นอยู่ที่วัดหลวงนานแล้ว พระสุรเดชรณชิตมีความเห็นว่า เนื่องจากพระองค์นี้ไม่ใช่พระประธานในโบสถ์วัดหลวง จึงน่าจะได้มาจากเมืองอื่น ไม่ได้สร้างที่เมืองพะเยา และด้วยความที่พระองค์นี้มีลักษณะงดงามมาก จึงได้ปรึกษากับหลวงศรีสมรรถการ ข้าหลวงและอุปราช เห็นว่าควรทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หากทรงมีพระราชประสงค์
ความเรื่องนี้ทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชประสงค์พระพุทธรูปดังกล่าว พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น จึงทรงมีโทรเลขไปยังเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ร.ศ. 122 ว่า หากพระพุทธรูปองค์ไม่ใช่พระพุทธรูปองค์สำคัญที่ชาวเมืองหวงแหนแล้ว ขอให้ช่วยเป็นธุระจัดคนเชิญพระพุทธรูปลงไปถวายที่กรุงเทพฯ ในฤดูน้ำนี้ด้วย ซึ่งเจ้าบุญวาทย์ได้มีโทรเลขตอบกลับมาในวันที่ 26 มิถุนายน ร.ศ. 122 ว่ามีความยินดี และจะได้รับจัดการส่งพระพุทธรูปลงมาถวาย
จากข้อมูลในเอกสารจดหมายเหตุชุดดังกล่าว ทำให้เราทราบว่า ที่มีเมืองพะเยาเคยมีพระพุทธรูปที่มีลักษณะงาม และมีความน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจารึกที่ฐานพระพุทธรูป ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องสืบค้นกันต่อไปว่า มีการนำพระพุทธรูปลงมาถวายจริงหรือไม่ และหากมีการถวายจริงแล้ว ปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานอยู่ที่ใด
ผู้เขียน : นายธัชพงศ์ พัตรสงวน ( นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา )
เอกสารอ้างอิง :
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงศึกษาธิการ ร.5 ศ. 13/30 เรื่อง พระพุทธรูปเมืองพะเยา [20 มิ.ย. – 2 ก.ค. 122]
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ
เอกสารจดหมายเหตุ ชุดกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง พระพุทธรูปเมืองพะเยา ได้กล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งเกี่ยวกับพระพุทธรูปในเมืองพะเยาเมื่อร้อยกว่าปีก่อน โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ร.ศ. 122 (พ.ศ. 2446) พระสุรเดชรณชิต ได้มีหนังสือกราบทูล พลตรี พระเจ้าลูกยาเธอฯ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการในขณะนั้น ความว่า ได้ไปพบพระพุทธรูปองค์หนึ่งอยู่ในโบสถ์วัดหลวงเมืองพะเยา เป็นพระพุทธรูปปางขัดสมาธิเพชร ขนาดหน้าตักกว้าง 3 ฟุต 5 นิ้ว สูงด้านหน้าตั้งแต่พื้นแนวเข่าถึงริมพระศก 3 ฟุต 5 นิ้ว สูงด้านหลังตั้งแต่ทับเสร็จฐานถึงยอดเมาลี 4 ฟุต ฐานสูง 6 นิ้ว ที่ฐานมีจารึกซึ่งพระสุรเดชรณชิตระบุว่าเป็นตัวอักษรลาว (น่าจะหมายถึงอักษรล้านนา – ผู้เขียน) กับพม่าปนกัน และได้ให้ตุเจ้าปินตา วัดราชคฤห์ (พระครูศรีวิราชวชิรปัญญา - ผู้เขียน) เป็นผู้อ่านและแปลจารึก ได้ความดังนี้ (สะกดตามต้นฉบับ)
(คำอ่าน)
ฑันตาติ ปิตะกาทาทิ เทสิตา
ปิวิสุํวิสุํ เอเกกะ อุทธะริตตวา
นะ วิพัชเช ปะติหาสิยา
(คำแปล)
ตั้งอยู่ ยังพระไตรย์ปิฎกทั้งมวน เทศนา
ยังธรรมอันต่างๆ ด้วยตนเอง ยกขึ้นแล้ว
ชะนะมานทั้งมวน ทำปาติหารให้อัศจรรย์เป็นอันมาก
นอกจากนี้ พระสุรเดชรณชิต ได้สอบถามข้าราชการ พระสงฆ์ และชาวบ้านถึงที่มาของพระพุทธรูปองค์นี้ แต่ไม่มีผู้ใดทราบที่มา ทราบแต่เพียงว่าได้เห็นอยู่ที่วัดหลวงนานแล้ว พระสุรเดชรณชิตมีความเห็นว่า เนื่องจากพระองค์นี้ไม่ใช่พระประธานในโบสถ์วัดหลวง จึงน่าจะได้มาจากเมืองอื่น ไม่ได้สร้างที่เมืองพะเยา และด้วยความที่พระองค์นี้มีลักษณะงดงามมาก จึงได้ปรึกษากับหลวงศรีสมรรถการ ข้าหลวงและอุปราช เห็นว่าควรทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หากทรงมีพระราชประสงค์
ความเรื่องนี้ทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชประสงค์พระพุทธรูปดังกล่าว พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น จึงทรงมีโทรเลขไปยังเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ร.ศ. 122 ว่า หากพระพุทธรูปองค์ไม่ใช่พระพุทธรูปองค์สำคัญที่ชาวเมืองหวงแหนแล้ว ขอให้ช่วยเป็นธุระจัดคนเชิญพระพุทธรูปลงไปถวายที่กรุงเทพฯ ในฤดูน้ำนี้ด้วย ซึ่งเจ้าบุญวาทย์ได้มีโทรเลขตอบกลับมาในวันที่ 26 มิถุนายน ร.ศ. 122 ว่ามีความยินดี และจะได้รับจัดการส่งพระพุทธรูปลงมาถวาย
จากข้อมูลในเอกสารจดหมายเหตุชุดดังกล่าว ทำให้เราทราบว่า ที่มีเมืองพะเยาเคยมีพระพุทธรูปที่มีลักษณะงาม และมีความน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจารึกที่ฐานพระพุทธรูป ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องสืบค้นกันต่อไปว่า มีการนำพระพุทธรูปลงมาถวายจริงหรือไม่ และหากมีการถวายจริงแล้ว ปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานอยู่ที่ใด
ผู้เขียน : นายธัชพงศ์ พัตรสงวน ( นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา )
เอกสารอ้างอิง :
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงศึกษาธิการ ร.5 ศ. 13/30 เรื่อง พระพุทธรูปเมืองพะเยา [20 มิ.ย. – 2 ก.ค. 122]
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ
(จำนวนผู้เข้าชม 904 ครั้ง)