ภาพกว๊านพะเยาบนแผนที่ (ตอนที่ ๒)
-- ภาพกว๊านพะเยาบนแผนที่ (ตอนที่ ๒) --
ในตอนที่ ๑ ได้นำเสนอแผนที่กว๊านพะเยา อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย ปี ๒๕๑๘ ซึ่งแสดงให้เห็นบริเวณโดยรอบและลักษณะของพื้นที่อย่างละเอียดนั้น
-- ครั้นสืบค้นเอกสารจดหมายเหตุต่อเนื่องพบว่า แผนกช่าง กองบำรุง กรมประมง ได้จำลองแผนที่กว๊านพะเยาขึ้นมาก่อนแล้วหลายสิบปี โดยวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ เจ้าหน้าที่คัดลอกแผนที่จากกระดาษแก้วต้นฉบับชำรุด และอ้างว่าลงที่หมายมาตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ หรือช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั่นเอง ..
ในแผนที่มีสิ่งที่น่าสนใจคือ
แผนที่ถูกจำลองด้วยมาตราส่วน ๑ : ๑๖,๐๐๐ ซึ่งชัดเจนกว่าแผนที่ปี ๒๕๑๘ ที่ใช้มาตราส่วน ๑ : ๕๐,๐๐๐
มีการระบุเครื่องหมายต่างๆให้เข้าใจง่าย เช่น หลักเขตคอนกรีตกว๊านพะเยาหรือขอบเขตความกว้างของกว๊าน หลักหมุดท่อซีเมนต์ (ดังปรากฏอยู่ทุกวันนี้) ที่ตั้งของชุมชน ถนน เขตห้ามสำหรับสงวนพันธุ์สัตว์น้ำ เขตอนุญาตจำกัดการใช้และวิธีการจับสัตว์น้ำบางอย่าง เป็นต้น
พื้นที่บริเวณทิศตะวันออกของกว๊าน สองข้างถนนประชาธิปัตย์ (ถนนพหลโยธินสายใน) ระบุศาสนสถานสำคัญทั้งวัดสรีคำโคม (พระเจ้าตนหลวง) ซึ่งในแผนที่เขียนอย่างนี้ วัดราชสันฐาน วัดราชครึห์ วัดสรีอุมงค์คำ พบร่องรอยกำแพงเก่า (กำแพงเมืองหรือไม่ ?) นอกจากนั้นปรากฏโรงสีข้าว ๓ แห่ง กลุ่มตลาดสด ที่ว่าการอำเภอพะเยาตั้งอยู่ตรงข้ามสถานีตำรวจ ที่ทำการเทศบาล และที่น่าสนใจคือ มุมขวาล่างของถนนมีทางแยกเป็นถนนดินไปหมู่บ้านดอกคำใต้ ซึ่งยังเป็นหมู่บ้านก่อนที่จะจัดตั้งเป็นตำบลและอำเภอตามลำดับ
แผนที่กว๊านพะเยานี้แสดงถึงขอบเขตความกว้างใหญ่ของกว๊านอย่างชัดเจน เพราะระบุหลักเขตคอนกรีตแน่นอน สามารถตอบคำถามที่เกริ่นไว้ในตอนที่ ๑ ได้ว่า กว๊านใหญ่โตเพียงใด
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เจ้าหน้าที่แผนกช่าง กองบำรุง กรมประมง จะคัดลอกแผนที่จากกระดาษของเดิมปี ๒๔๘๓ ในปี ๒๔๙๔ แต่มุมล่างสุดกลับมีข้อความเขียนว่า พื้นที่กำจัดวัชพืชปี ๒๕๑๘ นั่นหมายความว่า แผนที่มีการคัดลอกและเพิ่มเติมรายละเอียดต่างๆเรื่อยมา สำหรับสถานีบำรุงพันธุ์ ๒ อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย ใช้ปฏิบัติงานประมงนั่นเอง
จากแผนที่ดังกล่าวมาทั้งหมด หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พะเยา ยังมุ่งมั่นศึกษา วิเคราะห์ เอกสารจดหมายเหตุอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะและอนุชนรุ่นหลังสืบไป
ผู้เขียน : นายธานินทร์ ทิพยางค์ (นักจดหมายเหตุ)
เอกสารอ้างอิง : หจช.พย. แผนที่สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา กรมประมง กระทรวงเกษตร
และสหกรณ์ ผจ (2) กษ 1 / 21 เรื่องแผนที่แสดงเขตกว๊านพะเยา อำเภอ
พะเยา จังหวัดเชียงราย (14 ม.ค. - 14 มี.ค. 2494)
(จำนวนผู้เข้าชม 968 ครั้ง)