องค์ความรู้ : อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เรื่อง : คติมงคลความอุดมสมบูรณ์ ณ ปราสาทพนมรุ้ง
องค์ความรู้ : อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
เรื่อง : คติมงคลความอุดมสมบูรณ์ ณ ปราสาทพนมรุ้ง
ในสมัยโบราณ ปรากฏการณ์ธรรมชาติ ทรัพยากรทางธรรมชาติถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตและแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของถิ่นฐานบ้านเมืองนั้นๆ เป็นต้นว่ามีฟ้าฝนที่ดีตกต้องตามฤดูการ มีการทำนาได้ข้าวปลาธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ ผู้คนในเมืองนั้นจึงอยู่ดีกินดีมีความสุขไม่อดอยากยากแค้น ผู้คนจึงให้ความสำคัญกับธรรมชาติ และแสดงออกผ่านคติความเชื่อการเคารพนอบน้อมต่อธรรมชาติ บูชาฟ้าฝน ภูเขาป่าไม้ สายน้ำต่างๆ ต่อมาเมื่อศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูและพุทธศาสนาจากอินเดียแพร่เข้ามา ได้มีการยอมรับนับถือและยังคงให้ความสำคัญกับธรรมชาติ โดยถือเป็นศิริมงคลที่จะนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ ผ่านทางเทพเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือที่เชื่อว่าสามารถดลบันดาลประทานพรความอุดมสมบูรณ์เหล่านั้นได้ ดังนั้นคติความอุดมสมบูรณ์จึงปรากฏตามศาสนสถานต่างๆ เช่นเดียวกับที่ปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งสร้างขึ้นเนื่องในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ลัทธิวะนิกาย อันมีพระศิวะมหาเทพเป็นเทพเจ้าสูงสุด
การสร้างเทวาลัยถวายองค์พระศิวะเหนือยอดเขาพนมรุ้ง โดยมีผังปราสาทประธานอยู่ใจกลางเพื่อประดิษฐานองค์ศิวลึงค์ภายในห้องครรภคฤหะ แสดงถึงคติการให้กำเนิดของทุกสรรพสิ่งบนโลกและจักรวาล ก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ และยังมีภาพสลักประดับสถาปัตยกรรม ณ ปราสาทพนมรุ้ง ตัวอย่างภาพสลักที่เสาติดผนังซุ้มประตูมณฑปปราสาทพนมรุ้งด้านทิศตะวันออก แสดงถึงพิธีกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับการเกษตรกรรมและความอุดมสมบูรณ์ ที่เรียกว่า “พิธีปูราณะธัณยกา” ปรากฏภาพสตรีสูงศักดิ์ยืนอยู่ที่ใต้ต้นไม้ใช้มือซ้ายเหนี่ยวกิ่งไม้ มือขวายื่นไปคล้ายจะหยิบหรือหว่านธัญพืชในพานที่สาวบริวารนั่งถือถวาย มีฤาษีกำลังสวดประกอบพิธีกรรม ซึ่งคาดว่าภาพนี้อาจแสดงถึงพิธีกรรมการเพาะปลูกการทำเกษตรกรรมเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี เช่นเดียวกับพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในปัจจุบัน นอกจากนี้ปราสาทพนมรุ้งยังพบประติมากรรมรูป พระวรุณ เทพเจ้าแห่งสายฝน เทพผู้รักษาทิศตะวันตก สลักอยู่ที่บรรพแถลงประดับชั้นเรือนยอดปราสาทพนมรุ้งและที่แท่นลูกบาศก์หินทราย ที่หน้าบันชั้นลดปราสาทประธานพนมรุ้งยังพบภาพสลักพิธีกรรมมีบุคคลเทินหม้อน้ำมงคลหรือที่เรียกว่ากลศ เป็นหม้อใส่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ลักษณะคล้ายแจกันใส่น้ำและดอกบัว สัญลักษณ์ของความเจริญงอกงามและความเป็นอมตะด้วย ส่วนภาพสลักที่เป็นสัญลักษณ์ความอุดมสมบูรณ์ ที่สำคัญอีกประการ คือ ภาพสลักดอกบัวแปดกลีบ ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมาก ยังแสดงถึงมีความบริสุทธิ์หลุดพ้น นอกจากนี้ยังเป็นสัญลักษณ์แผนผังศูนย์กลางจักรวาล โดยมีกลีบบัวแปดกลีบเปรียบดั่งทิศทั้งแปดล้อมรอบเขาพระสุเมรุนั่นเอง ที่ปราสาทพนมรุ้งพบทั้งแผ่นทองคำสลักลายดอกบัวแปดกลีบ ภาพสลักใจกลางสะพานนาคราช และภาพสลักนูนต่ำบนแท่นลูกบาศก์หินทรายเทพประจำทิศ ซึ่งลายดอกบัวเหล่านี้เป็นกลีบดอกบัวหลวงมีฝักเกสรอยู่กึ่งกลางดอก นอกจากนี้ยังพบภาพสลักดอกบัวขาบและบัวกุมุท ซึ่งเป็นพันธ์บัวสายชนิดหนึ่ง และลายดอกไม้พันธุ์พฤกษาต่างๆ สลักเป็นลายประดับที่ปราสาทประธานพนมรุ้งด้วย
ที่ปลายกรอบหน้าบันปราสาทพนมรุ้งและสะพานนาคราชชั้นที่ 2 และ3 จะพบว่ามีการสลักสวดลายเป็นมกรคายนาค และบางที่นาคยังคายพวงอุบะเพชรพลอยออกมาอีกด้วย ซึ่งมกรมีคติมาแต่อินเดีย เป็นสัตว์ในเทพนิยายอาศัยในทะเลลึก แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ มกรคายนาคออกมา ซึ่งนาคเป็นสัญลักษณ์ของสายน้ำ และนาคที่คายพวงอุบะดอกไม้และเพชรพลอยออกมาก็เพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างยิ่งเพื่อให้สถานที่นั้นเกิดแต่ความเป็นมงคลและอำนวยพรให้ผู้ที่เขามาภายในเทวาลัยได้รับแต่ความเป็นศิริมงคลความอุมดมสมบูรณ์อย่างไม่สิ้นสุดนั้นเอง
จากตัวอย่างเรื่องราวของสัญลักษณ์แห่งความอุมดสมบูรณ์และความเป็นสิริมงคลจากปราสาทพนมรุ้งนั้น แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของผู้คนในยุคสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี เป็นต้นว่ามีสังคมเกษตรกรรม มีคติความเชื่ออันเกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติ ซึ่งแม้ในปัจจุบัน ก็ยังมีคติความเชื่อและพิธีกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับความอุดมสมบูรณ์อยู่ จะเห็นได้จากงานพระราชพิธีพืชมงคล จรดพระนังคัลแรกนาขวัญของราชสำนักไทย เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่เกษตรกรและประชาชนทุกหมู่เหล่า และในแต่ละภูมิภาคก็มีความเชื่อพิธีกรรมแตกต่างกันไป เช่นพิธีแรกนาดูฤกษ์ยามก่อนไถนาครั้งแรก พิธีทำขวัญข้าว พิธีเสี่ยงทายฟ้าฝนและการเซ่นไหว้บวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในช่วงฤดูทำนาเพื่อขอให้ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาลและบังเกิดแต่ความอุดมสมบูรณ์นั่นเอง
เรียบเรียงโดย: นายสุทธินันท์ พรหมชัย นักโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
เอกสารอ้างอิง:
สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, หม่อมราชวงศ์. ปราสาทพนมรุ้ง ศาสนบรรพตที่งดงามที่สุดในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่
๕. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๙.
พิสิฐ เจริญวงศ์ และคณะ. ปราสาทพนมรุ้ง. พิมพ์ครั้งที่ ๕. บุรีรัมย์: โรงพิมพ์วินัย, ๒๕๔¬๘.
สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร. ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๕๐.
(จำนวนผู้เข้าชม 670 ครั้ง)