องค์ความรู้ : อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
เรื่อง : เจ้าพ่อปราสาททอง ศูนย์รวมศรัทธา ณ เชิงเขาพนมรุ้ง
ณ ภูเขาพนมรุ้ง อันเป็นที่ตั้งของปราสาทพนมรุ้ง ศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ - ฮินดูอันศักดิ์สิทธิ์ ที่สร้างขึ้นตามรูปแบบวัฒนธรรมเขมรโบราณ ซึ่งผู้คนจากทั่วทุกสารทิศเดินทางมาสักการะขอพรอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วงต้นเดือนเมษายนจะมีพิธีบวงสรวงและจัดงานประจำปีประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งอย่างยิ่งใหญ่อลังการ และอีกสถานที่หนึ่งซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชุมชนโดยรอบเขาพนมรุ้งก็คือ “ศาลเจ้าพ่อปราสาททอง” ตั้งอยู่เชิงเขาฝั่งตะวันตกในท้องที่ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ริมถนนทางขึ้นสู่อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เป็นศาลที่มีความสำคัญและผู้คนให้ความนับถืออย่างมาก ดังปรากฏในคำขวัญของอำเภอเฉลิมพระเกียรติว่า “เมืองพนมรุ้ง ทุ่งฝ้ายคำ นามพระราชทาน ตำนานทับหลัง ที่ตั้งเจ้าพ่อปราสาททอง ของดีผ้าภูอัคนี”
ศาลเจ้าพ่อปราสาททองแห่งนี้ ไม่พบการกล่าวถึงในเอกสารหรือตำนานนิทานท้องถิ่นใดๆ แต่จากการสอบถามผู้สูงอายุในชุมชนที่มีอายุ ๗๐ – ๘๐ ปีในปัจจุบัน เล่าว่าตั้งแต่เด็กมีศาลไม้มุงสังกะสีที่เชิงเขา เรียกว่าศาลเจ้าพ่อปราสาททอง ชาวบ้านต่างเคารพยำเกรง มีเรื่องเล่าปาฏิหาริย์ต่างๆ ส่วนนาม “ปราสาททอง” เดิมคงเรียกขานจากการประทับทรงตามความเชื่อและอาจเกี่ยวเนื่องกับภูเขาพนมรุ้งที่มีปราสาทโบราณตั้งอยู่ โดยเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่ จึงได้แสดงออกถึงความเคารพด้วยบุคลาธิษฐานผสมผสานกับความเชื่อท้องถิ่น เรียกกันในนาม “เจ้าพ่อปราสาททอง” ต่อมาได้สร้างศาลใหม่ขึ้นในพื้นที่เดิมเป็นศาลปูนมุงกระเบื้องจำนวนสองศาลตั้งลดหลั่นกันที่เชิงเขา โดยศาลด้านหน้าเป็นจุดที่ตั้งศาลเดิม ภายในมีก้อนหินธรรมชาติแทนรูปเคารพ มีผู้คนมากราบไหว้ขอพรบนบานเสมอ ปกตินิยมไหว้ด้วยดอกไม้ธูปเทียน เหล้าบุหรี่ หมากพลู หัวหมู ไก่ต้มหรือรูปปั้นช้างโดยเชื่อว่าช้างเป็นพาหนะขององค์เจ้าพ่อ มีพิธีไหว้ประจำปีในช่วงเดือนหกหรือราวเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูทำนา ผู้นำชุมชนและชาวบ้านร่วมกันจัดพิธีบวงสรวงและประทับทรงตามความเชื่อเพื่อขอให้ฝนตกตามฤดูกาล ต่อมามีการสร้างประติมากรรมเจ้าพ่อปราสาททองขึ้นเป็นครั้งแรก ด้วยวัสดุปูนปั้นทาสีเสมือนคนจริง เป็นชายสูงวัย ผมขาว นั่งบนตั่งทอง มือจับไม้ตะพดวางราบบนเข่าทั้งสองข้าง มีพิธีอัญเชิญขึ้นประดิษฐานภายในศาล เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ด้วยเหตุนี้ทางคณะผู้ศรัทธาจึงได้ตกลงกำหนดเอาวันที่ ๒๖ กรกฎาคม เป็นวันบวงสรวงสมโภชประจำปีต่อไป
คติการสร้างศาลประจำชุมชน ในจังหวัดบุรีรัมย์มักจะพบได้ทั่วไป ตามหมู่บ้านต่างๆ เรียกว่า ศาลปู่ตา ศาลตาปู่หรือศาลพ่อเฒ่า แล้วแต่การเรียกในกลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ โดยในจังหวัดบุรีรัมย์พบทั้งกลุ่มคนไทย- ลาว ไทย-เขมร ไทย-โคราช และชาวไทย-กวย โดยเชื่อว่าในแต่ละหมู่บ้านจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองอยู่ มักจะสร้างบริเวณทางเข้าหมู่บ้าน เนินดิน เชิงเขา หรือริมหนองน้ำในเขตชุมชน ซึ่งป่าเขาพนมรุ้งเป็นพื้นที่กว้างมีชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อาศัยอยู่โดยรอบภูเขา จึงทำให้ศาลเจ้าพ่อปราสาททองเป็นอีกหนึ่งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ศูนย์รวมศรัทธา เป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้านทุกชุมชนในพื้นที่แถบนี้
เรียบเรียงโดย: นายสุทธินันท์ พรหมชัย ผู้ช่วยนักโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
(จำนวนผู้เข้าชม 3552 ครั้ง)