...

อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

องค์ความรู้ : อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

เรื่อง : แผ่นทองคำรูปดอกบัวแปดกลีบ สัญลักษณ์มงคล ณ ปราสาทเมืองต่ำ

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ - ๒๕๓๒ กรมศิลปากรทำการขุดแต่งปราสาทเมืองต่ำ ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ได้พบโบราณวัตถุสำคัญหลายรายการ ที่น่าสนใจคือ แผ่นทองคำรูปดอกบัวแปดกลีบโดยแผ่นทองคำนี้พบอยู่ในตำแหน่งเดิมยังไม่ถูกเคลื่อนย้าย (In situ) บริเวณห้องโถงกลางค่อนไปทางมุขหลังด้านทิศตะวันตกของโคปุระหรือซุ้มประตูกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออก

โบราณวัตถุดังกล่าวพบอยู่ใต้แผ่นหินทรายปูพื้น สกัดเป็นหลุมสี่เหลี่ยมขนาด ๑๐ x ๑๐ เซนติเมตร ใช้หินทรายขนาดพอดีกันปิดทับไว้ จากการขุดค้นเมื่อเปิดแผ่นหินทรายที่ปิดไว้ออก พบแผ่นทองคำรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด ๗.๗ x ๗.๗ เซนติเมตร ดุนลายเป็นรูปดอกบัวแปดกลีบ ตรงกึ่งกลางเกสรทำเป็นวงกลมซ้อนกัน ๒ วง ใต้แผ่นทองแผ่นใหญ่มีแผ่นทองขนาดเล็กกว้าง ๑.๘ เซนติเมตร น้ำหนัก ๐.๔ กรัม ไม่มีลวดลาย และพบเศษโลหะชำรุดสนิมกัดผุกร่อนอีก ๒ ชิ้นด้วย

ลักษณะแผ่นทองที่พบมีความคล้ายคลึงกับแผ่นทองจากพลับพลาเปลื้องเครื่องปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ แผ่นทองคำพบที่ปราสาทพิมาย จังหวัดนครราชสีมา และแผ่นทองคำพบที่ปราสาทตาเมือนธม จังหวัดสุรินทร์ โดยดุนลายเป็นรูปดอกบัวแปดกลีบ แต่แตกต่างกันที่ขนาดและการตกแต่งในรายละเอียด สันนิษฐานว่าแผ่นทองคำเหล่านี้เป็นของที่บรรจุไว้เพื่อความเป็นมงคล ซึ่งจะอยู่ตามตำแหน่งต่าง ๆ ของอาคาร นอกจากนี้ยังพบว่าในวัฒนธรรมเขมรโบราณยังมีการทำแท่งหินรูปสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ เจาะช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใหญ่ตรงกลางรายรอบด้วยช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ตื้นๆ เรียงกันเป็นระยะ สำหรับบรรจุวัตถุมงคลไว้ใต้ฐานรูปเคารพ หรือในส่วนของยอดปราสาทลักษณะคล้ายการวางศิลาฤกษ์ในปัจจุบันอีกด้วย

การสลักดุนลวดลายเป็นดอกบัวแปดกลีบ สันนิษฐานว่าหมายถึงการจำลองผังของจักรวาล อันประกอบด้วยทิศสำคัญทั้ง ๘ ทิศ หรืออาจบ่งบอกถึงความสะอาดบริสุทธิ์ ที่มีความเป็นสิริมงคลของดอกบัว โดยบริเวณกลางห้องโถงใกล้ที่พบแผ่นทอง ณ ปราสาทเมืองต่ำ มีภาพสลักดอกบัวแปดกลีบบนแผ่นหินทราย ปูพื้นอีกเช่นกัน นอกจากนี้ที่สะพานนาคราชช่วงที่ ๑ และช่วงที่ ๒ ของปราสาทพนมรุ้ง ก็พบภาพดอกบัวแปดกลีบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าศาสนสถานทั้ง ๒ แห่งนี้ให้ความสำคัญกับดอกบัว ซึ่งเป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์ เมื่อผู้มาสักการะเทพเจ้าได้เดินผ่านดอกบัวนี้ก็เปรียบเสมือนการได้ชำระล้าง ได้รับความเป็นมงคล และได้สักการะเทพประจำทิศทั้ง ๘ ไปในคราวเดียวกันด้วย

แผ่นทองคำที่พบ ณ ปราสาทเมืองต่ำคงทำขึ้นและถูกบรรจุไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งสร้างปราสาท ซึ่งคงมีอายุร่วมสมัยกันในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ หรือเมื่อ ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว ปัจจุบันแผ่นทองคำดังกล่าวเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย จังหวัดนครราชสีมา

เรียบเรียงโดย: นายกฤษณพงศ์ พูนสวัสดิ์ นักโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

เอกสารอ้างอิง:

กรมศิลปากร, สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๙ นครราชสีมา. ปราสาทเมืองต่ำ. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๔๐.

พิสิฐ เจริญวงศ์ และคณะ. ปราสาทพนมรุ้ง. พิมพ์ครั้งที่ ๖. บุรีรัมย์: อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง กรมศิลปากร, ๒๕๕๑.

สามารถ ทรัพย์เย็น และคณะ. รายงานการขุดแต่งโบราณสถานปราสาทเมืองต่ำ และการขุดตรวจเพื่อค้นหาแหล่งชุมชนโบราณบริเวณโดยรอบปราสาทเมืองต่ำ. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๓๖.

ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:

(จำนวนผู้เข้าชม 2766 ครั้ง)


Messenger