องค์ความรู้ : อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
เรื่อง : เรื่องราวการอุทิศสิ่งของถวายแด่เทวาลัยพนมรุ้ง
ปราสาทพนมรุ้ง สร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๘ เป็นศาสนสถานบูชาพระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย การสร้างปราสาทพนมรุ้งบนยอดภูเขาเป็นการจำลองวิมานที่ประทับของศิวะบนเขาไกรลาส นอกจากการสร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระศิวะแล้ว ปราสาทแห่งนี้ยังถูกใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมตามประเพณีของศาสนาฮินดูอีกด้วย เช่น การบูชาเทพเจ้าด้วยการสังเวยเครื่องบัตรพลีต่าง ๆ การสรงน้ำศิวลึงค์ซึ่งเป็นรูปเคารพแทนองค์พระศิวะในห้องครรภคฤหะของปราสาทประธาน เป็นต้น
ในการสร้างศาสนสถานถวายแด่เทพเจ้าในวัฒนธรรมเขมรโบราณ ผู้สร้างจะอุทิศทรัพย์สิน และสิ่งของต่าง ๆ เป็นเครื่องบูชาแด่เทวสถานนั้น ๆ ในส่วนของปราสาทพนมรุ้ง “นเรนทราทิตย์” เจ้านายเชื้อสายราชวงศ์มหิธรปุระองค์สำคัญผู้สร้างปราสาทแห่งนี้ ได้ทำนุบำรุงศาสนาฮินดู โดยปฏิบัติตามความเชื่อของลัทธิไศวนิกายแบบปาศุปตะ ท่านได้อุปถัมภ์ พราหมณ์ ดาบส โยคี ถวายทรัพย์สิน ที่ดิน ข้าทาส รวมถึงสิ่งของมีค่าเป็นเครื่องบูชาแด่ปราสาทพนมรุ้งจำนวนมาก
เรื่องราวในจารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง กล่าวถึงสิ่งของที่กลุ่มชนชั้นสูงได้อุทิศถวายแด่เทวาลัยพนมรุ้งเป็นจำนวนมาก สำหรับเลี้ยงข้าพระประจำเทวาลัยซึ่งทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยต่าง ๆ เช่น จารึกพนมรุ้ง ๓ กล่าวถึงการถวายน้ำนม จารึกพนมรุ้ง ๔ กล่าวถึงการถวายข้าวสุก จารึกพนมรุ้ง ๘ กล่าวถึงสิ่งของสำหรับบริโภค เช่น กองข้าว ข้าวเปลือก น้ำผึ้ง วัว (ให้น้ำนม) เครื่องเทศ เช่น จันทร์แดง กานพลู ของหอมสำหรับพิธีกรรม เช่น การบูร ไม้จันทร์ จารึกพนมรุ้ง ๙ กล่าวถึงการถวายราชยานขนาดใหญ่แด่เทพเจ้า (พระศิวะ) แห่งภูเขาใหญ่ (พนมรุ้ง หมายถึง ภูเขาใหญ่)
นอกจากสิ่งของแล้วยังปรากฏการกัลปนาถวายที่ดินด้วย โดยบริเวณรอบเขาพนมรุ้งพบหลักหินกระจายเป็นจำนวนมากอยู่ทุกทิศ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นขอบเขตที่ดินที่ถูกถวายแด่ศาสนสถาน ซึ่งที่กล่าวมาเหล่านี้ล้วนถวายแด่ “พระกมรเตงชคตวนัมรุง” หรือ “เทพแห่งปราสาทพนมรุ้ง” นั่นเอง
เป็นที่น่าสนใจว่าการถวายสิ่งของแด่ปราสาทพนมรุ้ง สามารถสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของชุมชนโบราณรอบเขาพนมรุ้ง ซึ่งมีลักษณะเป็นสังคมเกษตรกรรมเพาะปลูก-เลี้ยงสัตว์ มีระบบการจัดการบริหารคนสำหรับดูแลศาสนสถาน มีหลักเขตบอกอาณาเขตที่ดิน รวมไปถึงมีการแลกเปลี่ยนทรัพยากรกับชุมชนโบราณอื่น ๆ โดยเฉพาะเครื่องหอมสำหรับพิธีกรรม ซึ่งไม่ได้เป็นสิ่งของที่ถูกผลิตขึ้นในท้องถิ่น ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่าบทบาทของชุมชนโบราณในบริเวณนี้คือการผลิตทรัพยากรเพื่อถวายแด่ปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งเป็นหน้าที่และหลักปฏิบัติสำคัญของผู้ปกครองรวมไปถึงประชาชนที่มีความเลื่อมใสศรัทธาต่อ “พระกมรเตงชคตวนัมรุง”
เรียบเรียงโดย : นายพงศธร ดาวกระจาย ผู้ช่วยนักโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
เอกสารอ้างอิง :
เทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระ. “จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๑.
พิสิฐ เจริญวงศ์ และคณะ. ปราสาทพนมรุ้ง. พิมพ์ครั้งที่ ๖. บุรีรัมย์: สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, ๒๕๕๑.
อนุรักษ์ ดีพิมาย. “การศึกษารูปแบบและหน้าที่ของหลักหินในวัฒนธรรมเขมรที่พบบริเวณรอบเขาพนมรุ้ง.” เอกสารการศึกษาเฉพาะบุคคลปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๒.
(จำนวนผู้เข้าชม 4932 ครั้ง)