...

องค์ความรู้ : อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เรื่อง : ปราสาทบ้านบุ ที่พักคนเดินทางแห่งเมืองพนมรุ้ง

องค์ความรู้ : อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

เรื่อง : ปราสาทบ้านบุ ที่พักคนเดินทางแห่งเมืองพนมรุ้ง

จากข้อความในจารึกปราสาทพระขรรค์ ประเทศกัมพูชา เมื่อกว่า ๘๐๐ ปีมาแล้ว กล่าวว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “วหนิคฤหะ” จำนวน ๑๒๑ แห่ง ตามเส้นทางจากราชธานี ศรียโศธรปุระ หรือเมืองพระนครหลวง (Angkor Thom) ไปยังเมืองสำคัญต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นที่พักสำหรับผู้เดินทางไปแสวงบุญหรือค้าขายระหว่างเมืองในสมัยนั้น โดยมีเส้นทางหนึ่งมุ่งตรงไปยังเมืองพิมาย (วิมายปุระ) เมืองสำคัญของแคว้นมหิธรปุระซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา โดยจารึกระบุว่า ตามเส้นทางนี้มี วหนิคฤหะ จำนวน ๑๗ แห่ง

วหนิคฤหะ” แปลว่า “บ้านมีไฟ” เป็นศาสนสถานประจำที่พักคนเดินทาง หรือที่บางท่านเรียกว่า “ธรรมศาลา” นิยมสร้างด้วยศิลาแลงและหินทราย มีแผนผังเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางตะวันออก ผนังด้านใต้ทำเป็นช่องหน้าต่างจำนวน ๕ ช่อง ส่วนผนังด้านเหนือปิดทึบ มีช่องประตูทั้งด้านตะวันออกและตะวันตก จากการศึกษาเส้นทางโบราณระหว่างเมืองพระนครหลวงและเมืองพิมายในปัจจุบัน ได้มีการค้นพบ “วหนิคฤหะ” ครบทั้ง ๑๗ แห่งแล้ว โดยมี ๘ แห่ง ตั้งอยู่ในประเทศกัมพูชา และอีก ๙ แห่ง ตั้งอยู่ในดินแดนประเทศไทย เริ่มที่ ปราสาทตาเมือน จังหวัดสุรินทร์ , ปราสาทถมอ , ปราสาทบ้านบุ , ปราสาทหนองกง , ปราสาทหนองปล่อง , ปราสาทหนองตาเปล่ง , ปราสาทบ้านสำโรง จังหวัดบุรีรัมย์ , ปราสาทห้วยแคน และกู่ศิลาขันธ์ จังหวัดนครราชสีมา ก่อนที่จะถึงจุดหมายปลายทาง ณ ปราสาทพิมาย

ในพื้นที่บริเวณเขาพนมรุ้งซึ่งตั้งอยู่บนเส้นทางโบราณสายนี้ มีวหนิคฤหะ ๑ แห่ง ปัจจุบันเรียกว่า “ปราสาทบ้านบุ” ตั้งอยู่ห่างจากเชิงเขาพนมรุ้งไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๒ กิโลเมตร ในพื้นที่โรงเรียนบ้านบุวิทยาสรรค์ ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ก่อสร้างด้วยศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก นอกจากนี้ยังพบว่ามีการนำชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมของปราสาทรุ่นเก่า กลับมาใช้ซ้ำเป็นส่วนประกอบในการก่อสร้างด้วย ปราสาทบ้านบุได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ มีการขุดค้นขุดแต่งครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ ขุดค้นโบราณคดีเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๒ และในช่วง พ.ศ. ๒๕๕๖ - ๒๕๖๐ ได้มีการบูรณะจนแล้วเสร็จสมบูรณ์

จากรูปแบบสถาปัตยกรรม ปราสาทบ้านบุเป็นศิลปะขอมแบบบายน อายุพุทธศตวรรษที่ ๑๘ แต่ทว่าบริเวณใกล้เคียงกัน ยังปรากฏร่องรอยชุมชนโบราณที่มีการอยู่อาศัยมาก่อนแล้ว ได้แก่ แหล่งโบราณคดีบ้านบุ อยู่ห่างไปทางตะวันออกประมาณ ๑ กิโลเมตร ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของชุมชนบ้านบุ จากการขุดค้นโบราณคดีเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๒ พบว่าในชั้นวัฒนธรรมสมัยแรก พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน เช่น หม้อมีสัน ชิ้นส่วนพวกกา โดยไม่พบเศษภาชนะในสมัยวัฒนธรรมเขมรโบราณปะปนแต่อย่างใด จึงสันนิษฐานได้ว่าบริเวณพื้นที่นี้น่าจะมีการอยู่อาศัยมาก่อนที่วัฒนธรรมเขมรจะแพร่หลาย จากนั้นจึงพบหลักฐานความสืบเนื่องต่อมาของวัฒนธรรมเขมรในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๘ ซึ่งร่วมสมัยกับพัฒนาการสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่ปราสาทพนมรุ้ง

ปราสาทบ้านบุ จึงเป็น วหนิคฤหะ หรือที่พักคนเดินทางในสมัยโบราณที่มีความโดดเด่นแห่งหนึ่ง กล่าวคือปรากฏทั้งชุมชนโบราณ (บ้านบุ) และศาสนสถานสำคัญ (ปราสาทพนมรุ้ง) ตั้งอยู่ในละแวกใกล้เคียงกัน บริเวณนี้จึงน่าจะเป็นจุดแวะพักที่สำคัญของบรรดาคาราวาน พ่อค้า นักเดินทาง ตลอดจนบุคคลที่ต้องการมาแสวงบุญสักการะ ณ ปราสาทพนมรุ้ง ด้วยนั่นเอง

เรียบเรียงโดย : นายพงศธร ดาวกระจาย ผู้ช่วยนักโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

เอกสารอ้างอิง:

กรรณิการ์ เปรมใจ. รายงานเบื้องต้นการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านบุ ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์. เอกสารรายงานของ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครราชสีมา กรมศิลปากร, ๒๕๕๒.

ปรียานุช จุมพรม. “การศึกษาพัฒนาการของชุมชนโบราณในวัฒนธรรมเขมรบริเวณรอบเขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ (ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๘).” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๘.

ศานติ ภักดีคำ. ยุทธมรรคาเส้นทางเดินทัพ ไทย-เขมร. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๕๗.

พิสิฐ เจริญวงศ์ และคณะ. ปราสาทพนมรุ้ง. พิมพ์ครั้งที่ ๖. บุรีรัมย์: อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, ๒๕๕๑.

ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:

(จำนวนผู้เข้าชม 1872 ครั้ง)


Messenger