...

องค์ความรู้ : อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เรื่อง : ลูกดิ่ง เครื่องมือช่าง สร้างปราสาทพนมรุ้ง

องค์ความรู้ : อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

เรื่อง : ลูกดิ่ง เครื่องมือช่าง สร้างปราสาทพนมรุ้ง

ปราสาทหิน ในวัฒนธรรมเขมรโบราณ นับเป็นสิ่งก่อสร้างที่มหัศจรรย์สำหรับคนยุคปัจจุบันอย่างเราท่าน จะระลึกนึกตามไปถึง ว่าคนโบราณนั้นสร้างปราสาทหินขึ้นมาได้อย่างไร หินก้อนใหญ่น้ำหนักมากชักลากมาด้วยวิธีใด นำขึ้นไปเรียงบนยอดปราสาทสูงได้อย่างไร ใช้เครื่องมืออะไรแกะสลักลวดลายลงบนหินที่แข็งแกร่ง มีวัสดุอุปกรณ์ใดในการคิดคำณวนออกแบบแผนผังได้อย่างมหัศจรรย์ ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีสมัยนั้น ยังไม่มีเครื่องยนต์กลไกหรือระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย เฉกเช่นทุกวันนี้

จากการศึกษาที่ผ่านมา ได้เผยให้เห็นถึงร่องรอยและหลักฐาน ตลอดจนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีของคนโบราณในการก่อสร้างปราสาทหิน ตามหลักกลศาสตร์ดั้งเดิม เช่น คานดีด คานงัด รอก แรงโน้มถ่วง จุดศูนย์ถ่วง การใช้ดวงอาทิตย์และดาราศาสตร์ช่วยในการวางผังอาคาร และที่สำคัญคือความมุมานะอุตสาหะภายใต้ความเชื่อความศรัทธาทางศาสนาอย่างแรงกล้า

ที่ปราสาทหินพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ก็ได้ปรากฏร่องรอยหลักฐานดังกล่าวมานี้ และมีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ ใคร่จะนำเสนอไว้เป็นอีกหนึ่งหลักฐานสำคัญของ เครื่องมืองานช่างก่อสร้างโบราณ นั่นก็คือ ลูกดิ่ง

ดิ่ง หรือ ลูกดิ่ง (plumb) คือ เครื่องมือช่างสำหรับการอ้างอิงแนวดิ่ง มีลักษณะเป็นตุ้มน้ำหนัก ทรงกรวยหงาย ด้านบนมีห่วงผูกเชือก ใช้ตรวจสอบแนวดิ่งของสิ่งก่อสร้าง เช่น เสา กำแพง ว่าตั้งตรงหรือไม่ หรือบ้างก็ใช้วัดระดับความลึกของน้ำในสระ

เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๓ เจ้าหน้าที่อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ได้ตรวจสอบพบลูกดิ่งดินเผา และลูกดิ่งหิน เก็บรักษา ณ สำนักงานอุทยานฯ มาแต่เดิม กระทั่ง ๑ ปี ผ่านไป (เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๔) นายวิเชียร อริยเดช อดีตนายช่างที่เคยร่วมงานบูรณะปราสาทหินพนมรุ้ง ได้มาเล่าให้ฟังว่า เมื่อปี ๒๕๑๘ ตนเองได้เคยขุดพบลูกดิ่งดินเผาและลูกดิ่งหิน ที่สระน้ำใกล้ปราสาทพนมรุ้ง (สระน้ำหมายเลข ๕) โดยลูกดิ่งที่เป็นดินเผานั้นมีสภาพสมบูรณ์ และลูกดิ่งที่ทำจากหินส่วนล่างจะแตกชำรุด จึงได้นำลูกดิ่งที่เก็บรักษาไว้ออกมาให้นายวิเชียรดูและยืนยันได้ว่าคือลูกดิ่งที่พบเมื่อปี ๒๕๑๘ นั่นเอง

ในการนี้ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ได้บันทึกข้อมูลประวัติของลูกดิ่งดังกล่าวทั้ง ๒ ชิ้น และมีลูกดิ่งที่พบเพิ่มเติมอีก ๑ ชิ้น รวมเป็น ๓ รายการ ส่งมอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย เพื่อเก็บรักษาอย่างเป็นระบบ เป็นแหล่งอ้างอิงศึกษาค้นคว้าสำหรับผู้ที่สนใจต่อไป ดังนี้

#ลูกดิ่งพนมรุ้ง_รายการที่๑ ทำจากดินเผา ขนาดกว้าง ๔.๗ เซนติเมตร ยาว ๙.๑ เซนติเมตร น้ำหนัก ๑๑๐ กรัม ตกแต่งส่วนบนเป็นเส้นลวดซ้อนกันหลายเส้น สภาพค่อนข้างสมบูรณ์ มีรอยบิ่นเล็กน้อย พบที่ สระน้ำโบราณหมายเลข ๕ ณ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘

#ลูกดิ่งพนมรุ้ง_รายการที่๒ ทำจากหิน ขนาดกว้าง ๔.๑ เซนติเมตร ยาว ๗.๓ เซนติเมตร น้ำหนัก ๑๒๗ กรัม ตกแต่งส่วนบนขีดเป็นลายฟันปลา สภาพชำรุด ส่วนล่างหักหาย พบที่ สระน้ำโบราณหมายเลข ๕ ณ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘

#ลูกดิ่งพนมรุ้ง_รายการที่๓ ทำจากดินเผา ขนาดกว้าง ๔.๐ เซนติเมตร ยาว ๕.๕ เซนติเมตร น้ำหนัก ๕๗ กรัม ผิวเรียบไม่มีลวดลายตกแต่ง สภาพชำรุดที่ส่วนบนและส่วนล่าง ประวัติ เก็บรักษา ณ สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง มาแต่เดิม

อนึ่งนอกจากปราสาทพนมรุ้งแล้ว ที่ปราสาทแห่งอื่นๆ ก็เคยค้นพบลูกดิ่งด้วย เช่นที่ ปราสาทพิมาย จังหวัดนครราชสีมา และปราสาทหนองหงส์ อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น

สันนิษฐานว่า ลูกดิ่ง ดังกล่าวน่าจะเป็นเครื่องมือช่าง ใช้ตรวจสอบแนวดิ่ง ในงานก่อสร้างปราสาทหิน นับเป็นอีกหนึ่งหลักฐานทางโบราณคดีสำคัญที่ช่วยให้เราเห็นภาพบรรยากาศของงานช่างและการก่อสร้างในสมัยโบราณ ที่ยังคงรักษารูปทรงของวัตถุและวิธีการใช้งานจากอดีตสู่ปัจจุบัน

เรียบเรียงโดย : นายภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ นักโบราณคดีชำนาญการ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

อ้างอิง:

ทนงศักดิ์ หาญวงษ์. รายงานการขุดแต่งศึกษาโบราณสถานปราสาทหนองหงส์ ตำบลโนนดินแดง อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์. เสนอ สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๙ นครราชสีมา, ๒๕๔๕.

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๕๖.

วิเชียร อริยเดช, อายุ ๗๖ ปี ข้าราชการบำนาญกรมศิลปากร อดีตนายช่างศิลปกรรม ๖, สัมภาษณ์เมื่อ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๔.

https://th.wikipedia.org/wiki/ลูกดิ่ง_(เครื่องมือ) เข้าถึงเมื่อ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๔.

ขอขอบคุณ: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย เอื้อเฟื้อภาพลูกดิ่ง ที่เก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย

ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:

(จำนวนผู้เข้าชม 3291 ครั้ง)


Messenger